รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ด่านศุลกากรคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประชุมหารือผู้ประกอบการในพื้นที่เกี่ยวกับมาตรการการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนภายหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย ป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด – 19
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อประชุมหารือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ เรื่อง การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายหลังการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาด และยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ ห้องประชุมด่านศุลกากรคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย มีนายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ให้การต้อนรับ โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้มาประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบคุมเข้มการลักลอบเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในระลอก 2
ซึ่งในวันนี้ผมจึงได้ลงพื้นที่มาประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและกำหนดมาตรการในการกำชับให้เพิ่มความเข้มงวดตรวจตราตามแนวชายแดน และตั้งจุดตรวจสกัดกั้นการลักลอบเข้ามาในประเทศไทย
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อมารับฟังสภาพปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ในประเด็นต่างๆ อาทิ การเปิดตลาดโรงเกลือ การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายหลังการผ่อนคลาย การบังคับใช้มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาด และยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ตามแนวตะเข็บชายแดน ว่าจะมีวิธีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาอย่างไร
รวมทั้งการกำหนดสถานที่กักตัว 14 วัน การตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ว่าจะมีสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ที่ใดบ้าง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะรับสมัครผู้สนใจเสนอสถานที่กักกัน (Alternative Local Quarantine : ALQ) เพื่อกักกันแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่จะเข้ามาทำงานตามระบบเอ็มโอยู ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบมาตรฐานของสถานที่ และการกำหนดวิธีการดำเนินการอย่างไรบ้าง
รมว.แรงงาน ยังกล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในภาคเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการทำงานในไร่อ้อย นายมนตรี ดำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา แจ้งความต้องการแรงงานเพื่อมาทำงานตัดอ้อย ประมาณ 10,000 คน หากไม่สามารถหาแรงงานมาดำเนินการตัดอ้อยได้จะเกิดความเสียหาย
นอกจากนี้ ชาวสวนลำไย ซึ่งมีพื้นที่ทำสวน ประมาณ 58,000 ไร่ ก็มีความต้องการแรงงาน ประมาณ 1,000 คนเช่นกัน แต่จะขอใช้แรงงานกัมพูชาจากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีความชำนาญในการเก็บลำไย มาเก็บลำไยในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
ส่วนการเฝ้าระวังการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชาสัมพันธ์และตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวอย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ กองกำลังบูรพา จัดชุดตรวจ ลาดตระเวน แนวชายแดนไทย – กัมพูชา อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันมิให้แรงงานกัมพูชาลักลอบเข้ามาในประเทศ ส่วนการสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัดสระแก้วได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วในการสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว
โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดทำหน้าที่คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเป็นช่างฝีมือ ผู้ชำนาญสระแก้ว เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วหลายครั้งรวมแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการตรวจมากกว่า 1,000 คน ซึ่งปรากฎว่าไม่พบผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด
“จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ติดชายแดนกัมพูชา มีการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ที่ประมาณ 12,000 – 22,000 คน เป็นแรงงานที่นำเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู ครูสอนภาษา และแรงงานภาคเกษตร ซึ่งเป็นแรงงานจำนวนมากที่สุด แบ่งเป็น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อนสถานการณ์โควิด –19 จำนวน 21,205 คน และในปัจจุบันเดือนกันยายน 2563 จำนวน 2,746 คน
ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้จะทำให้รับทราบสภาพปัญหาจากผู้ประกอบการภาคเอกชนโดยตรงเกี่ยวกับความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว รวมทั้งขั้นตอนการกักตัวและสถานที่กักตัวตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวจากโควิดโดยเร็ว” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด