พอล แชมเบอร์ส #เปลวสีเงิน

เปลว สีเงิน

“แฮปปี้สงกรานต์” กันนะครับ
ตลอด ๒-๓ วันที่ผ่านมา รถราในกรุงตะกายก่ายออกนอกกรุงจนนุงนังกันไปแทบทุกถนน
ถึงวันนี้ กรุงเทพฯ น่าจะโล่ง ตามเส้นทางสู่เหนือ-อีสานนั่นแหละ จะแออัดแทน

ข้อดี “ปีใหม่-สงกรานต์” มีอีกอย่าง คือช่วยกระจายรายได้สู่ต่างจังหวัด สร้างสภาพคล่องสู่ระบบในทางตรงที่ชะงัด

งั้นช่วงนี้ พักคุยการบ้าน-การเมืองซักระยะดีมั้ย หลังสงกรานต์ กลับมาพร้อมหน้าค่อยว่ากัน เอาอย่างนั้นนะ

นี่ เออ…ท่านรู้กันแล้วใช้มั้ย?
ที่ “ศาลจังหวัดพิษณุโลก” ออกหมายจับ “ดร.พอล แชมเบอร์ส” นักวิชาการชาวอเมริกัน
อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร ในข้อหาความผิด มาตรา ๑๑๒ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

โดย “กองทัพภาคที่ ๓” เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ นั่นน่ะ

นอกจากสหรัฐบอกว่าตกใจแล้ว
“พรรคประชาชน” เขาทั้งตกใจและร้อนใจยิ่งซะกว่าเรื่องที่รัฐบาลเพื่อไทย จะแปลงประเทศเป็น “สถานอบายมุข” เป็นร้อย-เป็นพันเท่า!

เมื่อวาน (๑๑ เม.ย.๖๘) “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ในฐานะประธานกมธ.ทหาร สภาผู้แทนราษฎร รีบแอกชั่น

เชิญแม่ทัพภาคที่ ๓, ผอ.กอ.รมน. ภาค ๓, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, คณบดีสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร, สถานทูตสหรัฐฯ และพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง ในวันที่ ๒๔ เมย.

วิโรจน์บอกว่า…..

“ต้องการสอบถามถึงรายละเอียด ว่าข้อกล่าวหาคืออะไรกันแน่
เกิดจากกรณีไหน หรือเหตุการณ์ใด และเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่อย่างไร?

เพราะขณะนี้ ทุกคนทราบแต่เพียงว่า “ถูกกล่าวหา” เรื่อง ม.๑๑๒ แต่ยังไม่มีใครรู้ในรายละเอียดเลย”

อุ๊ย…ตายแล้ว เรื่องนายพอล คุณวิโรจน์บอกไม่รู้ข้อกล่าวหาคืออะไร เกิดจากกรณีไหน?

ไม่ได้…ไม่ได้ ผมต้องช่วยป้อนข้อมูลเป็นวัคซีนป้องกันโรคตีเซ่อให้คุณวิโรจน์แล้วแหละ

มีคนส่งเข้ามาในไลน์ผมเยอะแยะ จะนำมาแชร์ให้คุณวิโรจน์ซัก ๒ ช้อมูล ลองอ่านดูนะ
————————————–

(sweaty Boss) เขาเกริ่นหัวว่า…..
ผมไม่ทราบหรอกว่า “ปราชญ์ สามสี” คือใคร แต่แอบยินดี ที่ผู้คนมาตอบกลับของผู้ที่มีอคติเช่นฝรั่งคนนี้ออกมาบ้าง เพื่อความเข้าใจ จะได้ขยายวงขึ้นครับ….

(10 เม.ย. 68) ในโลกของนักวิชาการต่างชาติที่เขียนถึงประเทศไทย มีไม่กี่คนที่ข้าพเจ้าจำชื่อได้แม่นเท่า Paul Chambers

ไม่ใช่เพราะลุ่มหลงในภูมิปัญญาของเขา
แต่เพราะเขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ใช้คำว่า “เครือข่ายวัง” (network monarchy) อย่างสม่ำเสมอ ราวกับเป็นสูตรสำเร็จของทุกปัญหาไทย

ไม่ว่าจะรัฐประหารปีไหน หรือใครขึ้นเป็นนายกฯ ใหม่ สุดท้าย เขาก็จะพาเรื่องวกกลับไปสรุปว่า

