ทนายความผู้ร่วมขับเคลื่อนความสำเร็จของสาธารณรัฐคีร์กีซในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้เป็นประเทศแรกของโลก ได้รับเลือกให้เป็นผู้ได้รับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็น (Nansen Refugee Award) ประจำ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
อซิซเบค อชูรอฟ (Azizbek Ashurov) และองค์กรของเขา Ferghana Valley Lawyers Without Borders (FVLWB) ได้ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากกว่า 10,000 คน ให้ได้รับสัญชาติคีร์กีซ หลังจากที่ต้องตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งรวมถึงเด็กจำนวนกว่า 2,000 คน ที่ปัจจุบันได้รับสิทธิในการศึกษา และจะได้สิทธิในการเดินทาง แต่งงาน และทำงาน เพิ่มอีกในอนาคต
ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติส่งผลต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิทางกฎหมายหรือบริการขั้นพื้นฐาน ทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในสถานะของคนชายขอบทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ถูกเลือกปฏิบัติและอยู่ในภาวะเปราะบาง ที่เสี่ยงต่อการถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ
“เรื่องราวของ อซิซเบค อชูรอฟ เป็นตัวอย่างของบุคคลที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา” ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว
“ความมุ่งมั่นของเขาในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในคีร์กีซสถาน คือ ความสำเร็จจากความร่วมมือกันของรัฐบาลคีร์กีซสถานและทุกภาคส่วนภายในประเทศ เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมที่แสดงถึงพลังของปัจเจกบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน”
ในสมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียตที่ไม่มีการแบ่งเขตแดน ผู้คนสามารถเดินทางไปมาภายในเขตเอเชียกลางได้ด้วยเอกสารประจำตัวภายในประเทศ สามารถขออนุญาตอาศัย และแต่งงานได้ แต่หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2534 และการก่อตั้งรัฐใหม่ๆ ประชากรจำนวนมากถูกละทิ้งอยู่บริเวณชายแดน ที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่ถือหนังสือเดินทางโซเวียตที่หมดอายุแล้ว หรือบางคนไม่สามารถพิสูจน์สถานที่เกิดได้ ทำให้ผู้คนหลายแสนคนทั่วทั้งภูมิภาครวมทั้งในคีร์กีซสถานตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ
ผู้หญิงจำนวนมากได้รับผลกระทบ บ่อยครั้งที่ต้องสูญเสียความเป็นพลเมืองหลังการแต่งงานและย้ายออกนอกรัฐของตน ตั้งแต่ก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการแบ่งเขตแดนของรัฐใหม่ ตามหลักกฎหมายพลเมือง ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติจะยังตกทอดไปถึงบุตรที่เกิดตามมาในภายหลังอีกด้วย
ด้วยแรงผลักดันจากการที่ครอบครัวต้องเผชิญกับความยากลำบากกว่าที่จะได้มาซึ่งสิทธิความเป็นพลเมืองหลังออกจากอุซเบกีสถานช่วงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อชูรอฟได้ร่วมจัดตั้งองค์กร FVLWB ในพ.ศ. 2546 เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายและช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นที่อยู่ในภาวะเปราะบาง บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และผู้ที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ บริเวณตอนใต้ของคีร์กีซสถาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
“ฉันไม่สามารถนิ่งเฉยได้เมื่อพบเห็นความอยุติธรรม” อชูรอฟ กล่าว “ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ คือ ความ อยุติธรรม และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐใดๆ พวกเขาเหมือนเป็นผี มีตัวตนรูปร่าง แต่ไม่มีตัวตนในเอกสาร”
“หน้าที่ของเราในการลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ คือ การช่วยเหลือคนเหล่านี้ทำในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำเองได้ เราไม่ได้ให้ความเป็นพลเมือง แต่เราคืนสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับตั้งแต่แรกเกิดให้ต่างหาก”
“ฉันตระหนักดีว่าสำหรับฉันที่มีทั้งความรู้และยังเป็นทนายความ มันยังยากขนาดนี้ แล้วลองคิดดูว่าสำหรับคนทั่วไปแล้วมันจะยิ่งยากลำบากขนาดไหน” อชูรอฟ กล่าว
มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ติดต่อ FVLWB เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องสถานะพลเมือง อชูรอฟจึงตั้งเป้าหมายขององค์กรโดยเน้นไปที่เรื่องภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อสำรวจปัญหาทั่วประเทศเป็นครั้งแรกและตั้งเป้าหมายที่จะขจัดภาวะนี้ให้หมดสิ้นไป
อชูรอฟและ FVLWB จัดตั้งทีมกฎหมายเคลื่อนที่เพื่อเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลทางตอนใต้ของประเทศเพื่อค้นหากลุ่มคนเปราะบางและกลุ่มคนชายขอบที่ถูกกีดกันทางสังคม ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่เป็นภูเขา ทีมกฎหมายเคลื่อนที่ต้องอาศัยการเดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือแม้แต่เดินทางด้วยการขี่ม้า
ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดของเขากับเจ้าหน้าที่ทางการของคีร์กีซสถาน รวมถึงการริเริ่ม ‘การนิรโทษกรรม’ ชั่วคราวสำหรับคนที่ไม่มีเอกสารแสดงตนที่ชัดเจน ทำให้สามารถช่วยบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนมากให้ได้รับสิทธิพลเมือง
“วิธีหลักของเราคือทำงานร่วมกับรัฐบาล” อชูรอฟ กล่าว “เราทำให้รัฐบาลหันมาสนใจและร่วมทำงานกันอย่างเป็นมิตร เราเป็นเพียงนักสู้ตัวเล็กๆ แต่เรามีรถถังคันใหญ่ที่คอยสนับสนุนเราอยู่”
“ไม่ต่างจากคีร์กีซสถาน รัฐต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ ได้ทำการรณรงค์ในการช่วยบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวน 46,000 คน ให้สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ และ กว่า 34,500 รายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ”