เปลว สีเงิน
“พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ
“สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี”
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ทรงรับเด็กนักเรียน “โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม” จังหวัดอุทัยธานี ที่บาดเจ็บ
จากเหตุเพลิงไหม้ บนถนนวิภาวดีรังสิต หน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อ ๑ ตุลา.๖๗ ไว้เป็นคนไข้ ในพระบรมราชานุเคราะห์
และทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
รับศพนักเรียนและครู “ผู้เสียชีวิต” ทั้งหมดไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย
ในการนี้…..
พระราชทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพผู้เสียชีวิต
พระราชทานเพลิงศพแก่ผู้เสียชีวิตเป็นกรณีพิเศษ
รวมทั้งพระราชทานเงินช่วยเหลือและพระราชทานทุนการศึกษาแก่บุตรของครูที่เสียชีวิต ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
มิเพียงยังความซาบซึ้งแลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ให้เกิดแก่ครอบครัว ญาติมิตร ของผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตเท่านั้น
พสกนิกรทั้งหลายของพระองค์ เมื่อทราบ
ต่างซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” ยิ่งนัก
ที่ทรงห่วงใย ไม่ทอดทิ้งประชาชน ในทุกสถานการณ์ที่มีภัยและทุกข์โศก
………………………………..
เหตุครั้งนี้ ผมว่า เราอย่าหยิบยกขึ้นมา “เพ่งโทษ” กันเลย
ผมเชื่อ ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อมันเกิดขึ้น เราทุกคนต่างสะเทือนใจ
ฉะนั้น การจับผิด-จับถูก นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังสร้างความร้าวฉานทางสังคมและจิตใจต่อกันไปเปล่าๆ
เราต้องยอมรับความจริงทางสังคมบริหารและปกครองของบ้านเมืองไทยอย่างหนึ่งว่า
อะไรที่ว่าผิดพลาด-บกพร่อง เป็นเหตุนำสู่ปัญหานั้น ไม่ได้เกิดจากข้าราชการในระบบรัฐฝ่ายเดียว
ฝ่าย “ผู้ประกอบการ” ด้วยแหละ บางครั้ง-บางราย ก็สมรู้-สมประโยชน์กับคนในระบบรัฐ หลบเลี่ยง-ละเลย ต่อการปฎิบัติให้ตรงตามมาตรฐาน
พอมีเหตุที ตรวจสอบ ก็พบผิดกฎหมาย ไม่ตรงสเปก ตัดแต่ง-ต่อเติม ผิดไปจากที่แจ้งขอจดทะเบียนแทบทั้งนั้น
เป็น “มรดกสันดาน” ที่สืบทอด จนเป็น “มาตรฐานคุณภาพระบบราชการและระบบสังคมไทย” ถึงทุกวันนี้
ฉะนั้น ถ้าจะว่า “วัวหายล้อมคอก”….
ในสังคมคนเลี้ยงวัว ก็ยังดี ที่มีวัวเหลือกระตุ้นสำนึกให้เกิดในทางป้องกัน!
นี่เหมือนกัน เราอย่ามองแค่ “รถนักเรียน” ให้ถือเป็น “เหตุตัวอย่าง” ทางป้องกันในอนาคต
ไม่แค่รถนักเรียน รถทุกชนิด โดยเฉพาะรถโดยสารทั่วไปกระทั่งรถไฟฟ้า ควรอยู่ในกรอบที่เราทั้งหลาย
ทั้งฝ่ายรัฐ-ฝ่ายราษฎร์ ต้องเคร่งครัดด้าน “มาตรฐาน”
หมายถึงมาตรฐานคุณภาพสังคมด้าน “การป้องกัน” และด้านการ “เรียนรู้วิธี” เอาตัวรอด ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน
เรามีโทรศัพท์มือถือกัน เครื่องละเป็นหมื่น มีลูกเล่นทางไอทีให้ใช้เป็นสิบ-เป็นร้อยอย่าง
แต่เราส่วนใหญ่ “รู้จัก-ใช้เป็น” อยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คือ รับโทรศัพท็ กับ กดเบอรโทรออก
นอกนั้น “ใช้ไม่เป็น-ทำไม่เป็น” รวมทั้งผมเองด้วย!
นี่คือตัวอย่าง ที่จะบอกว่า…..
ทุกวันนี้ ไม่แค่ขึ้นรถโดยสาร ชีวิตคนส่วนหนึ่ง อยู่กับอาคารสูง ไปห้างบ้าง ไปโรงพยาบาลบ้าง อยู่คอนโดฯ บ้าง
มีสักกี่คน ที่ฝึกว่าต้องปฎิบัติอย่างไร ถ้าลิฟต์ค้าง ต้องติดอยู่ในนั้น?
ถ้าอยู่บนอาคารสูง หรืออยู่คอนโดฯ ต้องปฎิบัติอย่างไร ถ้าเกิดไฟไหม้?
กระทั่งอยู่ในรถตู้โดยสาร ในรถเมล์ ในรถไฟฟ้า แม้ในรถแท็กซี่หรือรถเก๋งส่วนตัวก็เถอะ
ถ้าไฟไหม้ หรือเกิดอุบัติเหตุ ประตูรถล็อก เปิดไม่ออก เราจะทำอย่างไร เพื่อเอาตัวให้รอดออกมา?
เห็นมั้ย มันไม่ใช่แค่รถนักเรียนเท่านั้น ในวงจรชีวิตมนุษย์ปัจจุบันนี้ ติดอยู่ในดักคำว่า “ระบบไฟฟ้า…ระบบอัตโนมัติ” จนลืมไปว่า
ถ้าไฟฟ้าดับ หรือเกิดเหตุไม่มีไฟ อะไรๆ ที่ปิด-เปิดและเลื่อนปรู๊ดปร๊าดด้วยไฟฟ้า มันจะหยุดนิ่ง
แล้วมนุษย์จะทำยังไง ในภาวะ “ไม่มีไฟฟ้า” นั้น?
คำตอบขั้นแรก ที่เราต้องตระหนักกัน ก็คือ
๑.ไปที่ไหนๆ อย่าจำแต่ทางไปลิฟต์ ต้องมองหาป้ายที่เขาเขียนว่า EXIT คือ ประตูทางออกฉุกเฉิน เผื่อไว้ด้วย
๒.ต้องศึกษา-เรียนรู้ วิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆ กรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะวิธีใช้ถังดับเพลิง เครื่องมือทุบกระจก และการหนีไฟในอาคารสูง
ส่วนใหญ่คงเคยนั่งเครื่องบินโดยสารกันมาแล้ว จะเห็นว่า ทุกครั้ง แอร์โฮสเตรส จะสาธิตวิธีใช้หน้ากาก แนะนำวิธีคลำไปหาประตูฉุกเฉิน วิธีเปิดประตูฉุกเฉิน อะไรต่างๆ นานา
เป็นกฎเคร่งครัด “ทุกสายการบิน” ต้องทำทุกครั้งเมื่อขึ้นบิน
แต่การโดยสารยานพาหนะในภาคพื้นดิน ไม่มีใครมาสาธิตให้เรารู้หรอก
นั่งรถเมล์ร้อน พอโดดหน้าต่างหนีได้ แต่ถ้าเป็นรถแอร์ ปิดทึบ แถมอัตโนมัติทุกระบบ
ไม่รู้เลย จะออก-จะหนีทางไหน อย่างไร ด้วยวิธีแบบไหน ต่อให้มีคำแนะนำแปะไว้ ใครล่ะจะบ้าอ่านในตอนนั้น
คนไทย “โอปปาติกะทางความรู้” คือรู้ทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่เกิดกันทั้งนั้น
ฉะนั้น เรื่องที่จะให้กระเป๋ารถเมล์สาธิตวิธีและแนะนำคู่มือการใช้อุปกรณ์หนีภัยในรถ เหมือนเครื่องบิน นั่นเรื่อง “ฝันไป”
เหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักร่วมกัน โดยเฉพาะตามสถานโรงเรียน ควรมีหลักสูตรให้นักเรียนฝึก
กรณีไฟไหม้รถบัสนักเรียน เป็นตัวอย่าง ที่เห็นความ “ผิดพลาด-บกพร่อง” ที่ควรต้องแก้ไข ตั้งแต่ต้นน้ำ
“กองพิสูจน์หลักฐานตำรวจ” แถลงผลการตรวจสอบรถบัสที่ไฟไหม้ เมื่อวาน (๒ ต.ค.)
“เบื้องต้นพบมีการดัดแปลงโดยติดตั้งแก๊สถึง ๑๐ ถัง อยู่บริเวณล้อหน้าทั้งด้านซ้ายและขวาข้างละ ๒ ถัง บริเวณล้อด้านหลังทั้งซ้ายละขวาอีกข้างละ ๑ ถัง และตอนกลางของรถด้านล่างอีก ๔ ถัง
แต่ทั้งนี้ ใบที่ขออนุญาตดัดแปลง มีการขอเพียง ๓ ถัง จึงได้เรียกเอกสารจาก “กรมการขนส่ง” เพื่อนำมาตรวจสอบแล้ว หากพบไม่ตรงกัน ถือว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย”
ข้อมูลจากบริษัทประกันภัย ระบุว่า…..
