กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาการลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ความเสี่ยงไม่แตกต่างกันวางแผนดำเนินการในกลุ่มประเทศที่มีอัตราติดโควิด 19 ต่ำ
และเพิ่มมาตรการความปลอดภัย ทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ระบบติดตามตัว และการประเมินผล ยืนยันดำเนินการเป็นขั้นตอน คำนึงความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก ขณะนี้ยังไม่มีการลดจำนวนวันกักตัว เตรียมเสนอ ศบค.พิจารณา พบบางประเทศมีการกักตัวเหลือ 7 วัน
16 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงข่าวเรื่องการลดระยะเวลากักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศไทย
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า ประเทศไทยเตรียมเปิดรับนักเดินทางต่างชาติ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้การกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศจำนวน 14 วัน อาจไม่จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา เนื่องจากต้องพำนักอยู่ในประเทศไทยนานหลายวัน ส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น
จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรคดำเนินการศึกษาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการลดระยะเวลากักตัว แต่คงมาตรการความปลอดภัยสำหรับประชาชน
โดยผลการศึกษาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์เปรียบเทียบจำนวนวันที่กักกันกับร้อยละของการติดเชื้อที่ป้องกันจากจำนวนวันที่กักกัน พบว่า เมื่อจำนวนวันกักกันเพิ่มขึ้นจะป้องกันการแพร่เชื้อได้สูงขึ้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คือช่วงวันที่ 10 จนถึงวันที่ 14 ของการกักตัว ร้อยละของการป้องกันการติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเสี่ยงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
และจากการหารือกับคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ข้อเสนอว่า มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังคงมาตรการกักตัวที่ 14 วัน หากจะลดจำนวนวันกักตัวลง จะมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นได้จากการลดวันกักตัว คือ การนำร่องในประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดี เช่น ไม่มีผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ในประเทศหรือมีน้อย อัตราการติดเชื้อต่ำใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เป็นต้น
ก่อนเดินทางมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT PCR ภายใน 72 ชั่วโมง เมื่อเดินทางถึงไทยตรวจหาเชื้ออีก 2 ครั้ง และตรวจทางห้องปฏิบัติการมากขึ้น เช่น ตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันเมื่อกักตัวครบ 10 วัน แนะนำให้สวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนจำนวนมากให้ครบ 14 วัน ระบบติดตามอาการผู้ผ่านการกักตัว 10 วัน หากมีการติดเชื้อขึ้นภายในประเทศต้องสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับผู้ที่ผ่านการกักตัว 10 วันหรือไม่ รวมถึงต้องมีการประเมินว่าการกักตัว 10 วันมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน โดยจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) พิจารณาต่อไป
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า การเลือกประเทศต้นทางที่จะลดวันกักตัวนั้น จะเลือกจากประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำ ซึ่งหากพิจารณาการติดเชื้อของผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ พบว่า
ปัจจุบันมีคนเดินทางเข้าประเทศไทยจาก 71 ประเทศ กักกันคนจำนวน 116,219 ราย ตรวจพบการติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 49 ประเทศ จำนวน 728 ราย อัตราการติดเชื้อในกลุ่มผู้กักกันอยู่ที่ร้อยละ 0.63
อย่างไรก็ตาม มีถึง 22 ประเทศที่ไม่พบการติดเชื้อในผู้เดินทางมาประเทศไทย บางประเทศมีอัตราการติดเชื้อต่ำ เช่น จีน เดินทางเข้ามา 2,426 ราย ติดเชื้อ 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.04 ฮ่องกงเดินทางเข้ามา 1,883 ราย ติดเชื้อ 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.48 ไต้หวันเดินทางเข้ามา 5,581 ราย ติดเชื้อ 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.04 ออสเตรเลีย เดินทางเข้ามา 3,906 ราย ติดเชื้อ 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.1 และนิวซีแลนด์เดินทางเข้ามา 827 ราย ไม่พบการติดเชื้อ
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า หลายประเทศได้ใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยาและการศึกษาใหม่ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายลดจำนวนวันกักตัวในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยประเทศที่ลดวันกักตัวลงเหลือ 10 วัน ได้แก่ ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สโลวีเนีย และลัตเวีย ประเทศที่ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ได้แก่ เบลเยียม และฝรั่งเศส
แต่นโยบายที่หลากหลายนี้ขึ้นกับการประเมินสถานการณ์ของแต่ละประเทศและความจำเป็นในการดูแลผู้เดินทางมาจากต่างประเทศให้อยู่ในสถานที่ป้องกันการแพร่เชื้อได้ดี ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาศัยข้อมูลทางวิชาการของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนตามสถานการณ์ความเสี่ยงและกำหนดเป็นนโยบายใหม่