“กมธ.ดีอีเอส” ชี้ โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ครอบคลุมทั่วปท. แนะ รัฐเร่งพัฒนาเพื่ออนาคต – ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ว่า เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไปเพราะภัยคุกคามของโลกเปลี่ยนแปลงไป และประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ประเด็นก็คือ คนในเมืองปรับตัวเข้าหาการทำงานจากระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น นักเรียนและนักศึกษาก็ปรับตัวที่จะเข้าสู่การเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งอินเตอร์เน็ตก็อาจจะมาแทนที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเด็นคือผู้คนที่อยู่ตามต่างจังหวัดหรือชนบทจะปรับตัวเข้าหาความรู้และการทำงานได้อย่างไร นี่เองที่จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสังคมมากขึ้น

“อย่างพวกเรา เข้าถึงอินเทอร์เน็ต YouTube และ Live ต่างๆ ซึ่งผมเชื่อว่า ตอนนี้กลุ่มคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีไม่เกิน 50% ของประชากรของประเทศไทย แต่ที่เหลือเป็นเพียงอินเทอร์เน็ตธรรมดา ก็คือจะไม่เรียลไทม์ เข้าถึงข้อมูลได้ช้า นี่เองทำให้ต้องกลับมาดูการเตรียมการในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกและผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสทั้งหลาย หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ก็พูดในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ใช่เรื่องโรคภัยอย่างเดียว แต่น่าจะมีเรื่องสภาวะอากาศและสภาวะที่แปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภาครัฐจึงต้องกลับมาดูว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้พวกเรายังมีชีวิตที่สามารถดำเนินต่อไปในระบบเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างไร” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

รองประธานกรรมาธิการ ดีอีเอส. กล่าวอีกว่า โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขณะนี้ ถือว่า ยังไม่ครอบคลุม แม้โทรศัพท์มือถือจะครอบคลุมเกิน 90% ของจำนวนประชากร แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ เพราะแม้จะเข้าถึงได้ แต่ก็อาจจะไม่มีเงินมาจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต เพราะอินเทอร์เน็ตยิ่งเร็วก็ยิ่งแพง แม้แต่ค่าน้ำค่าไฟยังเป็นปัญหา แต่อินเทอร์เน็ตก็จะเหมือนค่าน้ำค่าไฟเข้าไปทุกวันแล้ว ผมเลยมองว่าภาครัฐต้องเตรียมการ อินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ไม่สามารถคิดเงินได้ในราคาแพงแล้ว ทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าถึงในระดับหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเลยด้วยซ้ำ ถ้าเกินความจำเป็นจึงค่อยเสียเงินเอง ดังนั้นจึงต้องกลับมาดูว่าอินเทอร์เน็ตตามตำบลตามโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะนอกเมืองตามจังหวัดต่างๆครอบคลุมหรือไม่ ซึ่งตอบได้เลยว่าไม่ครอบคลุม

“ทางกรรมาธิการดีอีเอส ดูแลและสนับสนุนและติดตามตรวจสอบการทำงานของสำนักงาน กสทช.อยู่เสมอ ซึ่งพบว่า มีโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนและต้องผลักดันในเรื่องงบประมาณให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คือ ศูนย์ USO NET หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในชุมชนต่างๆ ซึ่งกรรมาธิการดีอีเอสให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและคิดว่า ภาครัฐจะต้องมาช่วยสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะอนาคตเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงมากกว่าวันนี้ คือโรงเรียนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นว่า นักเรียนจะเทียบชั้นการสอบในข้อสอบเดียวกันไม่ได้ เพราะนักเรียนในเมืองมีโอกาสมากกว่าตัวเอง และนี่เองจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งด้านการศึกษา การทำงานในชีวิตประจำวันรวมถึง Telemedicine และการศึกษาทางไกล” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่ง แทบจะใกล้เคียงปัจจัย 4 เข้าทุกวัน แทบจะเป็นปัจจัยที่ห้าแล้ว ซึ่งอินเทอร์เน็ตในชุมชนขณะนี้ ความเร็วยังไม่เพียงพอและครอบคลุมได้ทุกที ยังไปไม่ครบโรงเรียนอยู่ทุกชุมชน จำนวนหมู่บ้านที่มีอยู่กว่า 40,000 กว่าหมู่บ้าน ตอนนี้ที่ทำอยู่ก็ยังไม่ครบ จึงมองว่าทางสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ( กทปส.) ซึ่งเป็นกองทุนที่พัฒนาส่งเสริมเรื่องของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะต้องมากำหนดในเรื่องของโครงการต่างๆในอนาคตที่จะต้องเร่งดำเนินการ

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ต้องมองแผนระยะ 3-5 ปี ว่าจะทำอย่างไรให้ครอบคลุมทั้งประเทศและให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน และที่สำคัญคือต้องใช้ได้ฟรีในระดับหนึ่งด้วย ไม่ใช่มีแล้วต้องไปจ่ายเงินเองประชาชนทั่วไปรวมถึงนักเรียนตามชนบทคงจ่ายเองไม่ไหว

ทั้งนี้ ทราบว่า กสทช. ก็สนับสนุนเงินงบประมาณในส่วนของการเข้าถึงเช่นกัน เชื่อว่า ต้องมีการเตรียมการ เนื่องจากงบประมาณเหล่านี้ มาจากการเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากโอเปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รู้จักกันดี จากนั้นก็นำเงินเหล่านั้นมาคืนสู่ประชาชน เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง จึงอยากเรียกร้องให้สังคมหันมาดูความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กรรมาธิการก็จะติดตามโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้สามารถเกิดได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถือเป็นหน้าที่หลักของกรรมาธิการดีอีเอส

Written By
More from pp
“พิชัย” ติง “ประยุทธ์” ล้าสมัย ทำลายความหวัง และอนาคตของคนรุ่นใหม่ ชี้ นักศึกษาจบใหม่ตกงาน อยากไปอยู่ต่างประเทศ
“พิชัย” ติง “ประยุทธ์” ล้าสมัย ทำลายความหวัง และ อนาคตของคนรุ่นใหม่ ชี้ นักศึกษาจบใหม่ตกงาน อยากไปอยู่ต่างประเทศ เสนอ 8...
Read More
0 replies on ““กมธ.ดีอีเอส” ชี้ โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ครอบคลุมทั่วปท. แนะ รัฐเร่งพัฒนาเพื่ออนาคต – ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล”