ไขข้อข้องใจ การบ้านยังจำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่หรือไม่

Group Of Students Working At Desks In Chinese School Classroom

ประเด็นการบ้านสำหรับเด็กยุคนี้เยอะไปหรือเปล่าไม่ใช่แค่โจทย์ใหญ่สำหรับเด็กไทย แต่เป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ  เพราะถ้าไปสำรวจประเทศที่ได้ชื่อว่าการศึกษาดีที่สุดในโลก อย่างฟินเเลนด์ จะพบว่าคุณครูแทบไม่มีการบ้านให้เด็ก ๆ หรือถึงมีเด็ก ๆ ก็ใช้เวลาทำไม่เกินวันละ 10 นาทีในการทำให้เสร็จ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ผู้ใหญ่หลายท่านจะมองว่าการบ้านคือภาระของเด็ก ทำให้เด็ก ๆ เครียด ไม่มีเวลาออกไปเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ หรือใช้เวลาทำกิจกรรมกับครอบครัวเท่าที่ควร

สำหรับประเทศไทยเอง เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่าเด็กเรียนหนักไม่เบา แถมยังมีการบ้านติดตัวกลับบ้านไม่น้อย จนเคยมีความพยายามในการผลักดันจากหลายภาคส่วนให้มีการลดสัดส่วนการบ้านลงมาแล้ว

คำถาม คือ การบ้านยังจำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่ที่กำลังเติบโตมาในโลกอนาคตที่ผันผวน จนไม่มีใครบอกได้ว่าทักษะหรือความรู้แบบไหนจำเป็นสำหรับโลกแห่งอนาคตหรือไม่

ในมุมมองของ อ.เอก- เอกรินทร์ สี่มหาศาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตอบชัดว่า การบ้านยังจำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่แน่นอน โดยเฉพาะถ้าพูดถึงศตวรรษที่ 21 ยุคเทคโนโลยี ยิ่งต้องนิยามให้ชัดว่า การบ้านคืออะไร ทำไมถึงยังจำเป็น

“ในโรงเรียนครูสอนความรู้ สอนไปแล้วต้องมีการฝึกหัด บางอย่างทำในห้องเรียน บางอย่างเกี่ยวพันไปนอกห้องเรียน ต้องกลับไปทำที่บ้าน เพราะเด็กต้องไปสืบค้น ยิ่งวิชาทักษะด้วยอย่างภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ ต้องฝึกต้องหัดถึงจะเก่ง นอกจากนี้การบ้านยังช่วยฝึกเด็กเรื่องความรับผิดชอบ และวินัยไปในตัว”

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าแล้วการบ้านแบบไหนถึงจะเหมาะกับเด็กยุคใหม่ อ.เอกอธิบายให้เห็นภาพว่า เมื่อโจทย์การศึกษาเปลี่ยนไป มีเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น แบบฝึกหัดต่างๆที่คุณครูนำมาใช้จึงต้องแยกย่อยออกมา ทั้งแบบฝึกกิจกรรม สมุดฝึกกิจกรรม ตลอดจนแบบทดสอบที่คุณครูใช้ทดสอบในห้องเรียน หรือบางครั้งอาจมอบหมายให้เด็ก ๆ กลับไปอ่าน ไปค้นที่บ้าน หรือนอกห้องเรียน เช่น ห้องสมุด ไปทำงานกับกลุ่มเพื่อน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้คุณครูได้สังเกตว่าเด็ก ๆ มีความเข้าใจในกระบวนการคิด การทำงานเป็นทีมหรือไม่ สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของเด็ก

“จะเห็นว่าการบ้านในยุคแรก คือ เน้นความรู้ การฝึกหัด จากนั้น เริ่มเน้นทักษะกระบวนการคิด มาถึงปัจจุบันมีการพูดเรื่องสมรรถนะ เด็กต้องไปสืบค้น ใช้แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ ถ้าห้องเรียนไม่มี คุณครูต้องมอบ ภาระงาน (Task based) หรือ การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning ) ทั้งหมดก็คือ การบ้าน  หรือ กิจกรรมเสริมบทเรียนที่ครู ซึ่งเด็กจะต้องไปค้นคว้าและ นำเสนอ  อย่างที่อเมริกามีแนวคิด Flipped Classroom หรือ ห้องเรียนกลับด้าน เปิดโอกาสให้เด็กต้องไปหาความรู้เอง เพราะแหล่งความรู้มีมากมาย เด็ก ๆ สามารถค้นจากคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ หลังจากนั้นนำความรู้ที่ได้มาใช้ในชั้นเรียน ครูก็ให้เด็กทำงานเป็นทีม คิดโครงงาน ใช้ความคิดสร้างสรรค์กัน ให้เด็กได้ใช้ทั้งความรู้และการนำไปใช้ แล้วอย่างนี้จะบอกว่าการบ้านไม่สำคัญได้อย่างไร เพราะให้ทั้งทักษะ สมรรถนะ และ คุณสมบัติของผู้เรียน เพียงแต่ครูจะเลือกใช้กิจกรรมอะไร เลือกชนิดงานอะไรที่จะเหมาะสมกับบทเรียน และ ตรงกับเป้าหมายที่ครูต้องการจะสอนเด็ก”

อ.เอกยังสรุปทิ้งท้ายด้วยว่า ปัจจุบันการบ้านได้ถูกเปลี่ยนนิยามไปแล้ว วันนี้การบ้านคือการทำงานนอกห้องเรียน การออกไปสืบค้นคว้าหาความรู้ในแหล่งต่างๆ ออกมาเป็นโครงงาน โครงการต่างๆ มากมาย ดังนั้น  สุดท้ายแล้วการบ้านอาจไม่ใช่ยาขมที่คุณครูหยิบยื่นให้เด็กๆ เสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับว่าการบ้านนั้นช่วยจุดประกายให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และนำทักษะจากห้องเรียนไปต่อยอดสู่ชีวิตจริงได้หรือไม่

Written By
More from pp
“หมูเถื่อน” มหันตภัยร้าย คนขายเลิกฉวยประโยชน์ คนซื้อเลือกหมูปลอดภัย
ผศ.น.สพ.ดร. สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มหมูไทย ปี 2565 นับเป็นปีแห่งวิกฤตซ้อนวิกฤตของผู้เลี้ยงหมู  จากต้นทุนการเลี้ยงที่สูงทำให้ผู้เลี้ยงต้องแบกรับต้นทุนสูง สืบเนื่องจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังคงปะทุอยู่
Read More
0 replies on “ไขข้อข้องใจ การบ้านยังจำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่หรือไม่”