ผักกาดหอม
เป็นคดีตัวอย่าง…
ตัวอย่างที่ว่าคือ “ความรู้สึก” กับ “กฎหมาย” ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
การขึ้นศาล ใช้ความรู้สึกไปว่าในศาลไม่ได้
รู้สึกอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ได้
ต้องเป็นข้อกฎหมาย
ข้อกฎหมายว่าอย่างไร ศาลท่านจะพิพากษาคดีไปตามนั้น
จะพิพากษาเอาตามความรู้สึกมิได้
ก็เข้าใจถึงความรู้สึกอย่างสุดซึ้งครับ สำหรับคดีที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก “พิรงรอง รามสูต” กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ๒ ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ นั้น ได้เกิดความไม่สบายใจในหมู่คนทำงานปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง
แต่อยากให้อ่านคำพิพากษาให้ละเอียด
อย่าใช้ความรู้สึก
มาเรียนรู้แง่มุมของกฎหมายที่ปรากฏในคำพิพากษา ย้ำนะครับ คำพิพากษาของศาลจะต้องอ้างอิงข้อกฎหมาย มิใช่ความรู้สึก
เรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้ว่า ถูกผิดขึ้นกับกติกาบ้านเมืองกำหนดไว้ว่าอย่างไร
รวมถึงการกระทำที่ไม่มีข้อกฎหมายกำหนด ถือเป็นความผิดหรือไม่
และสำคัญที่สุด สามารถใช้ความรู้สึกไปเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้หรือไม่
แล้วค่อยมาคิดต่อครับว่าจะย้ายค่ายหรือไม่
ไม่รักทรูแล้วไปเอไอเอสดีกว่า
หรือบางคนรู้สึกว่าเจ็บจากเอไอเอสขอไปทรูดีกว่า
อยู่ที่ความคิดของแต่ละคนแล้วล่ะครับ
มีอยู่แค่ ๒ ค่ายให้เลือก!
ไปอ่านบางตอนของคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท ๑๔๗, ๗๑/๒๕๖๖ ระหว่างบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำเลย เรื่อง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
“…ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน True ID มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน โดยแอปพลิเคชัน True ID เป็นการให้บริการประเภทผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะหรือโอทีที และเป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มดังกล่าวต้องขอรับใบอนุญาตแต่อย่างใด…”
หมายถึงยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมแพลตฟอร์มนี้
“…ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ.๖๖ จำเลยทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีวาระที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชัน True ID โดยในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะหรือพฤติการณ์ในการให้บริการของ True ID แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ประกอบกับที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในลักษณะโอทีที เช่นเดียวกับ True ID จำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตและไม่ได้รับการกำกับดูแลจาก กสทช. การนำเอาประเด็นลักษณะของการให้บริการของ True ID มาพิจารณาเพียงรายเดียวอาจส่งผลต่อการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ในอนาคตได้…”
หมายความว่าผู้ให้บริการที่ถูกมองว่ามีปัญหามิได้มี True ID เพียงเจ้าเดียว แต่มีจำนวนมาก
“…อีกทั้งก่อนที่จำเลยจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. มีข้อมูลระบุว่า บริการ True ID ของโจทก์เป็นบริการโอทีที และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายในการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช.ที่ยื่นต่อศาลในคดีนี้ว่า กสทช.ยังไม่ได้มีการประกาศกำหนดนิยามของคำว่าโอทีทีไว้เป็นการเฉพาะ…”
แสดงว่า กสทช.ได้รับรู้ถึงช่องโหว่ของกฎหมายก่อนหน้านี้แล้ว
“…ต่อมาวันที่ ๒ มี.ค.๖๖ มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ ซึ่งจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม จำเลยได้มีการต่อว่าและตำหนิฝ่ายเลขานุการที่มีการจัดทำหนังสือ โดยไม่ได้ระบุหรือเจาะจงถึงการให้บริการ True ID ของโจทก์ และในรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ ไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช.จะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์โดยระบุเจาะจงถึงบริการ True ID ของโจทก์ แต่ตามบันทึกรายงานการประชุมกลับมีการระบุว่าที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุม และเห็นควรมีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ในความเป็นจริง การประชุมคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ ไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ…”
ถือเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะมีการใช้เอกสารเท็จ
“…อีกทั้งก่อนจบการประชุมของคณะอนุกรรมการ จำเลยให้เตรียมความพร้อมที่จะล้มหรือระงับการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ของโจทก์ โดยใช้คำพูดว่า “ต้องเตรียมตัว จะล้มยักษ์” และจำเลยก็ยอมรับว่า คำว่า “ยักษ์” หมายถึงโจทก์ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่าประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อำนาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะภายหลังจากมีหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการรวม ๑๒๗ รายแล้ว มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จำคุก ๒ ปี…”
เพราะในโซเชียลวิจารณ์ศาลกันเยอะ จึงอยากให้อ่านรายละเอียดกันก่อน ไม่งั้นจะมีแต่การใช้ความรู้สึกและอารมณ์มาตัดสินว่าถูกหรือผิด
เราเรียกร้องธรรมาภิบาลจากบริษัทเอกชน ว่าไม่ควรมุ่งไปที่ผลประกอบการเกินควร ต้องคืนกำไรให้สังคมบ้าง
ในบทผู้บริโภค หรือองค์กรภาคเอกชน เราสามารถใช้ความรู้สึกตัดสินเรื่องนี้ได้อย่างล้านเปอร์เซ็นต์ แต่หากตัดสินบนพื้นฐานของกฎหมายได้ ยิ่งดีเข้าไปใหญ่
เพราะจะรู้วิธีในการงัดข้อกับบริษัทเอกชน
แต่ในบทเจ้าหน้าที่รัฐ หากไม่มีอำนาจเพราะไม่มีกฎหมายกำหนด จะไปใช้ความรู้สึกตัดสินไม่ได้
เอกชนไม่ว่ายักษ์ใหญ่หรือยักษ์เล็กต่างก็อยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายเดียวกัน จะเจาะจงเล่นงานใครเป็นการเฉพาะไม่ได้
จึงเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับนักสู้เพื่อประชาชน
เปิดหน้าชกแล้วคิดว่าจะชนะนั้นยากครับ
กติกามีอย่างไร ควรทำไปตามนั้น
หากเห็นว่ามีช่องโหว่ ก็ควรอุดช่องโหว่ก่อนแล้วค่อยจัดการ รายไหนก็รายนั้น จบทุกราย
ให้กำลังใจคนที่ปกป้องสิทธิของประชาชนครับ