“ตุ่มน้ำพอง” โรคผิวหนังเรื้อรังจากภูมิเพี้ยนในผู้สูงอายุ แพทย์ผิวหนังจุฬาฯ แนะวิธีดูแลและรักษาด้วยยาชนิดใหม่

แพทย์จุฬาฯ เผยพบผู้ป่วยโรคผิวหนังเรื้อรังจากภูมิต้านทานในร่างกายทำงานผิดเพี้ยน ที่เรียกว่า “โรคตุ่มน้ำพอง” เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แนะการรักษาด้วยยาชนิดใหม่ พร้อมวิธีดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นโรคนี้

ในบรรดาโรคผิวหนังที่มีมากถึง 3,000 – 4,000 โรค “ตุ่มน้ำพอง” เป็นหนึ่งในโรคผิวหนังเรื้อรังที่คนไทยคุ้นชื่อเป็นอย่างดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีข่าวดารานักแสดงชายที่มีชื่อเสียง “วินัย ไกรบุตร” ป่วยเป็นโรคนี้ด้วยอาการขั้นรุนแรง สภาพร่างกายที่เคยแข็งแรง ผิวพรรณดี กลับมีตุ่มน้ำขึ้นทั่วตัว และต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคนี้เป็นเวลานานกว่า 5 ปี ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อต้นปี 2567 ด้วยสาเหตุการติดเชื้อในกระแสเลือด

แม้ชื่อ “โรคตุ่มน้ำพอง” จะเริ่มเป็นที่รู้จัก แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาเหตุของโรค อาการ แนวทางการรักษา และที่สำคัญคือโรคนี้ไม่ใช่โรคที่พบได้ยากในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ประวิตร อัศวานนท์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งให้การรักษาผู้ป่วยโรคตุ่มน้ำพองกล่าวว่า “ตุ่มน้ำพองเป็นกลุ่มของโรคผิวหนังที่ไม่ใช่โรคที่หายาก โดยเฉพาะโรคที่ชื่อว่า bullous pemphigoid ตุ่มน้ำ เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำงานผิดเพี้ยน และส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีอายุ 50 – 60 ปีขึ้นไป”

“ผู้ป่วยโรคนี้มักจะวิตกจากการที่มีตุ่มน้ำขนาดต่าง ๆ ขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าตุ่มน้ำแตกจะมีอาการแสบเป็นแผลถลอก และเมื่อหายแล้วจะทิ้งร่องรอยให้เห็นบนผิวหนัง การรักษาที่ไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดตุ่มน้ำเพิ่มมากขึ้นและแพทย์เองก็ต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้”

ตุ่มน้ำพองเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็ “สงบ” นานๆ ได้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้มี แนวทางการรักษาและยาชนิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยคุมการดำเนินโรค และดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

“ภูมิเพี้ยน” สาเหตุของโรคตุ่มน้ำพอง

ศ.นพ.ดร.ประวิตร อธิบายสาเหตุของโรคตุ่มน้ำพองให้เห็นภาพที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า “ในร่างกายของคนเรามีการสร้างภูมิต้านทานตลอดเวลา ภูมิต้านทานเปรียบเสมือนทหารหรือตำรวจที่ต้องจดจำประชาชนให้ได้เพื่อปกป้องคุ้มกันภัยให้ แต่ในบางครั้งภูมิต้านทานก็เกิดปัญหาคือมีการจำที่ผิดเพี้ยนไป จึงทำให้มาทำร้ายคนคุ้นเคย เช่นเดียวกันกับภูมิต้านทานในร่างกายที่เกิดความผิดพลาดในการจำ “กาว” ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ ทำหน้าที่ยึดเซลล์หนังกำพร้าและหนังแท้เข้าด้วยกัน ทำให้ผิวหนังที่เคยเกาะกันด้วยกาวชนิดนี้แยกตัว ออกจากกัน เกิดเป็นตุ่มน้ำขึ้นบริเวณผิวหนัง เราจึงมักอธิบายการเกิดโรคตุ่มน้ำพองว่าเกิดจาก “ภูมิเพี้ยน”

