เดี๋ยว………..
บอกก่อน เมื่อวาน ผมขอแรงคุณ “ผักกาดหอม” ช่วยคุยแทนหนึ่งวัน
เพราะได้เวลาต้องเดินทางไปไหว้ “หลวงพ่อทวด” ที่วัดช้างให้ ปัตตานี
ปีหนึ่ง ผมต้องไปครั้งหนึ่ง “เป็นอย่างน้อย” นั่นแหละครับ
แต่ปีนี้ “ขาประจำ” หายไป ๑ คน คือ “คุณสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์”
พูดถึงคำว่า “ตาย” ฟังดูมันเศร้า!
แต่ถ้าเข้าใจว่า มีตาย จึงมีเกิด, มีเกิด จึงมีตาย, ก็จะไม่เศร้า
เพราะการตายคือเงาของการเกิด และการเกิดคือเงาของการตาย เหมือนกลางคืนกับกลางวัน เหมือนตอนหลับกับตอนตื่น
เหล่านี้ เป็นกันและกัน “อยู่ในตัวเดียวกัน” เปลี่ยนถ่ายด้วยสันตติกาล คือกาลเวลาเชื่อมต่อ ที่แม้เราจ้องก็ยังมองไม่เห็น จนกว่าได้เข้าไปอยู่ในโซนสันตติกาลนั้นเอง
ดังนั้น คนที่ตายไปแล้ว เขาอาจดีใจ และร้องว่า…รู้งี้ ตายซะตั้งนานแล้วก็ได้
มีแต่เราๆที่อยู่นี่แหละ………อินและยึดติดอยู่กับหนังม้วนเก่า ด้วยไม่รู้ จึงเหงา จึงเศร้า จึงอาลัยหา
ถ้าเข้าใจหลักวัฏฏะ-สันตติกาล จากเศร้า จะเปลี่ยนเป็นอิจฉาทันที ที่เขาโชคดี ได้ตั๋วไปดูหนังเรื่องใหม่ก่อนเรา ท่านว่าจริงมั้ย?
คุณ “ผักกาดหอม” ให้คิวรับฝากวันเดียว
ดังนั้น วันนี้ ผมจึงต้องคุย “อัดแห้ง” ไว้ เพราะยังต้องเอ้อระเหยอยู่ ๓ จังหวัดใต้โน่น
เมื่อศุกร ๖ กันยา. มีใครได้ฟังที่นายกฯประยุทธ์ เดี่ยวไมโครโฟน เรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี บ้าง?
ผมดูคลิปตามเว็บไซต์……..
นายกฯ นี่ ท่านคงทำการบ้านตลอด ความจำแม่น เรื่องยุทธศาสตร์ พูดบ่อยจนอยู่ในหัวทุกเรื่อง คนพูดสบายๆ คนฟังก็พลอยสบายๆ (หู) ไปด้วย
ในหมวด “จัดซื้อยุทโธปกรณ์กองทัพ” นายกฯ พูดสะท้อนกึ๋นผู้นำดีทีเดียว เวิร์คพอยท์นิวส์เขาแกะคำไว้ ผมอาศัยด้วยละกัน
“การเป็นกองทัพชั้นนำ ต้องทั้งคน เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีความทันสมัยพอสมควร เทคโนโลยีบ้าง ไม่ใช่ บุโรทั่ง ไปสู้เขา ไปอวดเขาไม่ได้หรอกครับ
วันนี้ ทหารเรือไทยไปถึงไหน โซเวียต วอสต็อก เรือเก่ามากๆ มันก็อายเขา จอดไป ตายไป ตลอดทาง เขานัดกัน ๓ เดือน ๕ เดือน ยังไม่ถึงเลย มันก็ไม่ได้นะ มันต้องปรับเปลี่ยน ไม่ใช่ผมบอกอยากซื้อเมื่อไหร่ ถ้าไม่ซื้อได้ก็ดีสิ ทุกอย่าง เครื่องบิน ลองไปขึ้น เว้นแต่เครื่องบินตาหนู (อนุทิน ชาญวีรกูล) ปลอดภัย เครื่องบินบางลำ ๒๐ ปี ๓๐ ปี พอเกิดเหตุ เดี๋ยวตาย..เดี๋ยวตาย
ทุกคนต้องนึกถึงชีวิตของคนที่ใช้สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะบนบก ในทะเล บนอากาศ บางทีไป ไม่อยากจะไป นายสั่งให้ไป รัฐบาลสั่งให้ไป ผมไม่อยากไป
ผมอายเขาจริงๆ เขาพูดกันอย่างนี้ เพราะมันเก่า บุโรทั่งมากๆ ต้องดูในส่วนนี้พอสมควร
สัดส่วนที่เหมาะสม ที่จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ซื้อกันเกลื่อน ไม่มีเงินขนาดนั้นหรอกครับ
“เราต้องขายของให้ได้มากขึ้น” เวลาใครจะมาขายของ ผมบอก “คุณซื้อผมให้มากขึ้นหรือเปล่า”
ถ้าคุณซื้อเกษตรผมมากขึ้น ข้าว ยาง ปาล์ม อ้อย ผมจะซื้อเรือท่านมากขึ้น
เพราะซื้อเรือลำนึง เครื่องบินลำนึง ข้าวหมดไปเท่าไหร่ไม่รู้ กว่าจะแลกข้าว ไม่มีแลกได้พอหรอกครับ
อันนี้ ผมก็พูดกับทรัมป์เขาไปด้วย จะให้ซื้อยันเลย ซื้อเครื่องบินขับไล่ พร้อมขาย ผมก็พร้อมซื้อนะ แต่ขอมีเงินก่อน มันก็กดดันต่อรอง ต่างตอบแทนกันอยู่แบบนี้ ผมก็ต้องเจรจาให้ดี”
ครับ….
ผมว่าอันนี้ ใช้ได้เลย!
เป็นนายกฯจากนายทหารที่มีกึ๋นทางการค้า การเจรจา การต่อรอง และที่สำคัญ “ตกผลึก” ในนิสัย-สันดานชาติยุโรปตะวันตก
คือสังคมตะวันตก เท่าที่สังเกตุ ฝรั่งไม่รู้จักคำว่า “บุญคุณ” เหมือนสังคมตะวันออก ในซีกเอเชีย-อาเซียน มีแต่คำว่า “ต่างตอบแทน”
ในการเจรจากับทรัมป์ ถ้านายกฯ บอกว่า ไทยเคยมีบุญคุณกับสหรัฐฯนะ
King Rama 4Th ยังเคยเสนอประธานาธิบดี “อับราฮัม ลินคอล์น” จะส่งช้างไปช่วยในสงครามกลางเมืองเลย
หรือยกความเป็น “มิตรแท้-มิตรเทียม” หวังใช้เป็นแต้มต่อในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ทางธุรกิจค้าขายกับฝรั่ง กับทรัมป์
ฝรั่งบอก ยูเพ้ออะไร ไอไม่เข้าใจ แต่ถ้าพูดอย่างที่นายกฯ ประยุทธ์พูด
“คุณซื้อผมให้มากขึ้นหรือเปล่า ถ้าคุณซื้อเกษตรผมมากขึ้น ข้าว ยาง ปาล์ม อ้อย ผมจะซื้อเรือท่านมากขึ้น”
อย่างนี้ฝรั่งบอก Alright…Alright เหมือนดร.ดิเรกใน พล นิกร กิม หงวน เลย!
คำว่า บุญคุณ ก็ดี เอื้ออาทร ก็ดี ผมไม่ทราบ ว่ามีศัพท์ตรงๆ ในภาษาอังกฤษ เหมือนภาษาไทยหรือเปล่า?
