คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) เตรียมความพร้อม 3 ด้าน รับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หากได้รับการผ่อนปรนหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมประชุม พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมื่อสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) คลี่คลาย
นายแพทย์ธเรศกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการ 3 ด้าน ได้แก่
1.จัดทำแนวทางการรักษาพยาบาลพร้อมเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งรวมผู้ติดตาม โดยแบ่งเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospital Quarantine) กักกันตัวผู้ป่วยชาวไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในไทย และสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) สำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติและผู้ติดตาม ต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า โดยรักษาและกักกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน
ต้องมีผลการตรวจโควิด 19 ก่อนเข้าประเทศไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อเข้ามารักษาต้องมีการตรวจอีก 3 ครั้ง (ก่อนรักษา ระหว่างรักษา และหลังการรักษา) เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่นำเชื้อมาแพร่ระบาดในไทย โดยค่าใช้จ่ายในการรักษากรณี Hospital Quarantine หากเป็นคนไทยเป็นไปตามสิทธิการรักษา หากเกินสิทธิ์ต้องจ่ายเองโดยสมัครใจ กรณี Alternative Hospital Quarantine ผู้ป่วยต่างชาติและคนไทยที่สมัครใจต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
2.เห็นชอบให้ “ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงของโลกด้านการดูแลสุขภาพ” โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Medical Hub ภายใต้แนวคิด “Healthcare Capital of the World” และกำหนดข้อความสำคัญในการสื่อสารว่า “Beyond Healthcare, Trust Thailand” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการกลับเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย และ
3.มาตรการพัฒนาชุดเครื่องมือแพทย์รองรับการระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อรับมือและลดโอกาสติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อวิด 19 โดยเน้นการผลิตในประเทศไทย แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ เครื่องมือแพทย์สำหรับการคัดกรองและตรวจสอบโรค เครื่องมือแพทย์สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค เครื่องมือแพทย์สำหรับการคัดแยกและการฆ่าเชื้อ และเครื่องมือแพทย์สำหรับการบำบัดรักษาโรค โดยเน้นการผลิตในประเทศไทย