“คารม” เตือน ถ้านำความผิดตาม ปอ.ม. 110 และหรือ ม.112 เข้ามารวมใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจทำให้การนิรโทษกรรมไม่ประสบความสำเร็จ และกฎหมายดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ

19 กรกฎาคม 2567  นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังมีการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่กระทำผิด ระหว่างปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยในการนิรโทษ นั้น ไม่นำเอาความผิดเกี่ยวกับชีวิต และความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงรวมเข้าใน พ.ร.บ.การนิรโทษกรรม

ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 กรรมการที่ศึกษาเพื่อจัดทำกฎหมายนิรโทษกรรมเห็นว่ามีความอ่อนไหวทางการเมือง มีความเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ

1.ไม่ควรนิรโทษกรรม 2.ให้มีการนิรโทษกรรม โดยไม่มีเงื่อนไข 3.ให้มีการนิรโทษกรรม แบบมีมาตรการเงื่อนไข

“ผมขอแสดงความคิดเห็นในฐานะเป็นนักกฎหมาย และเป็นคนที่เคยร่วมชุมนุมกับประชาชนในช่วงปี 2549 ถึงปี 2554 ได้สัมผัสถึงความรู้สึกความคิดเห็นที่แตกต่างในทางการเมืองของประชาชน ได้เห็นความต้องการของประชาชน ที่มาเรียกร้องว่าเขาต้องการความเป็นอยู่ที่ดี มาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ก็มาก มาแบบมีการจัดการก็มี ดังนั้น เมื่อมีการดำเนินคดีกับประชาชนเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเขามาชุมนุมตามสิทธิที่เขาเข้าใจ และต้องการเรียกร้องในฐานะประชาชน ดังนั้น การดำเนินคดีกับประชาชนเหล่านี้จึงไม่ถูกต้อง เขาจึงควรได้รับการนิรโทษกรรม ” นายคารม ระบุ

นายคารม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของบุคคลที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 หรือมาตรา 112 นั้น ต้องเข้าใจว่าความผิดตามมาตรา 107 ถึงมาตรา 112 นั้นกฎหมายบัญญัติไว้ในหมวด 1 ลักษณะ 1 ภาค 2 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพิจารณาความผิดฐานนี้ ประกอบกับเนื้อความในรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ในหลายมาตรา เช่นมาตรา 2 มาตรา 5 และมาตรา 6 จะเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 มีลักษณะแตกต่างจากประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่น เพราะบัญญัติไว้เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยสำคัญ เพราะฉะนั้นถ้ามีคนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามาตรา 110 หรือ 112 แล้ว ต่อมาได้มีการออกกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าว ไม่ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด เพราะการนิรโทษกรรมเท่ากับบุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิดเลย ทำให้มีนัยยะว่า อาจเป็นการส่งเสริมให้กระทำผิดและเมื่อกระทำผิดแล้วก็มาออกกฎหมายภายหลังว่าการกระทำดังกล่าว ไม่ถือเป็นความผิด โดยอ้างว่าที่กระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์์ไปนั้น เพราะมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จึงถือว่าเป็นการส่งเสริมให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์์ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า พระองค์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้

นายคารม กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณามาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์์ทรงเป็นประมุข ยิ่งเป็นการบอกชัดว่าการละเมิดพระมหากษัตริย์์ นั้น คือการเจตนากัดเซาะ บ่อนทำลายระบบการปกครองของประเทศไปด้วย ดังนั้น การละเมิดพระมหากษัตริย์จึงไม่อาจทำได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางใด และไม่ต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองหรือทางใดใด ไม่อย่างนั้นทุกคนก็เอามูลเหตุจูงใจในทางการเมืองมาอ้าง เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ การนำเอา ปอ. มาตรา 110 หรือ112 เข้ามาอยู่ในกฎหมายนิรโทษจึงทำไม่ได้ เพราะความผิดมาตรา 110 และ 112 ไม่เหมือนกับความผิดอาญาทั่วไป จะทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมโมฆะเพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 5 ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งจะทำให้ส่วนดีของกฎหมาย และเจตนาดีที่จะนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มาชุมนุมตกไปไม่ได้รับประโยชน์ แทนที่จะได้ลดความขัดแย้งลง แต่จะเพิ่มความขัดแย้งเพราะนำมาตรา 110 และ 112 เข้าไปรวมด้วย

“สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามมาตรา 110 หรือ 112 สิ่งน่าจะเหมาะสมและควรทำคือ การให้เขาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้มีเจตนากระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์์ โดยให้เขาได้รับสิทธิการประกันตัว และหากสุดท้ายผลของคดีเป็นอย่างไร บุคคลดังกล่าวยังมีสิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษต่อองค์พระมหากษัตริย์์ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระองค์ โดยแท้” นายคารม กล่าว

Line Open Chat เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ พร้อมพูดคุย แสดงความคิดเห็น เรื่องการบ้านการเมือง สังคม หรืออื่นๆ กับคนคอเดียวกัน
Written By
More from pp
อะไร..ที่พี่ไม่กล้าพูด?
ผสมโรง สันต์ สะตอแมน “ขอให้ประชาชนตัดสินเอง.. ว่า ระหว่างนายชวนกับตน ใครรักษาผลประโยชน์บ้านเมืองมากกว่ากัน” “ตน”..คนที่พูดนี้คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ส่วน...
Read More
0 replies on ““คารม” เตือน ถ้านำความผิดตาม ปอ.ม. 110 และหรือ ม.112 เข้ามารวมใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจทำให้การนิรโทษกรรมไม่ประสบความสำเร็จ และกฎหมายดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ”