เปลว สีเงิน
มีเรื่องให้ลุ้นกันอีกแล้วครับ….ทั่น!
ว่าวันนี้ (๓ ก.ค.๖๘) อุ๊งอิ๊งที่ถูกแขวนในตำแหน่งนายกฯ
จะกล้าเผยอหน้าเข้า “ถวายสัตย์ปฎิญาน” ในตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม” หรือไม่?
ก็เป็นเรื่องพูดกันมาก จากโต๊ะอาหารในทำเนียบจนถึงหน้าเตาขนมครกในตลาด ด้วยความเห็นแตกเป็น ๒ นัย
นัยหนึ่งว่า เข้าถวายสัตย์ปฎิญานเพื่อทำหน้าที่รัฐมนตรีวัฒนธรรมได้
อีกนัย มีความเห็นว่า ไม่ได้และไม่ควรอย่างยิ่ง
ฉะนั้น วันนี้ มาลุ้นกันว่า “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้รักษาการนายกฯ จะกล้านำ “นายเหนือหัว” เข้าถวายสัตย์ปฎิญานหรือไม่?
และตัว “นายเหนือหัว” นายสุริยะเอง จะมั่นหน้าเข้าถวายสัตย์ปฎิญานมั้ย?
ก็มาฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่ายกัน……
แล้วดูซิว่า ถ้าอุ๊งอิ๊งเข้าถวายสัตย์ปฎิญานและปฎิบัติหน้าที่รัฐมนตรีวัฒนธรรมแล้ว บทจบจะเป็นแบบไหน?
ความเห็นแรก จากนายสุริยะ “ผู้รักษาการนายกฯ” เขาบอกว่า
“ได้ปรึกษากับ “สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี” และฝ่ายกฎหมายคือ “สำนักงานกฤษฎีกา” แล้ว
เห็นตรงกันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ไม่มีความห่วงใยอะไรตรงนี้”
“นายชูศักดิ์ ศิรินิล” มือกฎหมายรัฐบาล ด้วยดีกรีระดับอดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ภูมิใจฟันธง
“ส่วนตัวมองว่าศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตำแหน่งนายกฯ แต่มีการอ้างว่าเป็นคุณสมบัติอันเดียวกันในเรื่องของซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และเรื่องจริยธรรม
มองว่าหากคิดเช่นนั้น แสดงว่าศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว แต่ความเป็นจริง ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องนี้ เพียงแต่ศาลรับคำร้อง และให้ชี้แจงภายใน ๑๕ วัน
ซึ่งอาจมีการเรียกสอบพยาน และตัดสิน โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ ๑-๒ เดือน
ดังนั้น หากไม่มีคำวินิจฉัย แสดงว่า น.ส.แพทองธาร ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ ยังไม่มีกรณีที่ถูกกล่าวหา ยังไม่เป็นบุคคลที่ฝ่าฝืนจริยธรรม
ได้ปรึกษาหารือกันแล้วและคิดว่าสามารถเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณได้”
มาฟังความเห็นฝ่ายที่บอกว่า “อุ๊งอิ๊งไม่เหมาะสมจะเข้าถวายสัตย์ปฎิญานและปฎิบัติหน้าที่รัฐมนตรี” กันบ้าง
ทนาย” “ชาว์ มีขวด” โพสต์เฟซ ตอนหนึ่งว่า
“…………….ข้อกล่าวหาอันเป็นหลักแห่งที่มาของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ คือ นางสาวแพรทองธารไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕)
ซึ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติเฉพาะตัว เฉพาะบุคคล ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ปรากฎเหตุอันควรสงสัยตามคำร้อง คือไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
จึงมีคำสั่งให้ นางสาวแพรทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมผูกพันต่อสถานะความเป็นรัฐมนตรีทุกตำแหน่งของนางสาวแพรทองธารและกับทุกองค์กรแล้ว
ผมจึงเตือนไปที่ รักษาการนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องไม่ทำอะไร ที่ขัดคำสั่งศาล
มิฉะนั้น ความเป็นรัฐมนตรีอาจ “ถูกถอดถอนทั้งคณะ”
อย่าเอาคนมีตำหนิไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ จนกว่าคนผู้นั้นจะพ้นมลทิน ถ้ายังดึงดันกอดอำนาจโดยไม่สนความชอบธรรม ก็อย่าโทษใคร…หากสุดท้าย ครม. ทั้งคณะต้องพังไปพร้อมกัน”
“นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” นักการเมือง-นักกฎหมาย ก็มีมุมมองไปทางเดียวกัน
“นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยข้อกล่าวหาว่า ขาดความซื่อสัตย์สุจริต และ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐(๔) และ (๕)
ทั้งนี้ คุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ม.๑๖๐ เป็นคุณสมบัติ ของรัฐมนตรีทุกคน มิใช่เป็นคุุณสมบัติเฉพาะของนายกรัฐมนตรี
และเนื่องจากนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญก็ถือว่า “เป็นรัฐมนตรี”คนหนึ่ง
เมื่อนายกรัฐมนตรีถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ด้วยข้อกล่าวหา ขาดความซื่อสัตย์ และฝ่าฝืนจริยธรรม
นายกรัฐมนตรีจึงอยู่ในสภาวะที่ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีด้วย
กรณีนี้ ต่างกับกรณี ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี (ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม) ตามข้อกล่าวหาว่า ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีครบ ๘ ปีแล้วหรือยัง?
เพราะเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น มิใช่คุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์ หรือจริยธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติทั้งของนายกรัฐมนตรีและของรัฐมนตรี
ความเห็นส่วนตัวผม นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้
หากปฏิบัติ จะมีปัญหาทางกฎหมายตามมาว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ เสี่ยงถึงเสี่ยงมาก และเสี่ยงที่สุด
“ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์แล้ว หยุดการปฏิบัติหน้าที่อย่างสิ้นเชิงทุกตำแหน่งเถอะ อย่าไปเสี่ยงเลย นี่ผมเตือนด้วยความหวังดีนะ”
“นายสมชาย แสวงการ” อดีตสว.เพื่อมวลชน โพสต์เฟซว่า….
“อุ๊งอิ๊งเข้าถวายสัตย์ในตำแหน่งรมว.วัฒนธรรมไม่ได้ #อย่าดันทุรัง
เพราะศาลรธน สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี
ที่ถูกร้องในปัญหาคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๗๐(๔)และมาตรา ๑๖๐(๔)(๕)
จะตะแบงตีความว่า “ศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะนายกฯ
ศาลไม่ได้สั่งให้หยุดในฐานะรัฐมนตรี” ไม่ได้!!!
อุ๊งอิ๊งจะเข้าทำหน้าที่รมว.วัฒนธรรมได้ ต่อเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยแล้วว่า “ไม่ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี” ตามที่ศาลรับคำวินิจฉัยไว้แล้วเท่านั้น
“นายวัส ติงสมิตร” นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
…………………………………
“วัส ติงสมิตร”
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร สามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมได้ เพราะเข้าข่ายทำลายความไว้วางใจที่รัฐมนตรีได้รับจากมหาชน
ไม่ใช่การดำเนินคดีซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จากคดีคลิปหลุดกรณี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยสนทนาทางโทรศัพท์กับ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาหลายสิบปี
เกี่ยวกับปัญหาชายแดน ไทย-กัมพูชา และศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณา
และมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 สั่งให้แพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
ในขณะที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน มีโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ โดยแพทองธารดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วย นั้น
มีปัญหาว่า ภายหลัง แพทองธาร เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 แล้ว
จะสามารถยื่นถอดถอนแพทองธารออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าวได้หรือไม่?
ฝ่ายที่เห็นว่ายื่นถอดถอนไม่ได้ เพราะไม่มีการกระทำใหม่ ส่วนการกระทำเดิมก็ถูกลงโทษไปแล้ว จะลงโทษซ้ำอีกไม่ได้
ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้
1)หลักห้ามดำเนินคดีซ้ำ (หลัก “ne bis in idem” ในภาษาละตินหรือ “double jeopardy” ในภาษาอังกฤษ) ปรากฏชัดเจนในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยว่า
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4))
ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่า บุคคลย่อมไม่ถูกพิจารณา หรือลงโทษซ้ำในความผิดซึ่งบุคคลนั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ
หรือให้ปล่อยตัวแล้วตามกฎหมายและวิธีพิจารณาความอาญาของแต่ละประเทศ (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรค 7)
2)ส่วนการถอดถอนรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญในปัญหาคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่า
“มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”
และมีลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีว่า “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” หรือไม่?
ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีซ้ำในการกระทำเดิม ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
3)อาจกล่าวได้ว่า เหตุแห่งการให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญไทย มาจากการทำลายความไว้วางใจที่รัฐมนตรีได้รับจากมหาชน (the abuse or violation of some public trust) คล้ายกับการ Impeachment หรือ การถอดถอนของสหรัฐอเมริกา
อันเป็นกระบวนการทางรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาสหรัฐสามารถใช้อำนาจในการฟ้องร้องและถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกลาง
รวมถึงประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่พลเรือนอื่นๆ หากพบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายความผิดร้ายแรง
4)แพทองธารจึงสามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วยเหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้
เพราะเข้าข่ายทำลายความไว้วางใจที่รัฐมนตรีได้รับจากมหาชน (the abuse or violation of some public trust)
ไม่ใช่การดำเนินคดีซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
……………………………..
แล้วพวกเรา-เหล่าท่านล่ะครับ คิดเห็นอย่างไรกันบ้าง?
ผมเชื่อว่าวันนี้ นายสุริยะต้องนำอุ๊งอิ๊งเข้าถวายสัตย์ปฎิญานด้วยแน่!
ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่เพียงอุ๊งอิ๊ง ……
อนาคต “ครม.ทั้งคณะ” จะเป็นอย่างไร ช่างเร้าใจยิ่งกว่าดูระบำจ้ำบ๊ะคณะตาหรั่งเป็นร้อยเท่า
“นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์” จองกฐินเรียบร้อยแล้ว ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เพื่อให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ “ถอดถอนอุ๊งอิ๊ง” จาก “รมว.วัฒนธรรม” แล้ว
และเชื่อว่านายสุริยะ “ผู้รักษาการนายกฯ” ก็จะต้องเจอข้อหาเดียวกับที่ “นายเศรษฐา” ต้องตกเก้าอี้
เพราะนำคนไม่ซื่อสัตย์สุจริตและผิดทางมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงตั้งเป็นรัฐมนตรี เป็นผลให้ “รัฐบาลพังทั้งคณะ” มาแล้ว
รับรอง เรื่องรัฐบาลสองพ่อลูกนี้….สนุก
สนุกทั้ง “นอกคุก” และ “ในคุก” บอกไม่เชื่อ!?
เปลว สีเงิน
๓ กรกฎาคม ๒๕๖๘
