วันที่ 19 ม.ค.64 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” โดยระบุว่า ตนได้รับข้อมูล จากพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ส่งมากรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การนำเข้าวัคซีนที่มีการเชื่อมโยงกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยโยงเกี่ยวการเมือง และใช้คำว่า ‘วัคซีนพระราชทาน’ เพื่อสร้างคะแนนนิยม และไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน
พร้อมโจมตีรัฐบาลว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยถึงยังไม่มีการฉีดวัคซีนปัองกันโควิด-19 ถ้าเป็นผลดีจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาดีขึ้น แต่สิ่งที่ นายธนาธร พยายามโจมตีรัฐบาลเพื่อดิสเครดิตในเรื่องของตัววัคซีนและให้ข้อมูลเท็จกับประชาชน ตนจึงต้องออกมาชี้แจงความจริงเพราะอาจกระทบเป็นวงกว้าง
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ตนได้ดูคลิปไลฟ์สดของ นายธนาธร ก็รู้สึกว่ามีความย้อนแย้งในสิ่งที่พูดออกมาตั้งแต่ใช้คำว่า “พระราชทาน” หรือทำไมรัฐบาลไม่จัดหาวัคซีนให้เร็วกว่านี้ และทิ้งท้ายว่าหากมีปัญหาในการแจกจ่ายวัคซีนใช้แล้วมีอันตรายใครจะรับผิดชอบ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อประชาชนเป็นอันดับแรก และยึดหลักแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้คนไทยทั้งประเทศ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาโควิด-19 ก็ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่าอยู่ในอันดับต้นๆของโลก
นายสามารถ กล่าวต่อว่า นายธนาธร คงมีปัญหาเรื่องแนวความคิดซึ่งเคยเตือนแล้วว่าควรออกห่างจาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล แต่ไม่เคยเชื่อ ซึ่ง นายธนาธร คงขาดข้อมูลความรู้ จึงขออธิบายเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 คณะกรรมการฉุกเฉินโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำนานาประเทศให้ยกเลิกเงื่อนไขที่ว่า
ผู้ประสงค์จะเดินทางระหว่างประเทศจะต้องเคยฉีดวัคซีนป้องกันหรือแสดงหลักฐานว่ามีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 เนื่องจากที่ประชุมครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ระบุว่า คำแนะนำข้างต้นมาจากเหตุผลที่ว่า “ยังมีข้อมูลสำคัญที่เราไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเพื่อลดการแพร่เชื้อ” และวัคซีนที่พร้อมใช้งานในปัจจุบันนั้นยังคงมีจำนวนจำกัดอย่างมาก
โดยคณะกรรมการเห็นพ้องกันว่า การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) พร้อมชี้ว่า WHO ควรพัฒนาและเผยแพร่จุดยืนด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขดังกล่าวโดยเร็ว โดยควรประสานงานด้านการกำหนดมาตรฐานสำหรับเอกสารดิจิทัลที่ระบุสถานะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
นายสามารถ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าว นายธนาธร เคยรับทราบหรือไม่ แม้แต่ WHO ยังเป็นห่วงเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยคณะกรรมการย้ำเตือนให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพแก่ WHO โดยเร็ว เพื่อเดินเรื่องอนุมัติการใช้ในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากการขาดแคลนข้อมูลดังกล่าว จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่นใจว่า ทั่วโลกจะสามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างทันเวลาและเป็นธรรม
นอกจากนี้ ตนคิดว่า นายธนาธร มองแต่โทสาคติเอาแต่ความคิดตัวเอง แต่ขาดหลักฐานข้อมูลสนับสนุน ตนอยากบอกประชาชนในเรื่องพรรคการเมืองของ นายธนาธร เองก็ยังกู้ยืมเงินทำให้ผิดหลักกฎหมายจนถูกยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ไม่เคยปฎิบัติตนตามคำพิพากษาศาลเลย
ตนขอยกกรณีในต่างประเทศมีการเร่งรีบฉีดวัคซีนและได้รับอันตรายเช่น ประเทศอังกฤษได้มีการเสียชีวิต 2 รายหลังฉีดวัคซีน covid ก็มีจำนวน 2 รายพบผลข้างเคียงแรงมากระดับเรียกว่าช็อกโดยทั้ง 2 รายนี้เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยบริการฉีดให้กับอาสาสมัคร 19,000 รายมีปรากฏว่าแพ้ปานกลาง 137 ราย ที่ประเทศอินเดียเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลอินเดียก็ดับหลังฉีดวัคซีน covid ไปแล้ว 24 ชั่วโมงเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 4 ก็มีผู้เสียชีวิตหลังจากการฉีด covid-19 ที่ประเทศนอร์เวย์พบผู้เสียชีวิต 23 คนซึ่งที่นอร์เวย์ฉีดไปแล้ว 33000 คนทั่วประเทศ
นี่คือตัวเลขที่มีการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนนั่นคือสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาจะต้องมีการพิจารณาถึงความปลอดภัยของพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศเป็นหลักหาได้ต้องหาเสียงแบบที่นายธนาธรให้ข้อมูลเท็จแก่ประชาชนไม่
ทั้งนี้รัฐบาลมีความเป็นห่วงพ่อแม่พี่น้องประชาชน ซึ่งต่างจาก นายธนาธร ที่มุ่งเอาแต่ชนะหวังผลทางการเมือง ปล่อยข้อมูลเท็จสร้างความสับสน จึงอยากเตือนว่าควรมองผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก สุดท้ายตนไม่กล้าคิดว่าหาก นายธนาธร ฟลุ๊คเป็นนายกฯ ขึ้นมาประเทศไทยจะติดโควิด-19 และเดือดร้อนเสียหายมากแค่ไหน พ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกคนคงขนหัวลุกหากมันเกิดขึ้นจริง
ท้ายนี้ขอให้นายธนาธร หัดพูดความจริงกับประชาชน และ หัดฟังให้มากพูดให้น้อย ไม่งั้นคนที่จะได้รับความเดือดร้อนคือตัวนายธนาธรเอง