“สถาบันฯ คือผู้เล่นเบื้องหลัง” เป็น “ตัวแปรหลัก” ของทุกการเมืองไทย
และ “กองทัพ” ก็เป็นเพียง “หุ่นเชิดในระบบอุปถัมภ์”

ข้าพเจ้าเคยคิดว่า อาจเป็นเพียงความบังเอิญของคนมองไทยจากภายนอก แต่เมื่อได้อ่านบทความของเขาที่ลงใน New Mandala เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2009

ชื่อว่า “Thailand’s military: perpetually political, forever factionalized, again ascendant”

ความสงสัยของข้าพเจ้ากลับกลายเป็นความมั่นใจ—ว่างานเขียนของเขาไม่ได้ต้องการ “เข้าใจไทย”

หากแต่เป็นการ “ตั้งธง” เพื่อชี้นำผู้อ่านให้มองสถาบันกับกองทัพไทยในแง่ลบ โดยมีเป้าหมายบางอย่างแอบแฝงอยู่

เบื้องหลังบทความวิชาการ: เมื่อพอล แชมเบอร์ส สวมเสื้อคลุมนักวิชาการเพื่อจ้องรื้อโครงสร้างของสถาบัน

ในโลกวิชาการที่ควรตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและความเป็นกลาง งานเขียนของ พอล แชมเบอร์ส ใน New Mandala กลับเป็นตัวอย่างชัดเจนของการบิดเบือนบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

และแทรกความคิดเชิงครอบงำของตะวันตกเข้ามาในบริบทที่เขาไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้

จุดตั้งต้นของการเหมารวม: สถาบันคือปัญหา

แชมเบอร์สพยายามผูกโยง สถาบันพระมหากษัตริย์ เข้ากับเครือข่ายอำนาจทางทหารโดยมี “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” เป็นศูนย์กลาง

ซึ่งในทางรูปแบบเหมือนจะเป็นการวิเคราะห์โครงสร้างอำนาจ แต่ในทางเนื้อหา กลับสอดแทรกอคติในลักษณะ “ลดทอนบทบาทของสถาบันให้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง”

เขาเขียนด้วยภาษาชี้นำเต็มเปี่ยม เช่น “palace-backed generals” หรือ “monarchical network”

วางน้ำหนักทุกบรรทัดเพื่อพาไปสู่บทสรุปเดียวว่า—สถาบันคือแกนกลางของโครงสร้างที่ขัดขวางประชาธิปไตย

แต่ข้าพเจ้ากลับพบสิ่งที่น่าสงสัยมากกว่านั้น:

เขาไม่พูดถึงบริบทความไม่มั่นคงของประเทศในช่วงหลังสงครามเย็น

เขาไม่แตะเลยถึงปัญหาคอร์รัปชันของนักการเมืองที่ทำให้ทหารต้องเข้ามา

เขามองข้ามการเคลื่อนไหวขององค์กรต่างชาติที่มีบทบาทในหลายวิกฤตการเมืองไทย

ทุกอย่างถูกโยนเข้ากองเดียวกัน—ว่าสถาบันฯ หนุนหลัง และกองทัพคือเครื่องมือ

นักวิชาการหรือนักปลุกปั่นแฝงตัว?

สิ่งที่น่าสังเกตคือ แชมเบอร์สไม่ได้ตั้งคำถามกับความชอบธรรมของการเลือกตั้ง หรือกลุ่มทุนผูกขาดที่แทรกซึมการเมืองไทย

หากแต่เลือกโจมตีเฉพาะ “ความใกล้ชิดระหว่างกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์” ราวกับว่าสถาบันเป็นต้นเหตุของความล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตย

นี่ไม่ใช่เพียงความเข้าใจผิด แต่คือเจตนาแทรกแซงในระดับโครงสร้าง

การพยายามแปะป้ายว่าสถาบันเป็น “ศูนย์กลางอำนาจที่ครอบงำการเมือง” คือความพยายามเปลี่ยนสถานะของสถาบันจาก “สัญลักษณ์แห่งชาติ” ให้กลายเป็น “ฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้ง”

ซึ่งถือเป็นการจงใจ “สร้างภาพเท็จ” และกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

บทความเดียวที่กลายเป็นพิมพ์เขียวของทุกงานหลังจากนั้น สิ่งที่ข้าพเจ้าพบคือ:

บทความในปี 2009 นี้ กลายเป็นพิมพ์เขียวของทุกสิ่งที่ Paul Chambers จะเขียนในทศวรรษถัดมา

