การผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาท ภายใต้โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC)

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศ (onshore) ได้คล่องตัวขึ้น ภายใต้โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC) โดยนิติบุคคลต่างประเทศต้องมีภาระการรับหรือจ่ายเงินบาทจากการค้าและการลงทุนโดยตรงในประเทศไทย และไม่ประกอบธุรกิจด้านการเงิน และทองคำ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์ ดังนี้

1. สามารถบริหารความเสี่ยงค่าเงินบาทได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น โดยไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐาน และมีขอบเขตการทำธุรกรรมที่กว้างขึ้น เช่น การทำธุรกรรม Swap หรือ Forward ด้วยการใช้ประมาณการรายรับรายจ่ายในอนาคต หรือใช้งบการเงินโดยรวม (balance sheet hedging)

2. สามารถบริหารสภาพคล่องเงินบาทได้คล่องตัว โดยไม่จำกัดยอดคงค้างบัญชีเงินบาทสำหรับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident Baht Account : NRBA) จากเดิมจำกัดยอดคงค้างไว้ไม่เกิน 200 ล้านบาท


ทั้งนี้ โครงการข้างต้นจะทำให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการกู้ยืมเงินบาทลดลง

ธปท. จึงได้ปรับลดวงเงินคงค้างการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทของสถาบันการเงินในประเทศแก่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศแบบไม่มีภาระ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำธุรกรรมในประเทศภายใต้โครงการ NRQC อีกด้วย

การดำเนินการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ผ่านการปรับโครงสร้างการทำธุรกรรมเงินบาทในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มทั้งจำนวนผู้ทำธุรกรรม โดยเฉพาะนิติบุคคลต่างประเทศ และสภาพคล่องของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ รวมถึงเอื้อต่อการติดตามข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Written By
More from pp
การรถไฟฯ พร้อมเปิดให้บริการขบวนรถโดยสาร 7 ขบวน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางเที่ยวเทศกาลลูกชิ้นยืนกิน สถานีรถไฟบุรีรัมย์
การรถไฟฯ พร้อมเปิดให้บริการขบวนรถโดยสาร 7 ขบวน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางเที่ยวเทศกาลลูกชิ้นยืนกิน สถานีรถไฟบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม
Read More
0 replies on “การผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาท ภายใต้โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC)”