ผักกาดหอม
ไม่มีแผนสำรอง
พรรคเพื่อไทยว่างั้นครับ
ไม่มีแผนกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ออกจากตำแหน่ง จากการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ก็ไม่จำเป็นต้องมีแผนอะไรในตอนนี้ครับ
เพราะหากนายกฯ เศรษฐา ถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน พรรคเพื่อไทยก็ยังมีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกตั้ง ๒ คน คือ แพทองธาร ชินวัตร กับ ชัยเกษม นิติสิริ
ก็ต้องเลือก ๑ ใน ๒ คนนี้เป็นนายกฯ คนต่อไปโดยอัตโนมัติ
ตั้งรัฐบาลกันใหม่
แถลงนโยบายใหม่
จากนั้นเข้าบริหารประเทศ
หากศาลรัฐธรรมนูญไม่ถอดถอน รัฐบาลก็เดินหน้าต่อไป
กลไกมันมีอยู่แค่นี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน
แต่ที่ซับซ้อนกว่าคือเรื่อง จริยธรรมทางการเมือง ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ความซับซ้อนคือ คนไทยทุกคนต่างท่องคำสอนในศาสนาแต่ละศาสนาที่ให้คนทำดี ละเว้นชั่ว ได้หมด แต่เมื่อต้องพูดถึงจริยธรรมของนักการเมือง กลับต้องตีความว่า…
อะไรคือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
อะไรไม่ใช่พฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ก่อนนี้ ในคำแถลงปิดคดีของนายกฯ เศรษฐา ก็พยายามโยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์คืออะไร
อีกทั้งยกการอภิปรายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างการพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) ที่ให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์-มีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ดี จะพิสูจน์ได้อย่างไร
ประเด็นนี้ “มีชัย ฤชุพันธุ์” บอกว่า หากมีข้อสงสัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
และยังอ้างอีกว่า จากบันทึกการประชุมดังกล่าว “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขานุการ กรธ.ที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า
“…ร่างมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ควรมี แต่ในทางกลับกัน อาจเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งทางการเมือง จนทำให้มีคำร้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นศาลการเมืองไปโดยปริยาย…”
ทั้งหมดทั้งมวลสะท้อนให้เห็นว่า สังคมการเมืองไทยไม่เคยสร้าง ขนบธรรมเนียม ประเพณี เรื่องความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ไว้เลย
เป็นไปได้อย่างไรครับ แค่คำว่า “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ยังต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยว่า หมายความว่าอย่างไร
จึงไม่แปลก ที่มีการเปรียบว่านักการเมืองไทยมี “ดีเอ็นเอคอร์รัปชัน” อยู่ในตัว
ประเทศไทยจึงต้องเผชิญกับการคอร์รัปชันมาอย่างยาวนาน
ปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่
นายกฯ เศรษฐาจะถูกถอดถอนหรือไม่ ไม่สำคัญเท่านักการเมืองไทย ตกผลึกเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องทำผิดจริยธรรมหรือไม่
นายกฯ เศรษฐาอาจรอด เพราะไม่เคยมีการสร้างบรรทัดฐาน เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มาก่อน
แต่มันคือการประจานว่า การเมืองไทย แทบไม่มีพื้นฐานด้านจริยธรรมเลย
มาดูข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ประจักษ์บ้าง
เรื่องที่ “พิชิต ชื่นบาน” ต้องคำสั่งศาลให้จำคุก ๖ เดือนจากคดีละเมิดอำนาจศาล ก็กรณีถุงขนม ๒ ล้านบาทนั่นแหละครับ มีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์
โดยวิญญูชน ไม่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ควรสามารถแยกแยะได้ว่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
แม้ “พิชิต ชื่นบาน” จะพ้นโทษมาเกินกำหนดระยะเวลา ๑๐ ปี แต่ในแง่ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ได้งอกเงยระหว่างนี้หรือไม่
แล้วเอาอะไรมาลบล้างคำสั่งศาลที่ว่า
“…จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑ (๑), ๓๓ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ…”
อุกอาจ
สร้างความเสื่อมเสีย
กระทบต่อความน่าเชื่อถือศรัทธา
อีกทั้งกรณี “พิชิต ชื่นบาน” ศาลได้ลงโทษเต็มพิกัด เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๓ บัญญัติว่า “ในกรณีกําหนดโทษจําคุกและปรับนั้นให้จําคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท”
แบบนี้เป็นที่ประจักษ์หรือไม่
แม้ในคำแถลงปิดคดี นายกฯ เศรษฐา จะอ้างว่า ตนเองมีภูมิหลังในการประกอบอาชีพทางธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด ไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จนไม่อาจชี้ขาดได้ว่า “พิชิต ชื่นบาน” เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
อาจพยายามสื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นความบกพร่องโดยสุจริต
แต่อย่าลืมนะครับ ก่อนการตั้งรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว มีชื่อของ “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีด้วย และถูกวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่าการตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา
ฉะนั้นจะอ้างว่า ไม่รู้คงไม่ได้
หนำซ้ำยังส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมาย ถึงคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของ “พิชิต ชื่นบาน”
แสดงว่า นายกฯ เศรษฐา ก็เคยรับรู้ถึงความเสี่ยงในการตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ย้ำอีกครั้ง นายกฯ เศรษฐาจะถูกถอดถอนหรือไม่ ไม่สำคัญเท่า สังคมไทย การเมืองไทย ตกผลึกร่วมกันกับประโยคที่ว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” หรือไม่
เพราะนี่คือหัวใจของการปฏิรูปการเมือง