เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงาน “ฝ่ายค้านรับฟัง 4 กลุ่มเปราะบางจากวิกฤติโควิด-19” เวทีที่ 3 : ความเดือดร้อนต่อภาคการเกษตร ที่จังหวัดหนองคาย
ซึ่งจัดโดยกลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
โดยกล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างแสนสาหัส ทุกด้าน ทุกภาคส่วนของประเทศ และยังไม่มีแนวโน้มจะจบลงในเร็ววัน ซึ่งภาคการผลิตที่ได้ผลกระทบหนักที่สุด ก็เห็นจะเป็นภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคการส่งออก แรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมทั้งภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤติโควิด-19 ภัยแล้ง และราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ
ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานอยู่ที่ 39 ล้านคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนั้น เป็นแรงงานในภาคเกษตรมากถึง 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 36% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ภาคเกษตรของไทยมีสัดส่วนประมาณ 5.7% ของจีดีพีประเทศไทย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เพราะธรรมชาติของภาคการเกษตร จะใช้แรงงานเยอะ ใช้ที่ดินเยอะ แต่ผลผลิตกลับยังสร้างมูลค่าไม่ได้มาก ทำให้แรงงานรุ่นหนุ่มสาวย้ายไปทำงานในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ภาคการเกษตรไม่ได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก และรัฐบาลไร้แผนระยะยาว ทำให้ขาดระบบในการจัดสรรการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของสินค้าการเกษตร
ส่วนปัญหาภัยแล้งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย เพราะภาคเกษตรต้องอาศัยภูมิอากาศและน้ำ จึงทำให้ชีวิตเกษตรกรไทย ขึ้นอยู่กับฟ้าฝน และปัจจุบันไทยกำลังเจอวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี มี 43 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ทำให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่กับระบบชลประทานของประเทศ ทำไมถึงล้าหลังและถูกละเลยเช่นนี้ แม้กระทั่งจังหวัดที่อยู่ติดแหล่งน้ำอย่างหนองคายยังเจอภัยแล้ง
นอกจากนี้ ปัญหาที่ดินทำกิน เป็นอีกหนึ่งปัญหาของเกษตรกรไทย ประเทศไทยมีจำนวนเนื้อที่ที่ถือครองเพื่อการเกษตร 149 ล้านไร่ โดยเนื้อที่ดังกล่าวเป็นของเกษตรกรเอง 72 ล้านไร่ หรือ 48% จากจำนวนทั้งหมด ที่เหลือไม่มีที่ดินทำกิน ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเช่าที่ดินทำการเกษตร รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรต่อคนอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท
ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนนอกภาคเกษตรอยู่ที่เดือนละ 16,000 บาท ซึ่งหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทยสูงถึง 195,000 บาท หมายความว่า สำหรับเกษตรกรนั้น พวกเขาต้องทำงานและไม่ใช้จ่ายอะไรเลยถึงเกือบ 4 ปี ถึงจะใช้หนี้เดิมก้อนนี้หมด ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย