26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.00 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ – สองขุนคลัง พปชร. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และ ดร.อุตตม สาวนายน ออกมาประสานเสียงชี้มาตรการแก้หนี้รัฐบาล (ล่าสุด) ไม่ตรงปก แนะถึงเวลาเร่งปฏิรูป ระบบสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อคนไทยทุกคน
มาตรการแก้หนี้ตีกรอบแคบ ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง ไม่เบ็ดเสร็จ
ดร.อุตตม กล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลประกาศมาตรการด้านเศรษฐกิจซึ่งให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ เพราะเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่รวดเร็วและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ประกาศยัง “ไม่ครอบคลุม” และ “ไม่ทั่วถึง” โดยระบุว่าหนี้ครัวเรือนไทยกำลังเป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ แต่มาตรการ แก้หนี้ของรัฐบาลกลับไม่ครอบคลุมถึงหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ที่เป็น NPL ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท หรือแม้กระทั่ง สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเหล่านี้เป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง และยังไม่ครอบคลุมถึงหนี้นอกระบบที่อาจมีมูลค่าแตะ 3.97 ล้านล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) ขณะเดียวกัน ยังตีกรอบแคบช่วยเหลือเฉพาะลูกหนี้ที่มีปัญหาไม่เกิน 1 ปี ทิ้ง SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่มียอดเสียกว่า 5 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม3.8 แสนล้านบาท ทั้งที่ SMEs ถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจสร้างมูลค่ากว่า 6.1 ล้านล้านบาท (35.2% ของ GDP) และมีจ้างงานถึง 28 ล้านคน (70% ของการจ้างงาน) การละเลย SMEs เท่ากับทำลายฐานเศรษฐกิจของประเทศ
การปรับโครงสร้างหนี้ต้องทำอย่างครบวงจร พร้อมปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
ดร.อุตตม ยังได้เสนอแนะแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ต้องทำครบวงจร นำหนี้ของลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งหนี้ธุรกิจ หนี้ครัวเรือน หนี้การเกษตร/สหกรณ์ และหนี้นอกระบบ มารวมกันแล้วกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ดึงทุกหน่วยงานเข้าร่วมแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ปรับโครงสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดอัตราดอกเบี้ยและการชำระหนี้ให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องศักยภาพรายได้ พร้อมเติมทุนใหม่ พัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
“การปฏิรูประบบสถาบันการเงินควรเดินคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ประชาชนฐานรากและ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย ต้นทุนกู้เงินต่ำลง” ดร. อุตตม กล่าวทิ้งท้าย
สภาพปัญหาและความจำเป็นในการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
ขณะที่ นายธีระชัย ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างการเงินที่ลักลั่น ส่งผลให้ประชาชนฐานรากและ SMEs เข้าถึงสินเชื่อยาก ปัจจุบัน อัตราอนุมัติสินเชื่อวงเงินเล็กหดตัว-4.6% (2567/Q3) และ SMEs กว่า 50% ขาดโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ขณะที่ ดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยสูงสุดถึง 7% เช่นเดียวกับส่วนต่างดอกเบี้ยรายย่อยเงินฝาก-เงินกู้ของธนาคารไทยสูงถึง 7% ส่วนหนึ่งส่งผลให้กำไรปี 2566 ของธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ทะลุ 226,571 ล้านบาท คาดปี 2567 ก็ไม่ต่างกัน ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปธนาคารเพื่อประชาชน
“ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการระบบการเงิน ซึ่งยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้” นายธีรชัย กล่าวเสริม
มาตรการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
นายธีระชัย อธิบายถึงมาตรการปฏิรูประบบสถาบันการเงินต้องมี 3 มาตรการสำคัญด้วยกัน
1) เพิ่มการแข่งขันในตลาดสถาบันการเงิน ด้วยการพิจารณาอนุมัติจัดตั้งธนาคารท้องถิ่น (Regional Bank) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในพื้นที่ชนบท เพราะจะเข้าใจข้อมูลเฉพาะตัวของลูกหนี้ในท้องถิ่นได้ดีกว่า และพิจารณาอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติ เข้ามาจัดตั้งสาขาในประเทศไทย เพื่อลดการผูกขาดของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ
2) เปิดประตูกว้าง สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนฐานรากและ SMEs ด้วยการกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ลดมาตรฐานเครดิตสกอร์ พร้อมนำข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ มาประกอบการอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้ประชาชนฐานรากสามารถกู้ยืมได้ง่ายขึ้น และรัฐบาลให้ บสย. ค้ำประกันหนี้กรณีพิเศษให้แก่ คนตัวเล็ก และ SMEs ในสัดส่วน 80% วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่ต้องกู้หนี้เพื่อลงทุนใหม่ พร้อมจัดตั้งกองทุน Startup Fund เพื่อส่งเสริมการเริ่มต้นธุรกิจใหม่
3) ลดส่วนต่างดอกเบี้ยเพื่อความเป็นธรรม ด้วยการจัดเก็บภาษีลาภลอยชั่วคราว (Windfall Tax) กับธนาคารที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยสูงเกินกำหนด โดยนำรายได้จากภาษีนี้ไปสนับสนุนโครงการช่วยเหลือประชาชนฐานราก
สุดท้าย พรรคพลังประชารัฐขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงจัง จริงใจและเร่งดำเนินการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพื่อความเป็นธรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน
“ปฏิรูประบบสถาบันการเงินไทย เพื่อคนไทยทุกคน”