กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาการใช้ตัวอย่างน้ำลาย และรวมตัวอย่างตรวจโควิด19

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาการใช้ตัวอย่างน้ำลาย และการรวมตัวอย่าง  ตรวจสำหรับคัดกรองโรคโควิด 19 โดยร่วมกับกรมควบคุมโรค ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มเสี่ยง อาทิ แรงงาน พนักงานโรงงาน คนขับรถสาธารณะ ฯลฯ เผยผลการเก็บตัวอย่างตรวจที่ผ่านมา 11,236  ตัวอย่าง พบผลบวก  1 ตัวอย่าง ตั้งเป้า 100,000 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ได้พัฒนาการใช้ตัวอย่างน้ำลายในการตรวจ COVID-19 เพื่อใช้ในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องทำการตรวจคัดกรองคนจำนวนมาก เนื่องจากกระบวนการเก็บใช้เวลาไม่นาน ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างได้เอง และอุปกรณ์ในการเก็บหาได้ง่าย ราคาไม่แพง

จึงได้จัดทำโครงการนำร่องคัดกรองโรค COVID-19 ในกลุ่มเสี่ยง เขตสุขภาพที่ 4 และ 5 ขึ้น โดยการเก็บตัวอย่างน้ำลาย   จากส่วนลึกของลำคอ จากกลุ่มเสี่ยงและชุมชนแออัด เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มผู้ขับรถรับจ้างและขนส่งสาธารณะ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น จำนวนรวม 6,380 ตัวอย่าง พบผลบวก  1 ตัวอย่าง และผลลบ 6,379 ตัวอย่าง

ข้อมูลนี้ช่วยสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า การระบาดในประเทศไทยมีอัตราที่ต่ำมาก เนื่องจากไม่พบการระบาดในชุมชน ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบนั้นล้วนเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ผลการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงนี้ทำให้ได้ข้อมูลเชิงระบาด  ที่มีความสำคัญต่อการวางมาตรการควบคุมโรคในระยะถัดไป


ซึ่งกรมควบคุมโรคร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะทำการขยายผลการคัดกรองโรค COVID-19 เชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและชุมชน โดยตั้งเป้าทำการคัดกรองทั่วประเทศในเขตสุขภาพทั้ง  12 เขต และเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 89,993 ราย โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้การดำเนินการ  ในเขต กทม. ได้ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 4,856 จากเป้าหมาย 15,000 ราย พบผลตรวจเป็นลบทั้งหมด

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนให้การตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ในวงกว้างมีความเป็นไปได้   ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้พัฒนาการตรวจแบบรวมตัวอย่าง หรือ Pool Sample เพื่อเป็นการลดต้นทุนการตรวจ และทำให้เข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าการตรวจโดยรวมตัวอย่างจำนวน 6 ตัวอย่าง จะสามารถลดต้นทุนการตรวจลงเหลือเพียง 1 ใน 4 โดยมีความไวต่ำกว่าการตรวจแบบปกติเล็กน้อย  ซึ่งยังคงสามารถนำวิธีดังกล่าวมาใช้ในการเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยง หรือสถานที่เสี่ยงในลักษณะการเฝ้าระวังเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ที่มีอัตราการตรวจพบ COVID-19 น้อยกว่าร้อยละ 1 ของกลุ่มประชากรได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ในต่างประเทศมีการใช้ตัวอย่างน้ำลายสำหรับตรวจเชื้อไวรัสทางเดินหายใจเนื่องจากเก็บตัวอย่างง่าย ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างได้เอง โดยความไวและความจำเพาะเมื่อใช้ตัวอย่างน้ำลายใกล้เคียงวิธีมาตรฐาน นอกจากนี้การศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีใช้การบ้วนน้ำลาย ความไวร้อยละ 84.2% ความจำเพาะ 98.9 % และ มีผลสอดคล้องกับการเก็บตัวอย่างวิธีมาตรฐาน NP Swab 97.5 %

“สำหรับการเตรียมตัวก่อนเก็บตัวอย่างน้ำลายนั้น สามารถเก็บตัวอย่างน้ำลายได้ทุกเวลา แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บน้ำลาย คือ ช่วงเช้าหลังตื่นนอน และไม่ควรแปรงฟัน หรือใช้น้ำยาบ้วนปาก ไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง ก่อนเก็บน้ำลายอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้รบกวนการแปลผลได้ นอกจากนี้การตรวจเชื้อโควิด 19 จากน้ำลาย จะไม่ใช้ตรวจในกลุ่ม PUI ผู้สัมผัสที่เกี่ยวข้องกับวงระบาด และในกลุ่มที่มีอัตราการตรวจพบโควิด 19 สูง ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างแต่ไม่มี PPE เท่านั้น” นายแพทย์โอภาส กล่าวทิ้งท้าย


Written By
More from pp
อีซูซุ จับมือ เอส เอฟ จัดงานเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา Digital Sound Check ชุดใหม่ล่าสุด “Infinite Potential” สะท้อนแนวคิด “พลานุภาพ…พลิกโลก!”
กลุ่มตรีเพชร โดย คุณปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ร่วมกับ โรงภาพยนตร์ในเครือ เอส เอฟ โดย คุณสุวิทย์ ทองร่มโพธิ์...
Read More
0 replies on “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาการใช้ตัวอย่างน้ำลาย และรวมตัวอย่างตรวจโควิด19”