เมื่อเด็กเกียมขอร้องสื่อ

ผสมโรง

สันต์ สะตอแมน

เกิดพ.ศ. 2491..

ถึงวันนี้ คุณสุรชัย จันทิมาธร  หรือ “หงา คาราวาน” ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต นับอายุก็ 72 ปีเข้าไปแล้ว

แต่..เท่าที่ดู-ที่เห็น น้าหงายังกระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง ยิ่งตอนเล่นกีต้า-ร้องเพลงอยู่หน้าเวทีด้วยแล้ว ยิ่งเห็นชัดว่าสุขภาพยังแข็ง-แรงดี ส่วนจะ “เตะปี๊บดัง” อยู่หรือไม่นั้น..

เจอหน้า (กล้า) ก็ลองถามเอาเองเถอะ!

นี่..ที่พูดถึงอายุของน้าหงา ก็ไม่ได้จะเอา “ความแก่-ความเก่า” มาตอกย้ำอะไรหรอก เพียงแต่วันก่อนได้อ่านกลอนที่ศิลปินแห่งชาติท่านนี้โพสต์ลงเฟซบุ๊กแล้วชอบ..

จึงทำให้อยากรู้..ปีนี้น้าหงาอายุเท่าไหร่แล้ว ก็เท่านั้น!

ซึ่งกลอนที่ว่า ผู้อ่านน่าจะได้ผ่านตาไปบ้างแล้ว หรือหากยังไม่เห็น ก็เชิญทัศนา..

อย่าเย่อหยิ่งทะนงตนคนรุ่นใหม่

ไม่กี่ปีผ่านไปมันก็เก่า

ความเป็นคนที่แท้อยู่แก่เรา

จะแก่เฒ่าสาวหนุ่มก็กลุ่มคน.

และไหนๆ อ่านกลอนนี้แล้ว ก็อยากให้อ่าน “แถลงการณ์” ของม็อบลูกๆหลานๆ “กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ” ที่ส่งถึงสื่อมวลชนต่อ ซึ่งก็พอจะเชื่อมโยงกันได้ ดังนี้..

กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ เล็งเห็นความสำคัญของสื่อมวลชนและเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นอย่างดี จึงขอขอบคุณและหวังว่าจะได้รับความสนใจจากสื่อในกิจกรรมครั้งต่อๆ ไป เฉกเช่นครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพที่เปิดเผยตัวตนของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนอาจสร้างความเสี่ยงจากกลุ่มบุคคลอื่นนอกเหนือจากรัฐให้แก่ผู้ชุมนุมมากขึ้นโดยไม่จำเป็นโดยความเสี่ยงส่วนหนึ่ง ได้แก่

1.ผู้ปกครอง ซึ่งเยาวชนต้องพึ่งพาเพื่อปัจจัยในการดำเนินชีวิต เช่น เงิน อาหาร ที่อยู่อาศัยและปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตอื่นๆซึ่งผู้ปกครองอาจมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับเยาวชน และอาจทำให้เยาวชนเหล่านั้นถูกปิดกั้นเสรีภาพ

2. สถานศึกษา ซึ่งเยาวชนในฐานะนักเรียนแทบไม่มีอำนาจต่อรอง ครูมักมีพื้นที่และเป็นที่เชื่อถือในสถาบันมากกว่า ครูมีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกับเยาวชน อาจกระทำการใดๆ ทีส่งผลร้ายต่อเยาวชนเหล่านั้น เช่น พูดจาให้ร้าย ให้คะแนนอย่างไม่เป็นธรรม หรือแม้แต่การไล่ออก

3. ความเสี่ยงจากบุคคลอื่น เมื่อภาพและอัตลักษณ์ของเยาวชนได้ถูกเผยแพร่ไปแล้ว เยาวชนเหล่านั้นย่อมเสี่ยงตกเป็นเป้าของผู้มีประสงค์ร้ายทางการเมือง ซึ่งเยาวชนอาจถูกใส่ร้าย หรือถูกคุกคามทางเพศ

กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ จึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้ 

1. ถ่ายเพียงแบบ Extreme long shot, Long shot, Medium long shot และ Medium shot โดยสองแบบหลังให้เบลอหรือถมทับหน้าผู้ชุมนุม

2. ไม่ถ่ายแบบ Close up หรือ Extreme close up เด็ดขาด 

3. หากถ่ายแบบเจาะจงบุคคล ให้ขออนุญาตและตกลงกับผู้ชุมนุมเกี่ยวกับเงื่อนไขในการถ่าย

4. รับฟังและปฏิบัติตามคำขอของผู้ชุมนุมที่ประสงค์ให้ลบภาพหรือวิดีโอของตนที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว

เป็นไง? อ่านแล้วเกิดความรู้สึกเหมือนผมรึเปล่าไม่ทราบ ที่ให้นึกรัก-เอ็นดูลูกๆ หลานๆกลุ่มนี้ขึ้นมาจับจิต-จับใจกับความคิด-ความอ่านที่ใสซื่อบริสุทธิ์ แต่ เอ๊ะ..

ใช่ ประชาธิปไตยหรือ?


Written By
More from pp
ศิลปินแห่งชาติ..อีกแล้ว
ผสมโรง สันต์ สะตอแมน  “จบบริบูรณ์” หรือจบลงแค่บางฉาก-บางอารมณ์.. นั่น..ก็ขึ้นอยู่ลูกหลานย่าโม-ย่าบุญเหลือแล้วล่ะ จะยอมให้อภัยแบบไม่ติดอกติดใจ หรือ “ให้อภัย” ไปตามมรรยาท?
Read More
0 replies on “เมื่อเด็กเกียมขอร้องสื่อ”