กระทรวงสาธารณสุข เผยเน้นย้ำมาตรการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะทุกครั้งอย่างถูกวิธี ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคโควิด 19 และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้
ส่วนการจัดกิจกรรมต่างๆทำได้ ขอให้ผู้จัด ผู้ร่วมกิจกรรมและเจ้าหน้าที่ เคร่งครัดมาตรการที่กำหนด พร้อมขอประชาชนรับฟังข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐเป็นหลัก ให้ตระหนักแต่ไม่ตระหนก ตื่นตัวไม่ตื่นตูม
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ว่า
ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรวม 49 ราย โดยสถานการณ์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อจากเมียนมาทั้งหมดเข้าสู่ระบบช่องทางปกติ เข้ารับการกักตัวในสถานกักกันของรัฐทั้งหมด (Local Quarantine) แสดงให้เห็นว่ามีมาตรการที่รัดกุมไม่พบผู้ติดเชื้อที่ลักลอบเข้าประเทศ ซึ่งวานนี้ (11 ธันวาคม) จ.เชียงราย ร่วมกับ จ.ท่าขี้เหล็ก จัดระบบให้คนไทยที่ตกค้างเดินทางกลับอย่างถูกกฎหมาย มีผู้แสดงความจำนงแล้ว 107 คน เป็นผู้ใหญ่ 104 คน และเด็ก 3 คน
โดยเมียนมาได้ตรวจหาเชื้อก่อนการเดินทางพบผู้ติดเชื้อ 5 คน ส่งไปดูแลรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ทันที นับเป็นการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อสู่ชุมชน ส่วนผู้ที่ไม่พบการติดเชื้อจะเข้ากักตัวในสถานกักตัวของรัฐที่ทาง จ.เชียงรายจัดให้ พร้อมตรวจหาเชื้อทันที ซึ่งในกลุ่มนี้ได้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 4 ราย เข้าสู่ระบบการรักษา รวมมีผู้ติดเชื้อเป็น 9 ราย
ทั้งนี้ จ.เชียงราย ได้เตรียมอุปกรณ์ ยารักษาโรค ห้องแยกโรคไว้เรียบร้อยแล้ว ให้ประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลพร้อมดูแลคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ขอให้เข้ามาอย่างถูกกฎหมายจะได้รับการอำนวยความสะดวก ครอบครัว ชุมชน สังคมปลอดภัย
ขอย้ำว่าผู้ที่เดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ /เชียงราย ไม่ต้องกักตัวโดยผู้ที่ต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อ คือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ได้แก่ คนในครอบครัว ผู้ที่พูดคุยกับผู้ติดเชื้อเกิน 5 นาที ในระยะไม่เกิน 1 เมตร ผู้ที่ไอ/จามรดกัน และการอยู่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เกิน 15 นาที ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ผู้ที่เดินทางมาจาก 7 จังหวัด และไม่ได้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในช่วงเวลานั้นๆ รวมถึงการผู้ที่สัมผัสพูดคุยกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วยถือว่าไม่มีความเสี่ยง สามารถเดินทางได้ตามปกติ
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า การสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรการสำคัญที่ป้องกันการแพร่กระจายของโรค จากการสำรวจพบว่าคนไทยสวมหน้ากากอนามัยสูงมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งช่วยให้ป้องกันการแพร่ระบาดได้ และหากทุกคนสวมหน้ากากความปลอดภัยจากโรคโควิด 19 จะสูงขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ลงอย่างชัดเจนมากกว่า 10 เท่า
ยืนยันว่าการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งในที่สาธารณะ เป็นมาตรการสำคัญลดโรคติดต่อทางเดินหายใจได้ อย่างไรก็ตาม เชื้อโควิด 19 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น เชื้อมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดทั่วโลกกว่าร้อยละ 80 ในขณะนี้คือสายพันธุ์ G ซึ่งแตกต่างสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดจากอู่ฮั่น
โดยสายพันธุ์ G มีแนวโน้มการแพร่กระจายของโรคได้ง่ายกว่าเดิม แต่ความรุนแรงของโรคน้อยลง การทดสอบในวัคซีนถือว่ามีประสิทธิภาพดีเกินกว่าร้อยละ 70 และจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศอินเดีย เข้าสู่เมียนมาและเข้าสู่ประเทศไทย สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้
“ขอยืนยัน ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีจุดใดที่มีการระบาด การจัดกิจกรรมต่างๆทำได้ โดยขอให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้
1)ผู้จัดงาน ต้องเตรียมมาตรการต่างๆ ให้พร้อม เช่น ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัย จัดจุดล้างมือให้เพียงพอ สแกนไทยชนะ และแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ผู้ร่วมงานรับทราบ
