“ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ” จับมือหลายองค์กรชาวมุสลิมไทย จัดเสวนาวิชาการ “สรรค์สร้างความเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ฮาลาล” สร้างความเชื่อมั่นเครื่องหมายรับรองฮาลาลไทย

จากกรณีที่มีการปลอมแปลง “ขายเนื้อหมูปลอมเป็นเนื้อวัว” หลอกขายระบาดหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ดังนั้น สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรมปศุสัตว์ สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและวิสาหกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดงานเสวนาวิชาการ “สรรค์สร้างความเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ฮาลาล” (Trust Halal Products) ขึ้น คาดหวังเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นต่อเครื่องหมายการรับรองฮาลาลประเทศไทยต่อไป โดยมี

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องด้วยเกิดเหตุการณ์การปลอมแปลงเนื้อสุกรมาตบแต่งและจำหน่ายเป็นเนื้อวัว หรือการระบาดของเนื้อวัวเทียมที่ใช้เนื้อสุกรหมักด้วยเลือดวัวระบาดในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยจัดจำหน่ายในตลาดสดชุมชนมุสลิมและช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการส่งตัวอย่างเข้ามาตรวจวิเคราะห์ (ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 – 22 กรกฎาคม 2563) จำนวนทั้งสิ้น 42 ตัวอย่าง

ทั้งในรูปแบบที่เป็นเนื้อสดและผ่านการปรุงเป็นอาหาร สรุปผลการวิเคราะห์เป็นเนื้อวัวปลอมที่ทำจากเนื้อสุกรหมักด้วยเลือดวัวสูงถึงร้อยละ 70 และที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก คือ เนื้อวัวที่จัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเนื้อวัวปลอมถึง 100% ซึ่งเกิดผลกระทบและความวิตกกังวลต่อผู้บริโภคมุสลิมและผู้บริโภคอาหารฮาลาลเป็นอย่างมาก และอาจเกิดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย ปัญหาดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการทำลายความเชื่อถือของผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลก ที่มีประชากรกว่า 2,000 ล้านคน ตลอดจนสังคมในวงกว้างรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เดินทางหรือมาใช้บริการต่างๆ ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการวิตกกังวลต่อการปลอมแปลงเนื้อสุกร รวมทั้งการส่งออกอาหารไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมอีกด้วย

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาราเล่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรมปศุสัตว์ สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิมและคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล จึงได้จัดเสวนาวิชาการ “สรรค์สร้างความเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ฮาลาล” (Trust Halal Products)

เพื่อกำหนดแนวทางมาตรฐาน และค่านิยมในเครื่องหมายฮาลาลให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวกับธุรกิจการค้าเนื้อ ไม่ว่าจะเป็น โรงเชือด เขียงเนื้อ พ่อค้า ผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางในการป้องกันการปลอมปนเนื้อสัตว์ รวมทั้งผลักดันกิจการเหล่านี้ให้ได้รับการรับรองฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอีกด้วย

โดยกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้รับฟังข้อมูลและแนวทางดำเนินการในการป้องกันการปลอมแปลงเนื้อสัตว์ จากวิทยากรและผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งในประเด็น ฮาลาล สำคัญเพียงไหน รู้ได้อย่างไร, มาตรฐานฮาลาลกับการคุ้มครองผู้บริโภค, การรับรองฮาลาลประเทศไทยกับสิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการปศุสัตว์ และการปกป้องสิทธิและกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยได้เกียรติจาก นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นต่อเครื่องหมายการรับรองฮาลาลประเทศไทยต่อไป

ในการนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้จัดทำโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ขึ้น เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีของเครื่องหมายฮาลาล และเป็นการเฝ้าระวังอันตรายการปลอมแปลงเนื้อสุกรเป็นเนื้อวัว รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ที่ได้การรับรองฮาลาล ให้แก่ผู้บริโภครับทราบสามารถเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ถูกต้องตามหลักการฮาลาล เป็นแนวทางในการป้องกันและคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมและมิใช่มุสลิมอีกทางหนึ่งด้วย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวปิดท้าย


0 replies on ““ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ” จับมือหลายองค์กรชาวมุสลิมไทย จัดเสวนาวิชาการ “สรรค์สร้างความเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ฮาลาล” สร้างความเชื่อมั่นเครื่องหมายรับรองฮาลาลไทย”