“ประชาธิปัตย์” จี้ รบ. เร่งผลักดันมาตรการคุ้มครองเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ หลังเหตุสูญเสีย พ.ต.ท. กิตติ์ชนม์

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย อดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็น จากเหตุการณ์ที่เกิดที่บางบอน กรณีตำรวจเข้าระงับเหตุชายคลั่ง จนเป็นเหตุให้ พ.ต.ท. กิตติ์ชนม์ จันยะรมณ์ รอง ผกก.ป.สน.ท่าข้าม ซึ่งพยายามเข้าไปเจรจา ถูกยิงสวนด้วยอาวุธปืน จนเสียชีวิต ว่า

ตนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ พ.ต.ท. กิตติชนณ์ จันยะรมณ์ ผู้เสียชีวิต และรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่า ซึ่งหากเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป คนร้ายต้องถูกยิงก่อนทันทีหากมีอาวุธปืนอยู่ในมือ โดยไม่ต้องรอการเจรจาใด ๆ ทั้งนี้เพื่อจำกัดวงของความเสียหายไม่ให้กระจายออกไปและยุติเหตุการณ์ให้จบลงโดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสที่คนร้ายจะก่อความเสียหายเพิ่มขึ้น

โดยหลักของไทยนั้นเจ้าพนักงานสามารถใช้อาวุธปืนได้ แต่ใช้ในลักษณะของการป้องกันตัว เช่นเดียวกับของพลเรือน กล่าวคือต้องรอให้มีภยันตรายอันใกล้จะถึงตัวเสียก่อน ถึงจะสามารถตอบโต้ด้วยการใช้กำลังในระดับเดียวกันได้ แต่จริง ๆ แล้วเป้าประสงค์ของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นแตกต่างกับการป้องกันตัวของบุคคลธรรมดา เพราะเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องระงับเหตุโดยเร็วที่สุด จำกัดวงของความเสียหายไม่ให้กระจายออกไป และยุติความเป็นไปได้ใด ๆ ที่ผู้ก่อเหตุจะสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินรอบข้าง

ดังนั้นในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบของการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนในระบอบประชาธิปไตย ในหลาย ๆ เรื่อง จึงมีหลักปฏิบัติของการใช้กำลังถึงตาย (Use of Deadly Force) ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังที่ทำให้ผู้ก่อเหตุถึงแก่ชีวิตได้ หากมีเหตุปรากฎว่า 1. มีเหตุ ‘อันควรเชื่อได้ว่า’ ผู้ต้องสงสัยแสดงการคุกคามในทันทีทันใดว่าจะทำอันตรายอย่างร้ายแรงต่อเนื้อตัวร่างกาย 2. เมื่อผู้ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนบาดเจ็บอย่างร้ายแรง และกำลังจะหลบหนี

จะเห็นได้ว่าแม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นแม่แบบของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ก็มีหลักที่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเฉียบขาดของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองชีวิตของเจ้าหน้าที่และผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเป็นสำคัญ ส่วนข้อกังวลในเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่นั้น ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี เช่น กล้องประจำตัว โดรน หรือ GPS ซึ่งใช้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ประกอบกับการอบรม ฝึกทบทวนเป็นประจำ ไม่ควรนำข้อกังวลตรงนี้มาลดทอนความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

ผมจึงอยากฝากให้รัฐบาลนำไปพิจารณาทบทวนเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และผู้บริสุทธิ์ทุกคน ด้วยความปรารถนาดี

Line Open Chat เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ พร้อมพูดคุย แสดงความคิดเห็น เรื่องการบ้านการเมือง สังคม หรืออื่นๆ กับคนคอเดียวกัน
Written By
More from pp
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
24 มิถุนายน 2565 – ที่ห้องแถลงข่าวอาคารรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม....
Read More
0 replies on ““ประชาธิปัตย์” จี้ รบ. เร่งผลักดันมาตรการคุ้มครองเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ หลังเหตุสูญเสีย พ.ต.ท. กิตติ์ชนม์”