มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือว่าเป็นมะเร็งที่พบได้มากทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งความน่ากลัวของมะเร็งลำไส้ใหญ่คือในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ ดังนั้นในกลุ่มเสี่ยงจึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพราะยิ่งพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก ก็ยิ่งมีทางเลือกในการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง ทำให้ฟื้นตัวได้ไวหลังการรักษา นายแพทย์นเรนทร์ สันติกุลานนท์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ และมากกว่า 90% ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ มักพบในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี โดยมักไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่สามารถตรวจพบได้จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ซึ่งโดยทั่วไปก่อนที่เซลล์ที่ผิดปกติจะกลายเป็นมะเร็งอาจพบลักษณะคล้ายติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ และค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจนพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยแต่ละระยะมีอัตรการหายขาดจากโรคที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- มะเร็งระยะที่ 1 – เป็นระยะที่ยังไม่มีการลุกลาม อัตราการหายขาดสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
- มะเร็งระยะที่ 2 – เป็นระยะที่เริ่มลุกลาม เซลล์มะเร็งจะเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และอาจลามไปถึงเยื่อหุ้มลำไส้ เนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ หรือ อวัยวะข้างเคียง
- มะเร็งระยะที่ 3 – เป็นระยะที่เริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกให้มากที่สุด และทำเคมีบำบัดเพื่อไม่ให้มะเร็งฟื้นตัวและกลับมาลุกลาม
- มะเร็งระยะที่ 4 – เป็นระยะที่ค่อนข้างรุนแรง มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ การรักษาต้องทำการผ่าตัดเพื่อตัดอวัยวะบางส่วนที่เป็นมะเร็งออก และทำเคมีบำบัดร่วมด้วย
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ จะใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสง และการทำเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาโดยทีมแพทย์ในการวางแผนการรักษา ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในส่วนของการรักษาหลัก คือการผ่าตัด เดิมทีการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งความยาวของแผลจะอยู่ที่ประมาณ 15 – 30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่นิยมใช้เทคนิค “ผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Colectomy)” เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องขนาดเล็ก ที่สามารถขยายภาพและเห็นภาพได้ชัดกว่าปกติส่องเข้าไปในช่องท้อง และตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออกพร้อมกับต่อมน้ำเหลืองในบริเวณที่เป็นมะเร็ง
โดยข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก เสียเลือดลดลง เจ็บน้อย ลดระยะเวลาการพักฟื้น และลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล ผู้ป่วยจึงกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการผ่าตัดผ่านกล้องยังรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะได้รับการรักษาผ่าตัดแบบใด จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด
นพ.นเรนทร์ สันติกุลานนท์
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
โรงพยาบาลเวชธานี