ไม่ว่าจะกรณีรัฐประหารปี 2557 การเมืองหลังการเลือกตั้ง 2562 หรือการเปลี่ยนแปลงผู้นำกองทัพ
เขายังคงลากสถาบันเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนหรือไม่ก็ตาม

การเชื่อมโยงแบบข้ามขั้นตอน (shortcut reasoning) ที่เขาใช้เป็นกลยุทธ์การสร้างวาทกรรมมากกว่างานวิเคราะห์—พูดง่าย ๆ คือเขา “วางหมากไว้ก่อนแล้วเขียนให้เข้าหา”

อคติที่แฝงอยู่ในโครงสร้างของภาษา

เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาบทความปี 2009 ให้ลึกลงไป สิ่งที่สะดุดใจที่สุด ไม่ใช่เพียงเนื้อหา แต่คือภาษาที่เขาเลือกใช้:

เขาใช้คำที่พาให้ผู้อ่าน “คล้อยตาม” โดยไม่ได้ตั้งคำถาม เช่น “again ascendant” “factionalized by royal patrons”

เขาไม่เคยเปิดพื้นที่ให้อธิบาย “สถาบัน” ในมิติที่เป็น “ศูนย์รวมใจ” หรือ “หลักประกันของเสถียรภาพรัฐ”

เขาไม่ให้เครดิตกับบทบาทการประสานและคลี่คลายความขัดแย้งที่สถาบันเคยทำมา

ทั้งหมดนี้ ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่า—Chambers ไม่ได้เขียนเพื่ออธิบาย แต่เขียนเพื่อ “เจาะความชอบธรรม” ของสถาบันในสายตานานาชาติ

การเมืองเชิงวาทกรรม:กับดักของภาษาและความเป็นอาณานิคม

แชมเบอร์สใช้กลวิธีแบบ “วาทกรรมวิพากษ์” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นิยมในวงการรัฐศาสตร์สายตะวันตก
เช่นการใช้คำว่า “networks of palace-backed military elites” หรือ“ network monarchy” ที่ดูเหมือนจะมีน้ำหนักทางวิชาการ

แต่เป็นการสร้างภาพว่า “ไทยถูกครอบงำ” โดยกลุ่ม “อภิสิทธิ์ชน” ที่ไม่ผ่านประชาธิปไตย

คำถามคือ ทำไมนักวิชาการฝรั่งเหล่านี้ไม่ตั้งคำถามกับ ประธานาธิบดีที่ใช้อำนาจผ่านกองทัพในลาตินอเมริกา หรือราชวงศ์ตะวันออกกลางที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ?

คำตอบชัดเจน—พวกเขาไม่ได้ต้องการความยุติธรรมทางวิชาการ แต่ต้องการ “เปลี่ยนสมการอำนาจของโลก” ให้เป็นไปตาม “ค่านิยมตะวันตก” เท่านั้น

ความเข้าใจผิดที่จงใจสร้าง:สถาบันมิได้สั่งการ แต่ดำรงอยู่เพื่อรักษาสมดุล

แม้ในหลายช่วงเวลา สถาบันจะมีความสัมพันธ์กับกองทัพในฐานะองค์อุปถัมภ์ แต่การเหมารวมว่าสถาบัน “ควบคุม” หรือ “กำหนดการเมืองไทย” คือการบิดเบือนที่ร้ายแรง

ในรัฐธรรมนูญไทย “สถาบันเป็นกลางทางการเมือง” และมิได้มีอำนาจบริหารใด ๆ

การที่กองทัพจะอ้างความจงรักภักดีนั้น เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์การวางตนทางการเมืองของกองทัพเอง มิใช่เจตนาของสถาบัน

การวิเคราะห์โดยเหมารวมว่าสถาบัน “เอื้อ” หรือ “หนุน” รัฐประหารทุกครั้ง จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง
แต่เป็นความพยายาม “สร้างตราบาป” ให้สถาบัน “ผ่านงานวิชาการ”

เรื่องนี้สำคัญอย่างไร?
ข้าพเจ้ามองว่านี่ไม่ใช่เพียง “บทความหนึ่งชิ้นในอดีต” แต่คือรากฐานของวาทกรรมที่ถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกผ่านเวทีสื่อตะวันตก สื่อภาษาอังกฤษ

