ศบค. ขอความร่วมมือประชาชน ช่วยสอดส่องผู้เดินทางข้ามพรมแดนผิดกฎหมาย ย้ำความจำเป็นในการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจในการป้องกันโรคมากกว่า พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

29 มิ.ย. 63 เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนที่สอบถามผ่านโซเชียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. ชี้แจงถึงกรณีการลักลอบเดินทางข้ามพรมแดนเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อประชาชนในพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงติดตามตรวจสอบ พบผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ขอบชายแดนรอบประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. จนถึงวันนี้
ยอดจำนวนผู้กระทำผิดสะสม 2,498 ราย จากประเทศ เมียนมา 1,276 ราย จาก สปป. ลาว 142 ราย จากกัมพูชา 1,016 ราย จากเวียดนาม 4 ราย จากจีน 6 ราย จากอินเดีย 27 ราย และอื่น ๆ อีก 27 ราย รวมถึงยังพบคนต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ตอนในอีกด้วย อย่างไรก็ตาม โฆษก ศบค. ขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลผู้ที่จะเดินทางข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ชายแดนนั้นไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคเท่าในท่าอากาศยาน จึงไม่สามารถวางใจได้
โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีความจำเป็นในการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อเป็นเวลา 35 วันติดต่อกัน เนื่องจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ นั้นให้อำนาจในการป้องกันโรคมากกว่า พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อาทิ การควบคุมการเดินทางเข้า-ออก ในราชอาณาจักรทุกช่องทาง การจัดทำระบบติดตามตัว กักตัว หรือการเฝ้าระวัง และการควบคุมโรคโดยการใช้มาตรการครอบคลุมกิจการ/กิจกรรม ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ยังมีความจำเป็นเรื่องการบรูณาการ เอกภาพ และประสิทธิภาพ ในการทำงานร่วมกันของหลายกระทรวง ตัวแทนจากหลายภาคส่วน ที่ได้มีการประชุมหารือกันทุกวัน


ในโอกาสนี้ โฆษก ศบค. เผยถึงการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติ รวมถึงกลุ่มคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในต่างประเทศ โดยย้ำว่ายังไม่เปิดการเดินทางอย่างเสรี และใช้มาตรการเดิมคือการเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine หรือกรณีกลุ่มชาวต่างชาติเดินทางมาในระยะสั้นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ากระบวนการ State Quarantine จะต้องเดินทางผ่านเที่ยวบินที่จัดให้สำหรับเดินทางพาคนไทยกลับ (Repatriation flight) เท่านั้น เพื่อความสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ในตอนท้าย โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมถึงการเตรียมผ่อนคลายมาตรการระยะ 5 เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้กลับสู่การใช้ชีวิตปกติแบบวิถีใหม่ (New Normal) และย้ำว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ นั้นใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเท่านั้น ทั้งนี้ หากการผ่อนคลายมาตรการระยะ 5 เป็นไปอย่างเรียบร้อย อาจมีการปรับลดวันการแถลงสถานการณ์ประจำวัน ณ ศบค. เหลือเพียงวันจันทร์ และวันพฤหัสบดีต่อสัปดาห์

Written By
More from pp
รมว.สุชาติ มอบ โฆษกแรงงานเยือนเชียงราย เยี่ยมการฝึกอาชีพชุมชน ตชด.
21 มิถุนายน 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วย...
Read More
0 replies on “ศบค. ขอความร่วมมือประชาชน ช่วยสอดส่องผู้เดินทางข้ามพรมแดนผิดกฎหมาย ย้ำความจำเป็นในการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจในการป้องกันโรคมากกว่า พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558”