ทีมวิจัยสัตว์ป่า เผยผลศึกษาวิจัยพื้นที่ทุ่งหญ้าศักยภาพ พบสัตว์กีบ กระทิง-กวาง-หมูป่า เข้าพื้นที่วิจัยในช่วง 1 ปี 6 เดือน เล็งศึกษาเชิงลึก หวังเพิ่มประชากรเหยื่อเสือโคร่ง ให้เสือโคร่งเพิ่มจำนวน-ข้ามแนวเชื่อมต่อสัตว์ป่า อช.เขาใหญ่

ทีมวิจัย คณะวนศาสตร์ ม.เกษตร ภายใต้ “โครงการศึกษาคุณภาพถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโครงในผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” เผยผลการศึกษาความหนาแน่นของสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง จากการคัดเลือกพื้นที่ทุ่งหญ้าที่มีศักยภาพ 2 แห่ง บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน ประกอบด้วย

ทุ่งหญ้าบริเวณผาเม่น และทุ่งหญ้าบริเวณหน่วยลำมะไฟ พบสัตว์กีบ ทั้งกระทิง กวาง หมูป่า เข้ามาอาศัยในพื้นที่ศึกษาในโครงการตลอดช่วง 1 ปี 6 เดือน หวังใช้เป็นพื้นที่ศักยภาพเพิ่มประชากรเหยื่อเสือโคร่ง ทำให้เสือโคร่งเข้ามาในถิ่นอาศัยและข้ามแนวเชื่อมต่อสัตว์ป่ามายังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในอนาคต

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ภายในงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2563 ที่จัดโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้แนวคิด “60 ปี การอนุรักษ์สัตว์ป่าไทย” สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2503 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณลงพระนามในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503

นับแต่นั้นมาการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษในวาระครบรอบ 60 ปี กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิ จึงได้จัดกิจกรรมวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2563 ขึ้น เพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ตระหนักเห็นความสำคัญ และร่วมมือกันอนุรักษ์สัตว์ป่า ณ กรมอุทยานแห่งชาติฯ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค หัวหน้าโครงการศึกษาคุณภาพถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโครงในผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการโดยได้รับความร่วมมือจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ซึ่งทีมวิจัยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการจัดการพื้นที่เพื่อสร้างระบบติดตามตรวจสอบ และแนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดการถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า ให้เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อการฟื้นฟูถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งพืชอาหารของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง เพื่อให้รู้ถึงโครงสร้างของถิ่นอาศัย สภาพแวดล้อมที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรที่จำเป็นต่อสัตว์ป่าโดยเฉพาะพืชอาหาร และเกิดแนวทางในการจัดการเพิ่มคุณภาพของถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าในหลายระดับเชิงพื้นที่ของป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

ตลอดจนเป็นข้อมูลให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีข้อมูลทางวิชาการและแนวทางเพื่อใช้ประกอบการจัดการให้เสือโคร่งและสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง สามารถเดินทางข้ามผ่านไปมาระหว่างสองฝากแนวถนน 304 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


รศ.ดร.ประทีป กล่าวว่า การศึกษาวิจัยตลอด 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา ทีมวิจัยใช้วิธีการดำเนินการเฉพาะในพื้นที่ทุ่งหญ้าเพื่อสร้างระบบติดตามตรวจสอบ ทีมวิจัยมีการศึกษาวิจัยเป็นขั้นตอนตั้งแต่ วางแปลงศึกษาทุ่งหญ้าก่อนชิงเผา และใช้วิธีกล ตั้งกล้องศึกษาการใช้ประโยชน์พื้นที่ก่อนการชิงเผา ทำแนวกันไฟก่อนชิงเผา ปฏิบัติการชิงเผาร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.) และประชาชน

ซึ่งดำเนินการภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ การจัดการทุ่งหญ้าด้วยวิธีกลหรือการตัดโดยเครื่องมือ และตั้งกล้องศึกษาการใช้ประโยชน์พื้นที่โดยสัตว์ป่า และวางแปลงศึกษาหลังการชิงเผา พร้อมลงพื้นที่เก็บข้อมูลต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ผลปรากฎว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 1 ปี

พบว่า ความหนาแน่นของสัตว์กีบหลังการชิงเผาบริเวณทุ่งหญ้าผาเม่น มีความหนาแน่นของกระทิง กวาง และหมูป่า โดยสำรวจภายหลังการเผาเป็น 3 ช่วงเวลาคือ 1 เดือน จำนวน 86 แปลง 6 เดือน จำนวน 33 แปลง และ 12 เดือน จำนวน 120 แปลง รวมทั้งสิ้น 239 แปลง พบว่า จำนวนกระทิงมีความหนาแน่นช่วงหลังการเผา 1 เดือนแรกมากที่สุด และมีแนวโน้มลดลงเมื่อระยะเวลาหลังการเผานานขึ้น

ซึ่งแตกต่างจากกวางป่า ที่พบว่าความหนาแน่นในช่วงหลังการเผา 1 เดือน มีค่าต่ำสุด ภายหลังการเผา 6 เดือนมีค่าเพิ่มขึ้นและสูงสุดในแปลงหญ้าหลังการเผาไปแล้ว 12 เดือน

จากนั้นทำการสร้างแบบจำลองถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับเสือโคร่ง กระทิง และกวางป่า โดยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่จากจุดการปรากฏของกระทิง และกวางป่า จากข้อมูลการตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าระหว่างปี 2562-2563 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจัดทำเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและการจัดการเหยื่อหลักของเสือโคร่ง

นอกจากนั้นแล้ว ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของเหยื่อหลักเสือโคร่งระหว่างข้อมูลการปรากฏของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (ข้อมูล ปี 2562-2563) กับปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดนำมาสร้างถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของเหยื่อเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง

โดยพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุด อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าลำแปรง บริเวณมูลสามง่าม และบริเวณผาเม่นในอุทยานแห่งชาติทับลาน

ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวเป็นงานวิจัยได้ข้อมูลในระยะเริ่มต้น โดยทีมวิจัยกำลังอยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่เชิงลึก ทั้งการศึกษาสภาพของดิน และพืชอาหารหลักของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง เพื่อจัดทำเป็นแผนที่ดิจิทัล (Digital mapping) ในทุกปัจจัย เพื่อช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงใช้ในการตัดสินใจการจัดการถิ่นอาศัยประชากรสัตว์ป่าในระดับพื้นที่ในระยะยาว ตลอดจนเป็นการช่วยในการวางนโยบายในระดับภูมิภาคอีกด้วย

Written By
More from pp
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ร่วมกับ ทรูวิชั่นส์ และ ทรูวิชั่นส์ นาว จัดงาน “OSCARS PARTY” ถ่ายสดงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ให้ชมฟรี! ที่ พารากอน ซีนีเพล็กซ์
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ร่วมกับ ทรูวิชั่นส์ และ ทรูวิชั่นส์ นาว จัดงาน “OSCARS PARTY” ถ่ายสดงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95...
Read More
0 replies on “ทีมวิจัยสัตว์ป่า เผยผลศึกษาวิจัยพื้นที่ทุ่งหญ้าศักยภาพ พบสัตว์กีบ กระทิง-กวาง-หมูป่า เข้าพื้นที่วิจัยในช่วง 1 ปี 6 เดือน เล็งศึกษาเชิงลึก หวังเพิ่มประชากรเหยื่อเสือโคร่ง ให้เสือโคร่งเพิ่มจำนวน-ข้ามแนวเชื่อมต่อสัตว์ป่า อช.เขาใหญ่”