รมช.แรงงาน จับมือ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เยือนเมืองแพร่อีก 1 จังหวัด ย้ำ! พร้อมทำงานช่วยเหลือพี่น้องแรงงานและสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 อย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดแพร่ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ ท่ามกลางน้ำป่าไหลหลากทั้ง 2 จังหวัด แพร่-น่าน เพื่อจัดเตรียมทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรีช่วยเหลือประชาชนหลังน้ำลด
รมช.แรงงาน กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสเดินทางมาเปิดงานโครงการกระทรวงแรงงานสานพลังขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดแพร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในโอกาสที่ได้มาตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดแพร่ ตามโครงการการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน
ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนจึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกกระทรวง ลงพื้นเร่งด่วน เพื่อพบปะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆในทุกจังหวัด ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานราชการในจังหวัด และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน มี 5 หน่วยงาน ที่ตั้งอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการแรงงานจังหวัด และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด ซึ่งจะคอยให้บริการ สนับสนุนและส่งเสริม ช่วยเหลือแรงงานทุกด้าน เพื่อความสุข ความมั่นคงของประชาชนต่อไป
ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดแพร่ที่เกี่ยวข้อง บรรยายสรุปทิศทางการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แนวทางการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของจังหวัดแพร่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตรการป้องกันและการเตรียมความพร้อมกรณีมีการแพร่ระบาด มาตรการและแผนงานโครงการในการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นภาพรวมทั้งจังหวัด รวมถึงข้อมูลด้านสถานการณ์แรงงาน และผลการขับเคลื่อนด้านแรงงานจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน
สำหรับจังหวัดแพร่มีประชากร 441,726 คน กำลังแรงงาน จำนวน 241,704 คน มีแรงงานอิสระ 149,268 คน มีผู้สูงอายุถึง 100,880 คน ติดอันดับ 4 ของประเทศ และมีผู้พิการ จำนวน 22,883 คน แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในจังหวัด จำนวน 1,498 คน มีการผลิตผ้าหม้อห้อม และเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก เป็นสินค้า OTOP ที่สำคัญของจังหวัด
“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้การทำงานในพื้นที่มีความเข้มแข็งขึ้น เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและสำรวจอุปสรรคในการพัฒนาจังหวัด รวมถึงประเด็นที่จังหวัดต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อรวบรวมและนำเสนอในที่ประชุม ครม. ต่อไป” รมช.แรงงาน กล่าวท้ายที่สุด