แต่ในภาษาจีนมีแน่
เพราะวันก่อน อ่านเรื่องที่ผู้ใช้นามว่า “ขจรศักดิ์” แปลไว้ นานแล้ว แต่มีคนนำเผยแพร่เป็นระยะๆ
ผมเป็นแฟน “ขจรศักดิ์” นะ เขามักนำเรื่องมีคติชีวิตและสะท้อนสังคมจีนออกสอนใจบ่อยๆ
เจอที่ไหน อ่านครั้งใด ไม่เคยผิดหวัง ทั้งเรื่อง ทั้งสำนวนการถ่ายทอดภาษา อย่างเรื่อง “เอื้ออาทร” นี่เหมือนกัน สังคมตะวันออก อ่านแล้วอิน แต่ตะวันตก ผมไม่แน่ใจ ลองอ่านกันดูนะครับ
——————————–
ในสมัยราชวงศ์ชิง
ที่บ้านเกิดของรัฐมนตรีจาง ถิง อี้ แห่งเมืองถงเฉิน มณฑลอานฮุย ในระหว่างที่มีการซ่อมแซมกำแพงบ้าน เกิดมีกรณีพิพาทเรื่องที่ดินทับซ้อนกับบ้านข้างเคียง ตกลงกันไม่ได้ว่าที่ดินที่โต้เถียงกันเป็นของบ้านใครกันแน่
แม่ของท่านรัฐมนตรีจึงได้เขียนจดหมายถึงลูกที่รับราชการอยู่ที่ปักกิ่ง อยากให้ลูกสั่งการให้ข้าราชการท้องถิ่นออกมาจัดการเรื่องนี้
หลังได้รับจดหมายจากแม่แล้ว ท่านรัฐมนตรีจึงได้ตอบจดหมายถึงแม่ความว่า
“จดหมายมาไกลเพียงเพราะเรื่องกำแพง อย่าใจแข็งถอยสักสามฟุตจะเป็นไร กำแพงเมืองจีนทุกวันนี้ยังยิ่งใหญ่ แต่ไฉนจึงไร้เงาจิ๋นซีฮ่องเต้”
… ชีวิตไม่ใช่สนามรบ ไม่จำเป็นต้องเอาชนะคะคานกันจนถึงที่สุด ยอมถอยกันบ้าง ลดการวิวาท เลี่ยงความขัดแย้ง”
หลังจากแม่ได้อ่านจดหมายที่ลูกส่งมา จึงตัดสินใจย้ายแนวกำแพงถอยห่างเข้ามาสามฟุต (หนึ่งฟุตของจีนเท่ากับเศษหนึ่งส่วนสามเมตร)
คู่กรณีตระกูลเอี้ย เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์กลายเป็นเช่นนี้ เกิดความละอายใจขึ้นมาก็ถอยแนวกำแพงรั้วของบ้านตนร่นเข้าไปสามฟุตเช่นกัน
ระหว่างบ้านทั้งสองจึงกลายเป็นตรอกกว้างหกฟุตที่ผู้คนใช้สัญจรได้
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ล่วงรู้ถึงจักรพรรดิ์คังซีในเวลาต่อมา
พระองค์ทรงประทับใจในความเอื้ออาทรและการรู้จักมีความอะลุ่มอล่วยต่อกัน อยากให้เป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนทั่วไป
จึงทรงรับสั่งมีการสร้างหลักจารึกคำว่า “เอื้ออาทร” ไปประดิษฐานอยู่ที่บริเวณปากตรอก
จนกลายเป็นที่มาของ “ตรอกหกฟุต” อันโด่งดัง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อยู่จนทุกวันนี้ (หลักจารึกดังกล่าวได้รับการบูรณะใหม่ในปี 1999 ตัวอักษรสองตัว [เอื้ออาทร] ยังคงถูกจารึกอยู่เหนือซุ้มประตู)
ตำนาน “ตรอกหกฟุต” เพียงยอมถอยคนละ 3 ฟุต กลายเป็น “เอื้ออาทร” สอนลูกหลาน
บางสิ่งที่บ้านของรัฐมนตรีจาง ถิง อี้ อาจจะหดหายไปบ้าง คือที่ดินเล็กน้อยที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้
แต่สิ่งที่ได้มาคือ ความสงบสุขระหว่างเพื่อนบ้าน และชื่อเสียงความเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ลือไปไกลทั่วปฐพี
ในชีวิตของเรานั้น……
ความเอื้ออาทรเป็นพลังที่แข็งแกร่งไม่มีวันสูญหาย
เพื่อนฝูงที่รู้จักมีความเอื้ออาทรต่อกันจะเป็นมิตรภาพที่ยั่งยืน
สามีภรรยาที่รู้จักอะลุ่มอล่วยให้อภัยต่อกันจะอยู่คู่กันจนชั่วฟ้าดินสลาย
“ตรอกหกฟุต” อยู่ที่เมืองถงเฉิน มณฑลอันฮุย ยาวประมาณร้อยเมตร กว้างสองเมตร
“ขจรศักดิ์”
แปลและเรียบเรียง
27/7/17
ครับ…ก็หวังว่า บ้านเมืองเราจะมี “รัฐมนตรีจาง ถิง อี้”
ไม่ต้องมาก……
ซักคน-สองคน ก็บุญประเทศแล้ว