ผักกาดหอม
เคาะแล้วครับ
เวลา ๐๙.๓๐ น. วันพุธที่ ๗ สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล
วานนี้ (๑๗ กรกฎาคม) ใบแถลงข่าวของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า…
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๑ มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง
หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการปิดคดี ให้ยื่นเป็นหนังสือสอบถามศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๑ มาตรา ๖๗ ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๒ ข้อ ๒๔ ภายในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗
ส่วนคำร้องที่คู่กรณียื่นให้รับรวมไว้ในสำนวนคดีเพื่อประกอบพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ ๗ สิงหาคม เวลา ๐๙.๓๐ น.
และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา ๑๕.๐๐ น
ขีดเส้นใต้ประโยคที่ว่า “คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย”
ไปทวนคำร้องคดีนี้กันอีกครั้งครับ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคก้าวไกลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ๒๕๖๐ มาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗
จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล
เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล
ห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา ๙๒ วรรคสอง และมาตรา ๙๔ วรรคสอง
ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยตามกรอบคำร้องนี้
การยุติการไต่สวน เป็นไปตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๘ ที่บัญญัติว่า….
“…หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทําการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้…”
ก็หมายความว่า คดีนี้สิ้นกระบวนความแล้ว ศาลสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องไต่สวนใดๆ อีก
ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเรียกเอกสาร พยานหลักฐานอะไรเพิ่มเติมบ้าง
ศาลมีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่พรรคก้าวไกล ยื่นคำร้องโต้แย้งผู้ร้อง คือ กกต. ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการยื่นคำร้องให้ศาลยุบพรรคก้าวไกล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดการไต่สวนประเด็นที่พรรคโต้แย้งไป และเรียกพยานมาไต่สวนประเด็นนี้ คือ “ชัยธวัช ตุลาธน” กับ “ศ.สุรพล นิติไกรพจน์”
และยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกเอกสารเพิ่มเติมจากกกต. เพราะเชื่อว่า กกต.ดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เปรียบเสมือนใช้ทางด่วนเบ็ดเสร็จในการพิจารณาเพียงวันเดียว
ปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีหลายประเด็นให้พูดถึง
หลักๆ ที่พรรคก้าวไกลข้องใจคือ กกต.ยื่นคำร้องถูกต้องหรือไม่
ถ้า กกต.ยื่นคำร้องไม่ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยตั้งแต่ต้นหรือครับ
กกต.ยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา ๙๒ วรรคสอง
คือ…เมื่อคณะกรรมการ (กกต.) มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(๒) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หลักฐานอันควรเชื่อ ก็คือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ หรือที่เรียกว่าคดีล้มล้างการปกครอง กรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ ม.๑๑๒ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
“…เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะ เป็นการล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข…”
พรรคก้าวไกลพยายามสู้ว่า มาตรา ๙๒ ต้องดำเนินการประกอบกับมาตรา ๙๓ คือต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานก่อน ไม่ใช่ข้ามขั้นตอน
มาตรา ๙๓ บัญญัติว่า
“…เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๒ ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๒ คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือ จะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้ ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราว ตามคำร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี ก็ได้…”
๒ มาตรานี้แยกออกจากกันครับ
ความหมายของมาตรา ๙๒ คือ เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า
ขณะที่มาตรา ๙๓ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๒
หนำซ้ำยังกำหนดว่า ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณา
ก็หมายความว่า หากพบความผิดตามมาตรา ๙๓ ก็ต้องย้อนกลับไปมาตรา ๙๒
แต่หาก กกต.พบความผิดเอง คือมาตรา ๙๒ ก็ไม่ต้องไปดำเนินการในมาตรา ๙๓
นี่คือข้อกฎหมาย ที่พรรคก้าวไกลพยายามสู้
ขณะที่ข้อกฎหมายที่ กกต.ยกมาคือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะนั่้นคือหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกล กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองมันค้ำอยู่ จะบอกว่าไม่อาจนำมาเป็นเหตุในคดียุบพรรคก้าวไกลได้นั้น มันเลื่อนลอยเกินไป จะอธิบายเป็นภาษากฎหมายได้อย่างไร
แต่การจะยุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกล ยังมีองค์ประกอบอื่นอีก
เช่นคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ศาลสั่งให้พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำ เพียงแต่พรรคก้าวไกลไม่นำประเด็นนี้มาต่อสู้
เหตุผลง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน หากพรรคก้าวไกลประกาศว่า ยกเลิกนโยบายแก้ ม.๑๑๒ แล้วจะไม่ยุ่งกับประเด็นนี้อีกต่อไป ผลที่ตามมาคือ “ส้มเน่า”
มวลชนที่พรรคก้าวไกลปลุกขึ้นมาจะพากันสาปแช่งว่า “ทรยศ”
ฉะนั้นการไม่หยิบยกมาสู้ก็ถือเป็นเจตนาของพรรคก้าวไกล
เจตนาไม่เคยเปลี่ยน