ปัญหาท้องผูกเรื้อรัง เป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย และมักสร้างความทรมานทุกครั้งที่ต้องเข้าห้องน้ำ เพราะการเบ่งถ่ายที่ยากลำบาก ซึ่งอาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ เช่น ริดสีดวงทวารหนัก แผลบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก ในปัจจุบันภาวะท้องผูกเรื้อรังสามารถรักษาได้โดยการฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทางทวารหนัก โดยไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป
นายแพทย์สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า ภาวะท้องผูกเรื้อรังหมายถึงมีการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ่ายอุจจาระก้อนเล็ก ก้อนแข็ง หรือถ่ายแล้วเบ่งยากถ่ายไม่สุด เป็นเวลาต่อเนื่องเกิน 3 เดือนขึ้นไป สามารถแบ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยตามช่วงวัย ดังนี้
• วัยสูงอายุ อาจเกิดจากเนื้องอกลำไส้ โรคประจำตัว หรือเป็นผลข้างเคียงของยาที่ใช้เป็นประจำ เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง หรือยาแก้แพ้บางชนิด ในกลุ่มนี้อาจจะต้องปรับเรื่องของยารักษาโรคประจำตัว เพื่อลดกลุ่มยาที่ทำให้เกิดปัญหาท้องผูก หรือใช้วิธีควบคุมโรคประจำตัวให้ดีขึ้น ก็จะสามารถรักษาเรื่องของท้องผูกเรื้อรังได้
• วัยเด็กและวัยทำงาน อาจเกิดจากการมีภาวะลำไส้แปรปรวนที่มีท้องผูกร่วมด้วย หรือ เกิดจากการเบ่งอุจจาระผิดวิธี เช่น กลั้นอุจจาระบ่อย หรือมีพฤติกรรมนั่งเล่นโทรศัพท์ในห้องน้ำนาน ๆ จนทำให้มีการหดเกร็งของหูรูดทวารหนัก
การวินิจฉัยภาวะท้องผูกเรื้อรัง เริ่มจากการซักประวัติโดยแพทย์ และตรวจร่างกายว่ามีลักษณะอาการใดที่ต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ส่องกล้องทางเดินอาหาร เป็นต้น หากตรวจเบื้องต้นแล้วยังไม่พบสาเหตุ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจการทำงานของหูรูดทวารหนัก (Anorectal Manometry) โดยใช้สายขนาดเล็กสอดเข้าทางรูทวารหนัก และให้คนไข้จำลองสถานการณ์ขณะเบ่งอุจจาระ ซึ่งโดยปกติถ้าไม่มีปัญหาหูรูดทวารหนัก ในระหว่างการเบ่งต้องมีการคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ในทางกลับกัน ถ้ามีปัญหากล้ามเนื้อจะหดเกร็ง รัดตัว และเบ่งไม่ออก
หากพบว่าผู้ป่วยมีภาวะหูรูดทำงานไม่สัมพันธ์กับการเบ่ง หรือเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธี ก็สามารถรักษาด้วยการฝึกเบ่งถ่ายอุจจาระ โดยวิธีที่เรียกว่า (Biofeedback Therapy) ซึ่งเป็นการฝึกเบ่งอุจจาระ โดยที่คนไข้จะเห็นภาพการทำงานของหูรูดทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ เพื่อสังเกตการหดและคลายกล้ามเนื้อหูรูดในการเบ่งถ่ายแบบเรียลไทม์ และฝึกการเบ่งถ่ายให้ถูกต้อง โดยควรตรวจอย่างน้อยทุก ๆ 1 – 2 สัปดาห์ ต่อเนื่องประมาณ 3 ครั้ง เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตรงจุด 60 – 80 % จะสามารถกลับมาเบ่งถ่ายได้ดี หายจากภาวะท้องผูกเรื้องรัง และหยุดการใช้ยาระบายหรือยาสวนอุจจาระได้
“คนไข้บางส่วนเมื่อประสบปัญท้องผูก จะหันไปใช้ยาระบายที่หาซื้อได้ง่าย เช่น ยาระบายกลุ่มมะขามแขก ปัญหาของการใช้ยาระบายอย่างต่อเนื่องก็คือ อาจเกิดภาวะลำไส้ติดยา หรือลำไส้ดื้อยา และต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาระบายเรื่อย ๆ จนกระทั่งใช้เท่าไหร่ก็ถ่ายไม่ออก นี่จึงเป็นข้อเสียของการใช้ยาระบายเองโดยที่ไม่หาสาเหตุ เพราะฉะนั้นหากพบว่าตัวเองเข้าข่ายภาพวะท้องผูกเรื้อรัง ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อได้รับการรักษที่ตรงจุด เพราะในกลุ่มที่ใช้ยาเองมาระยะยาว จะรักษายากขึ้น ต้องมีการปรับยา หรือใช้การรักษาหลายๆวิธีร่วมกัน” นายแพทย์สุขประเสริฐกล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาวะท้องผูกเรื้อรัง เป็นภาวะที่ป้องกันได้ เพียงปรับพฤติกรรมตาม 3 อ. ได้แก่ 1.อาหาร รับประทานอาหารที่มีกากใย และดื่มน้ำอย่างเพียงพอ 2.อุปนิสัย ฝึกขับถ่ายเป็นเวลา และไม่อั้นอุจจาระ 3.ออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมให้กล้ามเนื้อลำไส้ทำงานปกติ
นพ.สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร
รพ.เวชธานี