สินค้าจากประมง-ปศุสัตว์ มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน

รัฐมนตรีเกษตรฯ ยืนยัน สินค้าจากประมง-ปศุสัตว์ มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น จึงขอให้พี่น้องประชาชนสามารถบริโภคได้ตามปกติ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการสรุปรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวจากหน่วยงานในสังกัดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากกระแสความกังวลของประชาชนต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสัตว์น้ำที่อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการบริโภคอาหารทะเล กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งสินค้าประมงและสินค้าปศุสัตว์ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยและได้มาตรฐานต่อผู้บริโภคให้มากที่สุด จึงขอให้พี่น้องประชาชนสามารถบริโภคได้ตามปกติ และขอยืนยันว่าสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองจากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ จะไม่มีการแพร่เชื้ออย่างแน่นอน

ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกระแสความกังวลของประชาชนต่อการบริโภคสินค้าประมง กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้มีการออกมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนไวรัสโควิด-19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น คือ

1) ผู้ประกอบการกระบวนการผลิต : เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์มต้องขึ้นทะเบียนและได้มาตรฐานจากกรมประมง ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง และการปฏิบัติงาน ล้างทำความสะอาดยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์น้ำ ทั้งภายในและภายนอกห้องบรรจุสัตว์น้ำด้วยคลอรีน ขณะเข้าและออกจากฟาร์ม ผู้ขับขี่ยานพาหนะบรรทุกสัตว์น้ำ ต้องตรวจคัดกรองและสวมหน้ากากตลอดเวลาเช่นเดียวกับบุคลากรในฟาร์ม


ส่วนชาวประมง/เรือประมงทุกคนต้องผ่านการคัดกรองจากศูนย์แจ้งเข้า-ออก เรือประมงตามมาตรการของกรมประมง ทำความสะอาดส่วนที่สัมผัสกับสัตว์น้ำอยู่เสมอ สวมถุงมือและสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ห้ามออกนอกสะพานปลา ท่าเทียบเรือ ขณะขนถ่ายสัตว์น้ำที่ท่าเทียบเรือหรือสะพานปลา

2) ผู้ประกอบการกระบวนการลำเลียงและขนส่งสัตว์น้ำ ล้างและทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับ ลำ เลียง หรือขนส่งสัตว์น้ำก่อน-หลัง ใช้ทุกครั้ง ฉีดพ่น ทำความสะอาดยานพาหนะที่ใช้ในการลำเลียง หรือขนส่ง ก่อน-หลัง ทุกครั้ง

โดยประสานกรมปศุสัตว์หรือภาคเอกชนช่วยดำเนินการ พร้อมทั้งควบคุมไม่ให้มีการปนเปื้อนระหว่างการขนส่ง เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการลำเลียง คัดแยก และขนส่งสัตว์น้ำ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ และมีระยะห่างในการปฏิบัติงานในระยะที่เหมาะสม

3) ผู้ประกอบการสะพานปลา (องค์การสะพานปลานำร่อง) ปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัยท่าเทียบเรือ สะพานปลา คัดกรองบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ทุกรายเป็นประจำทุกวัน ทำความสะอาดสถานที่ด้วยคลอรีนทุกวัน พาหนะบรรทุกสัตว์น้ำที่เข้า-ออก ต้องลงทะเบียน และฉีดพ่นด้วยคลอรีน โดยต้องทำความสะอาดทั้งภายในและภายนอกห้องบรรจุสัตว์น้ำ ก่อนการบรรจุสินค้าสัตว์น้ำ

4) ผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade ปฏิบัติตามข้อกำหนดร้านค้าของสาธารณสุข ทำความสะอาดพาหนะที่ขนส่งสินค้า ณ จุดจอด ก่อนมีการขนถ่ายเข้าสู่สถานประกอบการด้วยคลอรีน แยกสัตว์น้ำแต่ละประเภท ล้างทำความสะอาด และบรรจุในถุงพลาสติกก่อนวางบนน้ำแข็ง เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์น้ำ สุ่มตรวจการปนเปื้อนของไวรัสโควิด-19 เป็นระยะตามความเหมาะสม

Written By
More from pp
มช. รุก สานสัมพันธ์ประเทศจีน ร่วมมือทางวิชาการเดินหน้าด้านการท่องเที่ยวอัจฉริยะ
ความร่วมมือกับต่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มุ่งพัฒนาความเป็นสากลให้เกิดขึ้นทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับสมรรถนะและศักยภาพในระดับนานาชาติ ตอบสนองต่อการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก โดยเฉพาะการศึกษายังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศในทุกด้าน
Read More
0 replies on “สินค้าจากประมง-ปศุสัตว์ มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน”