เปลว สีเงิน
“ดร.เอนก” นี่ เข้าท่าดีจริงๆ!
ก่อนๆ คำว่ามหาวิทยาลัย, วิทยาศาสตร์, วิจัยและนวัตกรรม ไม่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเลยว่า
ระหว่าง “มีกับไม่มี” มันต่างกันตรงไหน”?
คือมันเป็นนามธรรมว่างเปล่า “สักแต่ว่ามี” เพราะเขามีกัน
แต่ทางเป็นจริง คำว่า “วิทยาศาสตร์, วิจัย, นวัตกรรม” ไม่เคยถูกทำให้เกิดมีในระบบบริหารและการศึกษาไทยจริงจังเลย
เพิ่งจริงจังในยุคประยุทธ์นี่แหละ!
ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ ทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิด
ว่า “วิทยาศาสตร์, วิจัย-นวัตกรรม” คือสังคมใหม่ของไทยที่เป็นจริง และเรากำลังจะไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ณ ตรงจุดนั้น อย่างมีสีสัน
ดร.เอนกประกาศที่หอประชุมจุฬาฯ เมื่อวาน ว่า….
“รัฐบาลจะประกาศสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ กลางเดือนมกราคมปีหน้า และจะบินและโคจรรอบดวงจันทร์ ในอีก ๗ ปีข้างหน้า
ไทยจะเป็นชาติที่ ๕ ในเอเชียที่ส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ นอกจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
เพื่อให้บรรลุโครงการใน ๗ ปี อาจต้องมีการระดมทุนจากคนไทยบ้าง โครงการนี้ จะเปลี่ยน mind set คนไทย และทำให้ไทยไม่ใช่ชาติด้อยพัฒนาอีกต่อไป”
มนุษย์ มีชีวิตอยู่ เพราะลมหายใจ
แต่อยู่ที่ขาดทะยานฝัน ค่าเท่ากัน กับตาย
ฉะนั้น ไทยจะจำเจอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ด็อกเตอร์เอนกเลยปลุกให้คนไทยตื่น
ปลุกนี้ของดร.เอนก เท่ากับเปลี่ยนฝันสูงสุดของคนไทยอยู่ที่ตัวเลขแทงหวย ให้ทะลุมิติฝัน ทะยานไปถึงดวงจันทร์ อันเหนือคิด-เหนือฝันของไทยทุกวันนี้
บรรเจิดดีจริงๆ ผมชอบ
เหมือนสมัยหนึ่ง “เคนเนดี” เคยปลุกอเมริกันชนให้หายอับอายโซเวียตที่ล้ำหน้า ส่งมนุษย์อวกาศไปโคจรรอบโลก ด้วยคำว่า “We choose to go to the moon”
แค่ไปลอยนอกโลก มันเล็กๆ อเมริกาไม่ทำ อเมริกาจะทำใหญ่ๆ คือจะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์โน่นเลย!
ก็ตั้งนาฬิกาไว้เลยนะ….
พศ.๒๕๗๐ เรามาแหงนคอตั้งบ่าพร้อมกันทั้งประเทศ ดูยานอวกาศไทย ทะยานขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์
หรือใครยังจะงมโข่ง ย้อนกลับไปแบกค้อน-แบกเคียวนอนสามัคคีเป็นอนาคตใหม่ ก็เชิญ
การที่ดร.เอนกประกาศคำนี้ ทำให้วงการศึกษามหา’ลัย วงการวิทยาศาสตร์ วิจัย-นวัตกรรมของไทย เป็นรูปธรรม “นำชาติ” ที่จับต้องได้ขึ้นมาทันที
ข่าวมากที่สุดข่าวหนึ่งของไทย คือ….
ข่าว “เด็กไทย” ไปคว้ารางวัลระดับโลก ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม มากมาย
ทั้งที่เป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ไทยระดับท็อป มีเยอะแยะ คิดดูซี ขนาด “ยาม้า-ยาบ้า” คนไทยยังเข้าทำเนียบเจ้าตำรับแรกของโลก
ถ้าแต่ละรัฐบาลที่ผ่านๆ มา สนับสนุนทุ่มงบด้านวิทยาศาสตร์และงานวิจัยละก็
วัคซีนโควิด วันนี้ เสร็จไทย!
ยุทธศาสตร์ชาติของเราตอนนี้ เอาจริงด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรม
เมื่อปักธง ๗ ปี เป็นเป้าพุ่งทะยานไปข้างหน้า ก็ไม่มีอะไรสาย ในทันทีที่ลุกขึ้น จับมือกัน แล้วลงมือ
คุยเรื่องดีๆ ของคนไทยแล้ว อีกซักเรื่องได้มั้ย?
อ่านเจอในเฟซ เขาบอก เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเพจ Thailand Development Report ไม่อนญาตให้คัดลอกหรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต
งั้นผมจะหยิบเฉพาะสาระหลักมาเล่าให้ภูมิใจร่วมกันในฐานะคนไทย คงไม่เป็นไรนะ
เคยได้ยินชื่อ “มาดามรถถัง” กันใช่มั้ย คือคุณ “นพรัตน์ กุลหิรัญ” ผู้ก่อตั้ง”บริษัท ชัยเสรี เมทัล แอนด์รับเบอร์” ย่านปทุมธานี
จากหมวยเชียงกง ย่านเยาวราช มาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยางติดเหล็ก ข้อต่อสายพาน ล้อกดสายพาน ให้กองทัพไทยและกองทัพต่างประเทศ ที่เรียกว่า “รถถัง-รถเกราะ” แบรนด์ไทย ดังระดับโลก
กองทัพไทยก็ใช้ กองทัพอินโดฯ กองทัพมาเลย์ ก็ใช้!
ตอนนี้ “คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทย” ที่เรียกกันว่า BOI
อนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตยานเกราะในประเทศให้บริษัทชัยเสรีฯ เป็นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศแล้ว
ใน ๒ กิจการย่อย คือ
-กิจการ รถถัง รถเกราะ หรือยานพาหนะรบ
-กิจการ ชิ้นส่วนเฉพาะที่ใช้ในการผลิตและ/หรือ ซ่อม ในประเภทกิจการ รถถัง รถเกราะ ยานพาหนะรบ และยานพาหนะช่วยรบ
การอนุมัติการส่งเสริม ทำให้บริษัท ชัยเสรี ได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
-ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา ๘ ปี
-ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
-ยกเว้นอากรวัตถุดิบสำหรับผลิตเพื่อส่งออก
-สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ในด้านภาษี
ครับ….
ต้องบอกว่า รัฐบาลทำถูกแล้ว เป็นนิมิตหมายที่ดีมากในด้านส่งเสริม สนับสนุนผลงานคนไทย คนไทยผลิตรถถัง รถเกราะรบขายทั่วโลก น่าภูมิใจน้อยอยู่หรือ
และนี่เป็นอุตสาหกรรม New S-Curve ตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่สำคัญอีกอย่าง
เมื่อภาครัฐ “โอบอุ้มอุตสาหกรรมไทย” ก็ไม่ต้องห่วงว่า โครงการอีอีซีจะไม่สำเร็จ โก ทู เดอะ มูน แน่นอน
อยากบอก “มาดามรถถัง” และตระกูลชัยเสรีว่า ผมภูมิใจด้วยจริงๆ
ไหนๆ มาทางนี้แล้ว ก็แวะให้ครบไปเลย
เมื่อวาน (๑๔ ธค.๖๓) สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย เชิญคนในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า รถไฟฟ้า EV
โลกกำลังตื่น จะให้ รถไฟฟ้า EV มาแทนที่รถใช้น้ำมัน เขาบอกว่า ยอดขายรถทั่วโลก ๙๐ ล้านคัน ตอนนี้ ทั่วโลกมีคนใช้แค่ ๒ ล้านคัน/ปี เท่านั้น
ยิ่งตลาดไทยด้วยแล้ว เท่าจิ๋มมด!
แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะคุย คือ “คุณเต๋อ” เพื่อนที่ยะลา เขาส่งให้คนที่คิดจะซื้อรถไฟฟ้าได้ศึกษา ผมเห็นว่าเป็นเรื่องควรรู้ไว้ จึงอยากให้อ่าน
เขาแชร์กันต่อๆ มา ไม่บอกใครเจ้าของความรู้นี้ ผิด-ถูกไง ก็บอกกันได้ ถือเป็นวิทยาทานต่อกัน ดังนี้
ไป กฟภ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมา ไปหาข้อมูล ว่าถ้าเราจะใช้รถไฟฟ้า EV เราต้องจัดการระบบไฟในบ้านยังไงบ้าง
อย่างแรกเลยที่เราต้องรู้คือ บ้านเราเป็นระบบไฟแบบ 1 เฟส หรือ 3 เฟส มีค่าแอมป์ เท่าไหร่
ถ้าบ้านทั่วไป ก็จะ 1 เฟส 15 (45) แอมป์ คือบ้านเรารับการใช้กระแสไฟฟ้าพร้อมกันได้สูงสุดที่ 45 แอมป์
ทีนี้ รถไฟฟ้า EV อย่างเช่น MG ZS EV ตัวชาร์จที่ติดตั้งที่บ้าน จะใช้กับระบบไฟ 3 เฟส เท่านั้น
ดังนั้น ถ้าเราใช้ไฟ 1 เฟส ก็ต้องไปแจ้งการไฟฟ้า ขอเปลี่ยนเป็น 3 เฟส
ถ้าบ้านเราเป็นไฟ 1 เฟส 15 (45) แอมป์ เราเคยเสียค่าตรวจสอบติดตั้งไปแล้ว 749 บาท การขอการไฟฟ้าเปลี่ยนเป็น 3 เฟส 15 (45) แอมป์ ก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเลยสักบาท
แต่ทีนี้ เมื่อเรามีรถไฟฟ้า ซึ่งต้องชาร์จแบต เราต้องมาคำนวณว่า แอมป์ บ้านเราพอรึป่าว
เช่น MG ZS EV ตัวชาร์จ สามารถชาร์จไฟได้ 7 KW
แปลว่า ทุกๆ ชั่วโมงจะชาร์จไฟจะต้องใช้แรงดัน (วัตต์) 7,000 วัตต์ หรือคิดเป็นไฟ 7 หน่วย
บ้านเราใช้ไฟ 220 โวลล์ เอาวัตต์ หาร โวลล์ ก็จะได้ค่าแอมป์ 7,000/220 = 31.81 แอมป์
จะเห็นว่า ถ้าเราไม่ได้ชาร์จรถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เรามีตู้เย็น เปิดแอร์หลายเครื่อง 45 แอมป์ อาจจะไม่พอ
ยิ่งถ้าวางแผนว่าในอนาคต อาจจะมีรถไฟฟ้ามากกว่า 1 คัน 15 (45) แอมป์ ไม่พอแน่ๆ ก็ต้องไปขอไฟ 3 เฟส แบบ 30 (100) แอมป์
ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่าย 1,605 – 749 = 856 บาท (จ่ายเพิ่ม)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พอขอเปลี่ยนระบบไฟกับการไฟฟ้าเสร็จ
เราต้องมาเปลี่ยนสายไฟที่เดินจากเสาไฟเข้ามาในบ้านด้วย
ไฟ 3 เฟส ก็จะต้องเดินสายไฟเพิ่มอีก 2 สาย
ถ้าเป็น 30 (100) แอมป์ ก็ต้องเปลี่ยนขนาดสายไฟเข้าบ้านใหม่หมด ให้เป็นสายไฟที่หนาขึ้น รองรับไฟที่สามารถสูงถึง 100 แอมป์
รวมถึงต้องเปลี่ยนระบบเบรกเกอร์ที่บ้านด้วย และสายไฟ ที่ออกจากเบรกเกอร์มาที่จุดชาร์จ ก็ต้องเป็นสายไฟที่ สามารถรองรับกระแสไฟที่มาก ตามสเป็กด้วย
ถ้าซื้อรถ EV มาแล้ว เสียบปลั๊กมั่วซั่วไปเรื่อย ไฟไหม้บ้านแน่นอนครับ
อีกจุดที่น่าสนใจคือ เรื่อง มิเตอร์ TOU (Time Of Use) ซึ่งมิเตอร์ TOU แบบ 3 เฟสจะมีค่ามิเตอร์อยูที่ 5,340 บาท
ถ้าเราตั้งใจจะใช้รถไฟฟ้า แนะนำเลยครับ ว่าให้หาเงินมาอีกสักก้อน มาติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านด้วย แล้วไปขอเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU
มิเตอร์ TOU จะมีวิธีคิดค่าไฟ แตกต่างกันตามช่วงเวลา
ในช่วง PEAK วันธรรมดา เก้าโมงเช้า ถึงสี่ทุ่ม ค่าไฟจะแพง หน่วยละ 5.79 บาท
แต่แลกกับช่วง Off Peak วันธรรมดาหลังสี่ทุ่มถึงเก้าโมงเช้า กับวันเสาร์ อาทิตย์ ทั้งวันทั้งคืน ค่าไฟจะเหลือแค่ หน่วยละ 2.63 บาท
แปลว่า ถ้าเราติดโซลาร์ในระดับที่พอกับการใช้ไฟในตอนกลางวันของเรา ช่วงเก้าโมงเช้า ถึง ห้าโมงเย็น
แม้ค่าไฟจะแพง แต่เราก็ไม่ได้ใช้ เราใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์ เราจะใช้ค่าไฟแพงแค่ช่วงที่แดดหมด ห้าหกโมงเย็นถึงสี่ทุ่ม ในวันธรรมดา วันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
นอกนั้น เราก็เอนจอย ค่าไฟหน่วยละ 2.63 บาท
ละลองคิดดูว่า หลังสี่ทุ่ม เราชาร์จรถ EV เสียค่าไฟแค่หน่วยละ 2.63 บาท มันจะประหยัดขนาดไหน
เช่น MG ZS EV แบตขนาด 44.5 kwh หรือ 44.5 หน่วย ตามสเปค วิ่งได้ 337 กิโล ถ้าชาร์ตเต็มในช่วง Off Peak จะเสียเงินแค่ 117 บาท
ตกกิโลละ 34 สตางค์ เท่านั้นเองครับ
…………….
ก็จบ (ไปอีกวัน) นะครับ!