และแม้กระทั่ง “นักศึกษาบางกลุ่ม” ในประเทศไทย

เมื่อกรอบคิดที่มีอคติถูกเผยแพร่โดยนักวิชาการต่างชาติที่ได้รับเครดิตในเวทีโลก งานของเขาจึงไม่ใช่แค่ “ข้อคิดเห็น”
แต่กลายเป็นเครื่องมือ “แทรกแซง” ความเข้าใจของสังคมไทย

และทั้งหมดนี้… เริ่มจากบทความปี 2009 ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้ระวัง

ปัจฉิมบท:ความเป็นวิชาการมิใช่เกราะกำบังอคติ

งานเขียนของ Paul Chambers ทำให้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เสมอว่า “ความเป็นนักวิชาการมิใช่ข้อยกเว้นจากความลำเอียง”

เพราะหากเราไม่ตั้งคำถามกับ“ความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น”เราก็อาจยอมให้คนภายนอกเป็นผู้กำหนดอนาคตของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว

> และเพราะเหตุนี้เอง ข้าพเจ้าจึงต้องเริ่มต้นที่บทความเล็ก ๆ ในปี 2009 เพื่อเปิดโปงอคติ ที่แฝงอยู่หลังถ้อยคำที่ดูเหมือนเป็นกลาง

แต่แท้จริงแล้ว—ไม่เป็นกลางเลยแม้แต่น้อย.

แล้วข้าพเจ้าเชื่อว่า งานเขียนหลังจากนี้ จะมีหลายๆ งานเขียนที่เข้าล่วงไปถึงบ้านเมืองไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่อง : ปราชญ์ สามสี
#THESTATESTIMES
#Columnist
#มาตรา112
——————————————

อีกซักข้อมูลนะคุณวิโรจน์ ภูมิจะได้แน่น

▪️นาย พอล กับ อนาคตที่แสนเศร้า▪️

จากกรณีที่มีการจับกุม นาย พอล แชมเบอร์นักวิชาการของคณะสังคมศาสตร์ ม. นเรศวร ในข้อหา ตาม ม.112 นั้น ได้มีการวิพากษ์ วิจารณ์คัดค้านอย่างกว้างขวาง จากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่รับเงินจากกองทุนต่างชาติซึ่งมีมากพอควร
ทั้งในกลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลชน และ กลุ่ม NGO ที่ออกมาต่อต้านกันในลักษณะขานรับพร้อมเพรียงกันเลยทีเดียว โดยลืมไปกระมังว่าตัวเองก็สัญชาติไทย

ผมคงบอกไม่ได้ว่านายพอล “ถูกหรือผิด” เพราะเรื่องอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว แต่ขอนำข้อเท็จจริงมาอ้างอิงไว้สัก 3 กรณีครับ

1.นาย พอล มักจะอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหาร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครรู้จริงๆ หรอกครับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดรัฐประหารมาตั้ง 20 กว่าครั้งได้อย่างไร

อย่างดีก็ไปฟัง “คุณวาสนา นาน่วม” เธอพูดแล้ว นำมาจินตนาการต่อ โดยไม่รู้ว่าคุณวาสนาเธอเซียนข่าวขนาดไหน รู้มา 100% เธอพูดออกมาแค่ 20-30%ให้เป็นเรื่องราวได้

ซึ่งสิ่งที่นายพอลทำ นอกจากไม่รู้จริงแล้ว ยังพูดจนติดปากว่า “เรื่องที่เกี่ยวกับทหารนั้น ต้องเกี่ยวกับวังบ้าง หรือวังสนับสนุนบ้าง”

ทั้งๆ ที่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ทุกเรื่องมันต้องเกิด “เหตุ” อะไรนำขึ้นมาก่อน ทหารจึงกล้าออกมาทำรัฐประหาร
หรือแม้กระทั่งการที่ทหารต้องออกมาแจ้งความจับ นายพอล ก็จะต้องมีสาเหตุอยู่เช่นเดียวกัน

แต่ นายพอล มีอคติไม่ยอมพูดหรือเขียนหรือนึกถึงเรื่องที่เป็นต้นเหตุหรือเรื่องที่ตัวเองทำไว้เลย

2.นายพอลเป็นนักวิชาการในสังกัดคณะสังคมศาสตร์ ม. นเรศวร โดยมีภรรยาเป็นคณบดี ดังนั้น นายพอลจึงมี 2 สถานะ
คือ (1) เวลาอยู่ที่มหาวิทยาลัย นายพอล เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของภรรยา และ
(2)เป็นบุคคลคนเดียวกันตามกฏหมายกับท่านคณบดีเมื่อกลับมาที่บ้าน

ดังนั้น ความคิดอ่านของทั้ง 2 คนจึงน่าจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน ตัวคณะบดี เป็นคนหัวสมัยใหม่ เคยลงชื่อคัดค้านการจับกุมนศ.

และกล้าขนาดอนุญาตให้ “นายเพนควิน” มาพูดบรรยายเปิดงานในภาควิชาการของคณะ
โดยระบุให้ “เพนควิน” อยู่ในฐานะนักวิชาการ จนโดนชาวบ้าน และนักศึกษาในคณะตัวเองออกมาประท้วง ฯลฯ

๓.นอกจากนั้น คณะสังคมฯ ที่นายพอลสังกัดอยู่ ยังรับทุนของ ยูเสด เอเชียฟาวเดอชั่น ฯลฯ มาทำงาน
ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า แหล่งเงินทุนดังกล่าว หวังผลประโยชน์อะไรจากประเทศไทย?

ขอเขียนเพียงแค่นี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากครับ แต่คดีอยู่ในชั้นศาลแล้ว ผมคงไม่สามารถก้าวก่ายได้

ก็อยากฝากบอกมายัง “นายพอล” ว่า แผ่นดินไทยที่คุณอยู่มามากกว่า 20 ปีนั้น ให้ทั้งความสุข เกียรติยศ เงินทอง ฯ ซึ่งคุณไม่สามารถจะไปหาที่ไหนได้ในโลกนี้อีกแล้ว การที่ต้องเสียสิ่งเหล่านี้ไป ก็เพราะการกระทำของคุณเอง

ลืมบอกนายพอลไปอีกว่า ตัวเองไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯมานานแล้ว เวลาต้องกลับไปอยู่อีกที อย่าลืมตัวไปว่า ยังอยู่ที่เมืองไทย อย่าเผลอไปด่าหรือบ่อนทำลาย “ประธานาธิปดีสหรัฐฯ” เข้าล่ะ

เจอโทษแรงและเร็วกว่าแน่ๆ ครับ ทั้งปรับและจำคุก และจะถูกสอดส่อง ติดตาม ตรวจสอบทุกอย่างที่ทำในชีวิตประจำวันอย่างละเอียดละออ จากหน่วยงานความั่นคงของรัฐ

คนที่ “ด่าประธานาธิบดี” นี่น่ะ โดนกฏหมาย “ยิ่งกว่า ม.112” อีกครับ

ส่วนใครที่กลัวว่าเรื่องนี้ จะไปซ้ำเติมเรื่องการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ นั้น ไม่ต้องกลัวหรอกครับ

เพราะมันเป็นละครฉากหนึ่งที่เค้าแสดงกับจีนเท่านั้น ประเทศไทยเรา มีดีหลายสิบอย่าง ที่สหรัฐฯต้องนึกถึงอยู่เสมอ

ขนาดทำรัฐประหารกี่ครั้ง ๆ สหรัฐก็แกล้งทำเป็นดุเท่านั้น ไม่กล้าทิ้งประเทศไทยไปจริงๆ หรอกครับ ไทยเราน่ารักจะตาย

พลโท นันทเดช / 11เมษา ‘68
…………………………………

ทั้ง ๒ ข้อมูลนี้ น่าจะตอบข้อฉงนประเด็นข้อกล่าวหาที่จับนายพอลคืออะไรกันแน่?

และเกิดจากกรณีไหน หรือเหตุการณ์ใด และเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่อย่างไร ตามที่คุณวิโรจน์ฉงนและกำลังว้าวุ่นอยู่ขณะนี้ได้บ้างนะ

ถ้าต้องการตัวช่วยอีก บอกได้นะครับ ผมจะคัดส่งมาให้อีก มีเยอะแยะตาแป๊ะไก๋ วันนี้ บ๊ายบาย ปู๊น..ปู๊น!

เปลว สีเงิน
๑๒ เมษายน ๒๕๖๘

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from plew
มรดกนายกฯ ประยุทธ์ – เปลว สีเงิน
คลิกฟังบทความ..? เปลว สีเงิน นายกฯ บอกใกล้ “ยุบสภา” ความจริง ถึงวันนี้แล้ว “ไม่ยุบ” ก็เหมือนยุบ คือถึง ๒๔...
Read More
0 replies on “พอล แชมเบอร์ส #เปลวสีเงิน”