นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดูแลเกษตรกรว่า รัฐบาลได้ดำเนินการดูแลเกษตกรทั่วประเทศในหลายๆด้าน ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในด้านการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการโอนเงินงวดแรกถึงบัญชีเกษตรกรแล้ว (ข้อมูล 4 มิ.ย.) 7.1 ล้านราย รวมเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนปัญหาการแก้หนี้เกษตรกร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้เร่งรัดและดำเนินการจนมีการออกประกาศและระเบียบให้กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ สามารถวางเงินชำระหนี้แทนเกษตรกรในชั้นบังคับคดีได้ ทำให้ที่ทำกินเกษตรกรไม่ถูกขายทอดตลาด โดยมีเกษตรกรรายแรกได้รับการแก้ปัญหาไปเมื่อ วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา และจะมีเกษตรรายอื่น ๆ ทั่วประเทศอีก 2,743 ราย
มากไปกว่านั้น ยังมีการเตรียมการเพื่อออกมาตรการพักหนี้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ เป็นเวลา 1 ปี ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการแก้ระเบียบ และอีกเรื่องหนึ่งที่เกษตรกรรอคอยมานาน คือการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้สามารถเข้าไปจัดการหนี้เกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีการประกาศใช้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรเกือบ 4 แสนราย
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ณ เวลานี้ได้ความชัดเจนเรื่องแนวทางการเจรจาเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การชำระเงินต้นและดอกเบี้ยกับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จะเริ่มกระบวนการเจรจาจากนี้ไป
“การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างรอบด้าน มีทั้งเรื่องการปรับแก้กฏหมาย/ระเบียบ และการเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งจะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้มาก มีเกษตรกรหลายรายเป็นหนี้ขึ้นทะเบียนมากว่า 20 ปี หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เป็นตามที่ตั้งเป้าไว้ เกษตรกร 4.4 หมื่นราย จะได้รับการลดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มีที่ดินทำกิน ในขณะที่ธนาคารเจ้าหนี้ไม่ต้องเสี่ยงต่อหนี้สูญ” นางสาวรัชดา กล่าว