สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย วันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12 ราย ทุกรายเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ และเข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ หรือสถานที่รัฐกำหนด มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 15 ราย ทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,585 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.97 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 131 ราย หรือร้อยละ 3.47 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,775 ราย
สำหรับรายละเอียดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12 รายวันนี้
เป็นคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย แบ่งเป็น
- เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) 6 ราย เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา 1 ราย, อินเดีย 1 ราย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 ราย ทั้งหมดตรวจพบเชื้อ ไม่แสดงอาการ
- พบจากการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพบเข้าเกณฑ์ เฝ้าระวังโรค (PUI) 1 ราย เดินทางมาจากจอร์แดน มีน้ำมูก จึงตรวจหาเชื้อ ผลพบเชื้อ
เป็นชาวต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย แบ่งเป็น
- เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) 3 ราย เดินทางจากฟิลิปปินส์ 1 ราย, อินเดีย 2 ราย ทั้งหมดตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน โดยผู้กักตัวเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยคิดจากประกันโควิด 19 ที่ทำไว้ก่อนการเดินทางเข้าประเทศ
- เป็นชาวต่างชาติ ที่เดินทางมารักษาด้วยโรคอื่น เข้ากักตัวในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) 2 ราย จากเอธิโอเปีย 1 ราย, พม่า 1 ราย ตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงพบการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงต่อเนื่อง วันนี้มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 531,552 ราย ผู้ป่วยสะสม 45,299,015 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร
สำหรับประเทศไทยยังคงควบคุมสถานการณ์โรคโควิด 19 ได้ดี สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ การรักษามาตรการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนอาคารสถานที่ พื้นที่สาธารณะ ขอความร่วมมือให้จัดรอบทำความสะอาดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะบริเวณจุดสัมผัสร่วมต่างๆ จะช่วยทำลายเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่บนพื้นผิวและในสิ่งแวดล้อมได้ รวมถึงจัดตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้เพียงพอ
ที่สำคัญขอให้ประชาชนการ์ดไม่ตก สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด และหลีกเลี่ยงการเอามือสัมผัสบริเวณใบหน้า
นายแพทย์โสภณกล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายลดระยะเวลากักตัวของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน สำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศที่เสี่ยงต่ำ ที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำในประเทศต้นทาง ซึ่งในเบื้องต้นเป็นมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 โดยจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ จากการศึกษาของคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพบว่า การกักตัว 14 วันและ 10 วัน มีอัตราการติดเชื้อหลัง 14 วันต่ำมาก และไม่แตกต่างกัน โดยหลังวันที่ 10 ต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และสามารถติดตามตัวได้รู้ว่ามีอาการป่วยหรือไม่ ทั้งนี้ มีหลายประเทศได้ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน ได้แก่
ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สโลวีเนีย และลัตเวีย ซึ่งมาตรการลดวันกักตัว ได้อาศัยข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนตามสถานการณ์ความเสี่ยง ร่วมกับการประเมินสถานการณ์รายประเทศและความจำเป็นในการดูแลผู้เดินทางมาจากต่างประเทศให้อยู่ในสถานที่ป้องกันการแพร่เชื้อได้ดี ก่อนกำหนดเป็นนโยบายใหม่