รถคันเกิดเหตุ จดทะเบียนครั้งแรกเมื่อ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ระบุเป็นประเภทรถโดยสารไม่ประจำทาง
เลขตัวรถ 14300 เลขเครื่องยนต์ 422915-20-590053 มีที่นั่ง ๔๑ ที่นั่ง น้ำหนักรวม ๑๖,๖๐๐ กิโลกรัม
ตอนยื่น “กรมการขนส่งทางบก” ไม่ได้ยื่นจดทะเบียนว่าติดตั้งถังแก๊สเอ็นจีวี
แต่ตอนสมัครกับบริษัทประกัน ยื่นว่า “รถบัสคันที่เกิดเหตุติดถังแก๊สเอ็นจีวี”
“นายชีพ น้อมเศียร” ผอ.วิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก บอกว่า
การตรวจถัง CNG จะตรวจว่า ตัวถังมีอายุกี่ปี ซึ่งจะตรวจสอบปีละ ๒ ครั้ง โดยจะตรวจสอบรอยรั่วของก๊าซข้อต่อว่ารั่วหรือไม่
รวมถึงอายุการใช้งานของถัง ต้องไม่เกิน ๑๕ ปี จำนวนถังจะได้รับรองจากกรมฯ โดยมีวิศวกรเป็นคนตรวจก่อนได้รับใบอนุญาต
ส่วนจำนวนถังที่ติด ในระเบียบจะดูน้ำหนักรถ โดยจะคำนวณว่าบรรทุกได้เท่าไหร่ เช่น รถบรรทุกน้ำหนักได้ ๑๕ ตัน ๔๐ ที่นั่ง น้ำหนักติด CNG โดยทั่วไปติดตั้งได้ ๕-๖ ถัง ส่วนสภาพรถ อายุการใช้งาน นายชีพยอมรับว่า
“ไม่มีการกำหนด”!
อยู่ที่การตรวจสภาพ เช่น ตรวจล้อ มลพิษ ไฟหน้า แต่ยืนยันว่า รถจะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบกทุกคัน
กรณีการดัดแปลงรถ ชี้แจงว่า…..
“คันที่ไฟไหม้ รถจดทะเบียนเป็นเครื่องยนต์อีซูซุ แต่ติดเครื่องหมายเบนซ์ กรณีนี้ ไม่มีระเบียบกำหนด”
แต่หลังจากนี้ จะตรวจเข้มข้น การ “ตรวจสภาพ” จะมีการตรวจทุกมิติ
“นายจิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ซึ่งอยู่ครบ ๔ ปีและต่ออายุราชการจากปีที่แล้วมาอีก ๑ ปี บอก
“ในทางปฎิบัติ ตามมติ “คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง 3/2568” ระบุว่า รถโดยสารไม่ประจำทาง
“ไม่มีการกำหนดอายุการใช้งาน” เลขตัวถังรถ (คัสซี) แต่รถโดยสารประจำทาง ที่มีระยะทางไม่เกิน ๓๐๐ กม.กำหนดให้มีอายุการใช้งานของคัสซีรถ ไม่เกิน ๔๐ ปี
รถโดยสารประจำทาง ที่มีระยะทางไม่เกิน ๓๐๐-๕๐๐ กม.กำหนดอายุคัสซี ไม่เกิน ๓๕ ปี
รถโดยสารประจำทาง ที่มีระยะทางเกิน ๕๐๐ กม.กำหนดอายุคัสซี ไม่เกิน ๓๐ ปี
ส่วนรถหมวด ๑ ที่วิ่งในเมือง อายุคัสซีไม่เกิน ๕๐ ปี”
ยึดตามมาตรฐานอธิบดีฯ บอก รถบัสนักเรียนที่ไฟไหม้ แม้จดทะเบียนมาแล้ว ๕๔ ปี
ก็ไม่เห็นเป็นไร?!
เพราะมติ “คณะกรรมการขนส่งทางบก” ท่านไม่ห้าม
แต่มติฯ นั้น จะสอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่ สภาพรถไม่ตรงตามแจ้งจดทะเบียน แล้วผ่านมาได้อย่างไร ตรงนี้ ผมไม่ทราบ ต้องไปถามท่านอธิบดี
เห็นท่านบอกว่า “หากต้องมีการแก้กฎหมาย ก็จะเร่งดำเนินการ”
นี่แหละ การสืบสันดานตาม “มาตรฐานไทย” ละ!
สรุป…เรื่องนี้ “ไม่มีใครผิด”
ถ้าจะมีผิด “กฎหมาย” โน่นแหละ “ผิด”
คน “ไม่ผิด”!