ดำรง พุฒตาล เล่าผ่านไลน์ เรื่องอาจารย์ “ไกรศักด์ ชุณหะวัณ”

วันจันทร์ที่ 21 กันยายนนี้ จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ คุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ พิธีจะเริ่มตั้งแต่ 15:00 น. ที่วัดเทพศิรินทร์

คุณไกรศักดิ์ หรือ “คุณโต้ง” เคยเป็นประธานกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภาระหว่างปี พ.ศ. 2543-2549 ซึ่งทั้งตัวผมและคุณโต้ง ได้เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยผ่านการเลือกตั้งของประชาชนตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 และผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณโต้งในฐานะเป็นรองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศคนหนึ่ง วันนี้จึงอยากจะเล่าให้คนไทยได้รับรู้ถึงคนดีศรีสังคมในบางแง่มุมของท่าน

ท่านประธาน ไกรศักดิ์ เป็นประธานกรรมาธิการการต่างประเทศที่มีบารมี มีความรู้มีความสามารถในเวทีโลก โดยได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศไทย นักการทูตไทย ข้าราชการไทย องค์การเอกชน หรือนักการทูตสถานทูตจากต่างประเทศ ตลอดจนองค์กรนานาชาติต่างนับถือยกย่องเคารพและศรัทธา ต่อคุณโต้ง เป็นอย่างดียิ่ง

ความมีบารมีสูงของคุณโต้งจึงทำให้กรรมาธิการของเราทำงานได้ง่ายเพราะทุกครั้งที่เราเชิญข้าราชการไทยหน่วยงานของไทยหรือหน่วยงานของต่างชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยให้มาชี้แจงในประเด็นปัญหาต่างๆ ผมจำได้ว่าไม่เคยมีผู้ใดปฏิเสธที่จะมาทำความเข้าใจหรือชี้แจงที่วุฒิสภาของเราเลย

การที่ตัวผมเลือกขอเป็นกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภาก็เนื่องมาจากผมได้รับรู้ความเดือดร้อนความลำบากการไม่ได้รับความเป็นธรรม ของคนไทยในต่างแดน ซึ่งผมจะทราบข้อมูลหรือได้รับการร้องเรียนหรือการขอความช่วยเหลือมาถึงผมผ่านหนังสือคู่สร้างคู่สม

ซึ่งผมเห็นว่าเมื่อประชาชนได้เลือกผมเข้ามาเป็นตัวแทนของเขาในวุฒิสภาผมก็น่าจะหาทางช่วยเหลือเยียวยาให้คนไทยเหล่านั้นได้

ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้านักธุรกิจ นักศึกษา หญิงบริการ หมอนวด แรงงานไทย ที่เดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือตกทุกข์ได้ยากอยู่ในต่างแดน

ผมนำเสนอ เรื่องนี้ให้คุณโต้งและกรรมาธิการได้รับทราบ ในที่สุดท่านก็ตั้ง  “อนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยในต่างแดน” โดยที่ประชุมมีมติว่าให้ตัวผมเป็น ประธานอนุกรรมาธิการนี้ ซึ่งทำให้ผมได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยทั่วโลก

มีอยู่กรณีหนึ่งที่ผมจำได้แม่นคือภรรยาไทย มาขอความช่วยเหลือผ่านหนังสือคู่สร้างคู่สมว่า สามีของเธอเป็นผู้ใช้แรงงานของบริษัทเกาหลีใต้ในประเทศคูเวต ได้เสียชีวิตลง และสามีก็มีประกันชีวิต หรือประกันสังคมอยู่กับบริษัทนายจ้างซึ่งน่าจะได้รับเงินประมาณ 300,000 บาท

แต่เวลาได้ผ่านไปเนิ่นนานเป็นปีแล้ว เธอก็ยังไม่ได้รับเงิน ผมจึงนำเรื่องนี้เสนอคุณโต้งและคุณโต้งก็ได้เชิญ กรม ของกระทรวงต่างประเทศที่รับผิดชอบคนไทยในต่างแดน มาประชุมและขอให้ช่วยเหลือภรรยาหม้ายผู้นั้น

อีกสองเดือนต่อมา ภรรยาหม้ายผู้นั้นได้ส่งจดหมายถึงผมและถ่ายภาพบัญชีธนาคารมาให้ผมดูว่าเธอได้รับเงินประกันเรียบร้อยแล้ว ท่านประธานและคณะกรรมการการต่างประเทศก็รู้สึกมีความสุข ผมขอยืนยันว่าคุณโต้งจะให้ความใส่ใจและความสำคัญของการดูแลคนไทยในต่างแดนอย่างจริงจังไม่ทอดทิ้ง และติดตามผลอยู่ตลอดเวลา

ผมว่านี่แหละ คือหน้าที่สำคัญหน้าที่หนึ่งของกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบนโยบายและวิธีคิดของประธานไกรศักดิ์ คือ ท่านสนใจ และให้ ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา มาเลเซีย ลาว เขมร ไปถึง สิงคโปร์ด้วย


เราเคยพูดกันในกรรมาธิการเล่นๆ ว่า เราไม่สามารถยก หรือย้ายแผ่นดินไทยไปไหนได้ เพราะฉะนั้นคนไทย และประเทศไทยก็ต้องอยู่กันกับมิตรประเทศ รอบบ้านอย่างมีสันติสุขและมีไม่ตรีที่ดีต่อกัน

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รัฐบาลใหม่ของนายกทักษิณ จะต้องมาแถลงนโยบายที่รัฐสภากรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภา ก็จะต้องซักถามนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล คุณโต้งมอบหมายให้ผมเป็นผู้ซักถาม ต่อรัฐบาลใหม่ว่า มีโยบายอย่างไรกับประเทศเมียนมาพร้อมกับขอผมเสนอแนะว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไรกับประเทศเมียนมานี้

ผมถามท่านประธานโต้งว่าเหตุใดท่านผมให้เป็นผู้อภิปรายประเทศเมียนมากับรัฐบาล ท่านตอบหน้าตาเฉยว่า…

“เพราะคุณดำรงเป็นคนจังหวัดอยุธยา และพม่าได้มาเผากรุงศรีอยุธยาของคุณ คุณก็ต้องอภิปรายประเทศพม่านี่แหละ”

ฟังดูเหมือนเหตุผลที่ “ตลกๆ” แต่มันแฝงด้วยวิสัยทัศน์ความคิดอันลึกซึ้ง

พม่าเผากรุงศรีอยุธยา ผมเกิดมาก็เห็นซากอิฐซากปูน แต่เราต้องข้ามอดีตที่เรารบราฆ่าฟันกันมาเป็นร้อยๆ ปี แล้วมองหาการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ มองผลประโยชน์ของชาติในอนาคตร่วมกัน

นั่นคือความลึกซึ้งของท่านประธาน “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ในการทำงานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสถา

Written By
More from pp
ปตท. จับมือ สวทช. เดินหน้านวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์มาตรฐานสากลของคนไทย
4 กุมภาพันธ์ 2565– ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BC
Read More
0 replies on “ดำรง พุฒตาล เล่าผ่านไลน์ เรื่องอาจารย์ “ไกรศักด์ ชุณหะวัณ””