ออมสิน จับมือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งเป้าพัฒนา 5,000 ราย ได้ต่อยอดอาชีพอย่างยั่งยืน

วันนี้ (2 ตุลาคม 2562) ณ ห้องรามจิตติ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ตลอดจนเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบและมีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้ดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านกลไก 3 สร้าง คือ สร้างความรู้/อาชีพ สร้างตลาด/รายได้ และสร้างประวัติทางการเงิน เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงในชีวิต ตามนโยบายของรัฐบาล จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน, โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น รวมทั้งได้ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินโครงการนำร่องช่างประชารัฐมืออาชีพ ต่อยอดผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ผ่านการอบรมอาชีพช่างกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในปี 2561 ได้ทดลองหลักสูตรเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Up Skill) จนผ่านหลักสูตรและได้รับใบวุฒิบัตร และยังเพิ่มช่องทางการตลาดหารายได้เพิ่ม ผ่านทางเว็บไซต์ร้านช่างประชารัฐ และ Application Xarapat ส่งเสริมให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีงานทำ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว โดยธนาคารออมสินจะสนับสนุนผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมฝีมือแรงงานหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ทั้งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบุคคลทั่วไป ที่สนใจจะประกอบอาชีพ ได้รับความรู้ทางการเงินและเข้าถึงบริการทางการเงิน ผ่านสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่ผ่านการอบรมพัฒนาทักษะอาชีพกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และต้องการนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ สามารถขอสินเชื่อผู้ใช้แรงงาน สินเชื่อสตรีทฟู้ด สินเชื่อธุรกิจห้องแถว สินเชื่อ Smart Home Stay หรือ ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น กับธนาคารออมสินได้

“ความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในครั้งนี้ จะมีการดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเพิ่มทักษะเป็นผู้ประกอบการและสมัครขึ้นทะเบียนช่างประชารัฐ กับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ 77 แห่ง ซึ่งธนาคารฯตั้งเป้าหมายในปี 2562 ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถต่อยอดอาชีพได้จำนวน 5,000 ราย ในปีนี้” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า เพื่อสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือและจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งที่ผ่านมากรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ให้การสนับสนุนการฝึกอาชีพแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแบ่งออกเป็นเพื่อประกอบอาชีพอิสระในสาขาอาชีพต่างๆ ได้แก่ ช่างเชื่อม ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างทำผม เป็นต้น มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 270,167 ราย และช่างอเนกประสงค์(ช่างชุมชน) สาขาอาชีพต่างๆ ได้แก่ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างปูกระเบี้อง และช่างประปา มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 15,434 ราย รวมทั้งสิ้น 285,601 ราย

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้บูรณาการร่วมกับธนาคารออมสิน ในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือสาขาความรู้เบื้องต้นการประกอบธุรกิจสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะเวลาการฝึก 12 ชั่วโมง โดยนำร่องฝึกอบรมไปแล้วในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 43 ราย และจะขยายผลการดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากเป้าหมาย 5,000 ราย ในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะฝีมือ และเข้าถึงแหล่งบริการทางการเงิน จนสามารถนำไปประกอบอาชีพ รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว รองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต.

Written By
More from pp
“บุฟเฟต์ทะเลยกชั้น 690 บาท” จ่ายหลักร้อย ฟินหลักล้านนน!! ที่ ใบหยกบุฟเฟต์ โรงแรมใบหยก สกาย
ฉลองวันหยุดสุดสัปดาห์กับครอบครัว สำหรับมื้อกลางวันที่ ห้องอาหาร Bangkok balcony (indoor) ชั้น 81 กับโปรโมชั่นสุดฮอต “บุฟเฟต์ทะเลยกชั้น”
Read More
0 replies on “ออมสิน จับมือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งเป้าพัฒนา 5,000 ราย ได้ต่อยอดอาชีพอย่างยั่งยืน”