2)ผู้เข้าร่วมงาน ขอให้สวมหน้ากากอนามัยแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่กลางแจ้งอากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อมีการสัมผัสจุดร่วมให้ล้างมือทำความสะอาด สแกนไทยชนะ และเมื่อกลับจากร่วมกิจกรรม ให้สังเกตอาการ หากไม่สบาย มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสให้ไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเข้าร่วมกิจกรรม
3) เจ้าหน้าที่ ให้ติดตามกำกับผู้ประกอบกิจกรรม หากพบว่าไม่ให้ความร่วมมือ ต้องตักเตือน หากยังไม่ปฏิบัติตาม ให้แจ้งระงับกิจกรรม หรือปิดสถานที่ หากทุกคนร่วมมือกันจะทำให้ท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุข” นายแพทย์โอภาส กล่าว
ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคกล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หลังจากรายที่ 1 พบการติดเชื้อ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน มีการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 4 ราย (รายที่ 2,3,4,5) ต่อมาเมื่อตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 พบเพิ่มอีก 1 ราย (รายที่ 6) ขณะนี้ทุกรายอยู่ในการดูแลของแพทย์และอาการน้อย ไม่รุนแรง
สำหรับผู้ติดเชื้อรายล่าสุด เพศหญิง อายุ 29 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 31 ราย ในระบบเฝ้าระวัง พบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยสรุปผลตรวจผู้สัมผัสของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด มีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 888 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 51 ราย พบติดเชื้อเพียง 1 ราย (รายที่6) ซึ่งรายนี้มีผู้สัมผัส 10 คน ได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วทั้งหมดผลเป็นลบ สถานการณ์สามารถควบคุมได้ และต้องติดตามสังเกตอาการจนครบ 14 วั
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การพบผู้ลักลอบเดินทางจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ขณะนี้สามารถติดตามได้ทั้งหมด เป็นการติดเชื้อจากการอยู่ใกล้ชิดกัน ถือว่ายังไม่เป็นการระบาด อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรอง และกักกันที่ถูกต้องจากระบบโดยระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยมีประสิทธิภาพ ควบคุมสถานการณ์ได้
ทั้งนี้ กลไกสำคัญที่สุดของการควบคุมโรค คือ ความร่วมมือของประชาชน ไม่ตื่นตระหนก ไม่ตื่นตูม “ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” และ “ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตูม” ขอให้ช่วยกันเฝ้าระวัง สังเกตผู้ที่เข้ามาทางพื้นที่ชายแดน หรือมีประวัติว่าได้อยู่ใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หากเราร่วมมือกันตั้งแต่ต้นทาง ก็จะไม่ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น รวมถึงการสแกนไทยชนะ ถึงแม้ไม่ได้ช่วยป้องกันโรค แต่จะช่วยให้ทราบว่าเราไปในสถานที่แห่งนั้น หากพบผู้ติดเชื้อ ระบบจะแจ้งเตือนให้ไปตรวจทันที ช่วยให้ตนเอง คนรอบข้าง และสังคม มีความปลอดภัย”
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2563 มีผู้ป่วยรายใหม่ 12 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 12 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 4,192 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,462 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,730 ราย เข้าสถานที่กักกัน 1,204 ราย หายป่วยสะสม 3,915 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 217 ราย และเสียชีวิตสะสม 60 ราย
ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดเดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตามระบบ ได้แก่ เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร อินเดีย คูเวตประเทศละ 1 ราย และบาเรนห์ 7 ราย แบ่งเป็นคนไทย 9 ราย และคนต่างชาติ 3 ราย ทั้งหมดเข้ารับการรักษาตามระบบแล้ว โดยเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 11 ราย มีอาการ1 ราย คือ ปวดศีรษะ
ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศ ทั่วโลกยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการแพร่ระบาดส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูหนาวทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่ โดยในวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 702,513 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 71,432,996 ราย ซึ่งคาดจำนวนผู้ติดเชื้อจริงอาจมากกว่าที่ได้รับรายงานอยู่มากโดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 16.2 ล้านราย อินเดีย 9.8 ล้านราย บราซิล 6.8 ล้านราย รัสเซีย 2.5 ล้านราย ฝรั่งเศส 2.3 ล้านราย