8 สิงหาคม 2563 เวลา 13.40 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาคุณภาพผลไม้ร่อนพิบูลย์ โดยมี นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช นายสุชาติ สินรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน นายมนตรา พรหมสินธุ นายอำเภอร่อนพิบูลย์ นายตรี วิสุทธิคุณ พบปะและร่วมหารือกับชาวสวนผลไม้ (เงาะ มังคุด ทุเรียน) ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาคุณภาพผลไม้ อําเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ร่วมเป็นสักขีพยานกิจกรรมลงนาม MOU การเชื่อมโยงตลาดออนไลน์ และออฟไลน์ กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้อำเภอร่อนพิบูลย์ กับแพลตฟอร์มออนไลน์ Shopee Lazada JJMall ไปรษณีย์ไทย และห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรด (เซ็นทรัล เดอะมอลล์ โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี) กับ ผู้ประกอบการรวบรวมและส่งออกผลไม้ กิจกรรมแลกเปลี่ยนสินค้า(Barter Trade) มันแกวกับอาหารทะเล
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตั้งใจว่ามาครั้งนี้จะมาช่วยพวกเรา โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ซึ่งในอดีตบางปีมีปัญหามาก แต่ปีที่แล้วและปีนี้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะผมมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ตั้งแต่มารับผิดชอบเราไม่ปล่อยให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยเข้ามาแก้แต่เรามาแก้ตั้งแต่ต้นเรียกว่ามาตรการเชิงรุก ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วผลไม้ทุกชนิดหลายคนกลัวว่าจะไม่รอดเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี วิกฤติโควิดก็ทำให้ผลไม้หลายตัวที่เราพึ่งตลาดส่งออกลำบากเพราะไม่มีช่องทางการส่งทางเรือมีปัญหา ด่านก็ปิด สนามบินก็ปิด เลยหาทางออกและเตรียมการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น
ตนร่วมกับอธิบดีกรมการค้าภายใน นายวิชัย โภชนกิจและคณะไปเตรียมการแก้ปัญหาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งแต่ผลไม้ยังไม่ออกไปประชุมร่วมกับชาวสวนผลไม้ทั่วประเทศ ล้ง อุตสาหกรรมแปรรูป และผู้ส่งออก ที่จังหวัดจันทบุรี และกลับมาประชุมที่กระทรวงต่อ หาวิธีจูงใจให้ชาวสวนผลไม้สามารถขายผลไม้ได้ราคาดีขึ้น
โดยออกมาตรการ เช่น ผู้รวบรวมผลไม้ได้ชดเชยกิโลกรัมละ 3 บาท เพราะการรวมคือการซื้อผลไม้จากชาวสวน หากใครส่งออกก็จะได้เพิ่มเป็น 5 บาทต่อกิโลกรัม ผลไม้จะได้หมุนเวียนไม่เช่นนั้นจะต้องพึ่งพาตลาดคนไทยอย่างเดียว สิ่งที่เราพยายามคือทำให้ผลไม้ไทยข้ามชายแดนไปได้ แต่ด่านปิด เราต้องเจรจากับทุกด่าน ตอนนี้เปิดได้เกือบทุกด่านแล้ว
“ผลไม้ปีนี้ถึงสามารถระบายไปได้ ไม่ทำให้ราคาทรุดลงมา และทางเรือ ทางอากาศ เมื่อสนามบินเริ่มเปิดสายการบินหลายสายการบินก็ขนผลไม้ไปเมืองนอกได้ เช่น เจแปนแอร์ไลน์ ส่งไปญี่ปุ่น เกาหลี และสำคัญเราช่วยกันปรับตัวสู่ยุค New Normal ยุคที่ทั้งโลกเปลี่ยนจากการขายระบบปกติเป็นการขายออนไลน์
เลยมีแพลตฟอร์มชื่อดังของประเทศหลายแห่ง เปิดโอกาสให้ผลไม้ไทยขึ้นไปขาย ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์จัดเทศกาลกินผลไม้ไทยสองเดือนเต็ม เดือนทองของผลไม้ไทย ช่วยระบายผลไม้ได้มากผ่านการค้าออนไลน์ และเรายังมีรูปแบบอื่นๆ มาพัฒนาใช้เช่นการทำสัญญาเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming)
โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรช่วยเป็นตัวกลางหาเกษตรกรมาพบกับผู้ซื้อ ซึ่งต้องซื่อตรงต่อกันให้เรามีหลักประกันและจะกำหนดรายได้ของเราได้ชัดเจนของแต่ละครอบครัวเกษตรกร อยากให้ทุกคนที่เซ็นต์รักษาสัญญาจะทำให้เรามีอนาคตที่ยังยืน และรูปแบบแลกเปลี่ยนสินค้า (Barter Trade)
ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีแต่มีของเช่นวันนี้เรามีมันแกวอีกฝ่ายมีปลาแห้งเอาปลาแห้งกับมันแกวแลกกันเลย เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราอยู่รอดได้ ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดให้ทำหน้าที่เซลล์แมนจังหวัดด้วยช่วยเกษตรกรขายของช่วยพ่อค้าขายของหาตลาดเอาของบ้านเราไปแลกเปลี่ยนกับบพาณิชย์จังหวัดอื่น และระบายไปยังห้างโมเดิร์นเทรดที่สำคัญเอาของไปขายโดยไม่คิดค่าพื้นที่หรืออาจคิดในราคาพิเศษ มีหลายห้างที่มาให้ความร่วมมือแพลตฟอร์มก็ให้พื้นที่พิเศษไม่คิดค่าเปอร์เซ็นต์ รวมถึง Thailand Postmart ของไปรษณีย์ไทย ที่ให้ขนส่งฟรีถึง 200 ตัน”
รายงานกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผลผลิตผลไม้ทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 20% แต่ภาพรวมการผลิตผลไม้ภาคใต้ 14 จังหวัดปี 2563 รวม 844,003 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.6% ได้แก่
ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง เดือนสิงหาคม ภาคใต้จะมีผลไม้ออกมากที่สุด สำหรับภาคใต้นั้น จังหวัดที่มีผลผลิตมากที่สุดคือชุมพร รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา นราธิวาส ระนอง เป็นต้น
โดยในปี 2563 ราคาผลไม้สูงขึ้น คือ ทุเรียนหมอนทองเกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 96 บาทจากราคาเฉลี่ยเมื่อเดือนสิงหาคมปี2562 คือ 73 บาท ราคาเพิ่มขึ้น 32% มังคุดกิโลละ 46.6 บาทเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 28%
เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) มี 9 มาตรการ ให้ดูแลชาวสวนผลไม้มาตลอด คือ มาตรการบริหารจัดการด้านแรงงาน มาตรการดูแลความเป็นธรรมทางการค้า มาตรการส่งเสริมซื้อขายผ่านสัญญาข้อตกลง มาตรการเชื่อมโยงกระจายผลผลิต มาตรการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย มาตรการรณรงค์การบริโภคในประเทศ มาตรการการผลักดันการส่งออก มาตรการเสริมสภาพคล่อง และมาตรการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการผลไม้ โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์