28 ตุลาคม 2563- นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากรของโครงการความร่วมมือระหว่างไทย – จีน (สัญญา 2.3) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กม.
โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา จะมีทั้งสิ้น 6 สถานี ได้แก่ กรุงเทพฯ (บางซื่อ) ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา โดยฝ่ายไทยจะลงทุนโครงการทั้งหมดและดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ควบคุมงานการก่อสร้างโยธา ออกแบบและติดตั้งงานระบบรางและระบบไฟฟ้า เครื่องกล ระบบควบคุมการเดินรถและจัดนำขบวนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ที่คืบหน้าไปแล้วกว่า 42% และคาดว่าโครงการนี้จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2569
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้จึงเปรียบเสมือนสายใยเชื่อมโยงไทย – จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการเดินทางให้หัวเมืองหลักเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค และยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ประเทศ และภูมิภาคต่อไป