วิตกกังวลจากโรคระบาด COVID-19 รับมืออย่างไร

โดย นพ.วิทยา วันเพ็ญ
จิตแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ความเครียด ความวิตกกังวล และสับสน เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เราจะลดความวิตกกังวลที่ทำให้บั่นทอนจิตใจของเราอย่างไร เพราะนอกจากการดูแลร่างกายแล้ว การดูแลจิตใจก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้

นพ.วิทยา วันเพ็ญ จิตแพทย์โรงพยาบาลพระรามเก้า แนะนำวิธีการรับมือกับความวิตกกังวลจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อ้างอิงจากประกาศราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีเคล็ดลับการดูแลจิตใจ 9 ควร 4 ไม่ควร มาฝากกัน

9 สิ่งที่ควรทำ

  1. ควรรับข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลควรมาจากกระทรวงสาธารณสุข หรือถ้าเป็นข้อมูลข่าวสารเรื่องของมาตราการเยียวยาช่วยเหลือจากภาครัฐ ควรเปิดรับจากหน่วยงานนั้นโดยตรง
  2. ควรลดการเสพข้อมูลมากเกินไป เมื่อต้องอยู่บ้านตลอด หลายคนก็อาจมีโอกาสเสพหรือเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID19 ตลอดเวลา โดยเสพข้อมูลข่าวสารมากเกินไป ย่อมไปกระตุ้นให้คิดมาก เกิดความรู้สึกเครียด วิตกกังวล ตื่นตระหนกมากขึ้น ดังนั้นควรรับข่าวสารหลังจากเวลาทำงาน หรือทำธุระส่วนตัวเสร็จก่อน และการรับข่าวสารควรรับเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันระมัดระวัง ดูแลตนเองตามหลักอนามัย
  3. ดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม เช่น การรับประทานอาหาร การนอน การออกกำลังกายตามปกติ
  4. ดูแลอารมณ์ ยอมรับในอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง หาสาเหตุสิ่งที่ทำให้เครียด และทำความเข้าใจในความเครียดที่เกิดขึ้น และระบายกับคนที่ไว้ใจ เพื่อลดความตึงเครียด
  5.  มีสติรับมือกับปัญหาที่จะเข้ามาเพิ่ม ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตปกติอย่างฉับพลัน จนหลายคนไม่ทันตั้งตัว และไม่คุ้นชิน การตั้งสติจึงเป็นส่วนสำคัญมากในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
  6.  หางานอดิเรกที่เหมาะสม ที่ตนเองชอบ การหากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกสบายใจ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายจากภาวะความตึงเครียด
  7. สื่อสารในสังคมออนไลน์ตามควร ในสิ่งที่เป็นความรู้และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยก่อนที่จะสื่อสาร โพสต์ หรือแชร์ข้อมูล ควรตรวจสอบความถูกต้อง และข้อมูลควรมาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้
  8. เข้าใจและเห็นอกเห็นใจความรู้สึกทุกข์ของผู้ติดเชื้อ COVID-19 และผู้เกี่ยวข้อง เพราะการแสดงท่าทีรังเกียจ จะทำให้บรรยากาศในสังคมยิ่งเป็นทุกข์ หมดกำลังใจ และความขุ่นข้องหมองใจนั้น สุดท้ายก็จะสะท้อนกลับมาที่จิตใจของเราเอง
  9. ส่งความใส่ใจ และการช่วยเหลือดูแลสังคม หากเราเปิดรับข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือกัน จะเห็นน้ำใจของทุกคนในสังคมที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการแจกอาหารให้กับคนตกงานกินฟรี การเย็บหน้ากากผ้าเพื่อนำไปบริจาคให้กับผู้ที่ขาดแคลน  หรือกรณีที่ทุกคนช่วยกันร่วมบริจาค หรือเป็นสื่อกลางในการรับบริจาคไปยังโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งดีๆที่ทำให้จิตใจเรามีความสุขได้

และ 4 สิ่งไม่ควรทำ

  1. ไม่ควรแก้เครียดด้วยอบายมุข บุหรี่ แอลกอฮอล์  
  2. ไม่ควรหาคนผิด ด่าว่ากันในสังคม  
  3. ไม่ควรแสดงการรังเกียจกันในสังคม  
  4. ไม่ควรแชร์ โพสต์ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ข้อปฏิบัติ  9 ควร ไม่ควร นี้ หากทุกคนในสังคมนำไปปฏิบัติ ปรับตัวในการใช้ชีวิตช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะสามารถช่วยลดความตึงเครียด และความวิตกกังวลให้คลายลงได้ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ทุกคนก็จะยังคงมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจที่แข็งแรง พร้อมออกมาใช้ชีวิตปกติได้ตามเดิม

Written By
More from pp
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เรียกร้อง 84 ส.ว. ออกเสียงสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่วมชักฟืนออกจากกองไฟ เปิดทางประเทศเดินหน้า
23 กันยายน 2563 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. …. ว่า
Read More
0 replies on “วิตกกังวลจากโรคระบาด COVID-19 รับมืออย่างไร”