โรคภูมิเพี้ยน “ตุ่มน้ำพอง” มี 2 โรคที่มีลักษณะคล้ายกัน ได้แก่ เพมฟิกัส (Pemphigus) และ บูลลัส เพมฟิกอยด์ (Bullous Pemphigoid) ซึ่งอย่างหลังเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยกว่าและเป็นชนิดที่เกิดขึ้นกับอดีตนักแสดงชาย

“เพมฟิกัสเกิดจากภูมิต้านทานในร่างกายทำลายกาวที่อยู่ระหว่างเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า ซึ่งอยู่ในชั้นผิวหนังที่ตื้นกว่าเพมฟิกอยด์ ทำให้เซลล์ในหนังกำพร้าหลุด เกิดเป็นตุ่มน้ำพองที่ผิวหนังเป็นบริเวณกว้างเหมือนกับคนถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งดูน่ากลัวและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้”

“ในขณะที่เพมฟิกอยด์ แม้จะเกิดในชั้นผิวหนังที่ลึกกว่า แต่จะเกิดในผิวหนังบางส่วนเท่านั้น และผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งภูมิต้านทานในร่างกายมีโอกาสทำงานผิดเพี้ยนมากขึ้น”

ศ.นพ.ดร.ประวิตร กล่าวว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคตุ่มน้ำพองมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุในสังคมสูงวัย โรคตุ่มน้ำพองนอกจากจะมาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับยาที่รับประทานด้วย ที่ผ่านมาพบว่ามียาขับปัสสาวะชนิดหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้ และในระยะหลังยารักษาเบาหวานที่เป็นยาใหม่ๆ กลุ่มหนึ่งก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคตุ่มน้ำพองชนิดเพมฟิกอยด์อีกด้วย

อาการและการวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำพอง

อาการของโรคตุ่มน้ำพองที่เห็นได้ชัดคือการเกิดตุ่มน้ำใสๆ พองขึ้นบริเวณผิวหนังเหมือนโดนน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันที่ผิวหนังโดยไม่มีสาเหตุ และเป็นผื่นบวมแดง ซึ่งแตกต่างจากโรคผื่นภูมิแพ้ ที่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ
ตุ่มน้ำที่ผิวหนังของผู้ป่วยโรคนี้เกิดขึ้นแตกต่างกัน บางคนเกิดเฉพาะที่ เช่น มือ เท้า หรือหน้าแข้ง รวมทั้งในช่องปาก ส่งผลให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานอย่างมาก และในผู้ป่วยแต่ละราย ความรุนแรงของโรคอาจเพิ่มขึ้นด้วยหลายปัจจัย อาทิ การใช้ยาบางชนิด แสงแดด และการฉายแสง เป็นต้น

“การวินิจฉัยตุ่มน้ำที่ขึ้นตามผิวหนังว่าเกิดจากโรคตุ่มน้ำพองหรือภูมิแพ้ผิวหนัง จะใช้วิธีการนำชิ้นเนื้อผิวหนังไปตรวจด้วยวิธีการย้อมพิเศษว่ามีภูมิเพี้ยนมาเกาะที่ผิวหนังหรือไม่ และเจาะเลือดเพื่อตรวจดูด้วยว่าร่างกายมีภูมิเพี้ยนหรือไม่ ซึ่งผลการตรวจด้วยหลายวิธีประกอบกันจะช่วยยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่” ศ.ดร.นพ.ประวิตรกล่าว

วิธีรักษาโรคตุ่มน้ำพอง

เนื่องจากตุ่มน้ำพองเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากภูมิต้านทานในร่างกายทำงานผิดเพี้ยนไป วิธีการรักษาหลักจึงเน้นไปที่การรับประทานยาประเภทสเตียรอยด์ เพื่อกดภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สร้างภูมิเพี้ยนลดลง อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นพ.ประวิตรกล่าวว่าการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้หน้าบวม กระดูกพรุน เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

“การใช้ยาสเตียรอยด์ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและพยายามลดยาลงเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีการอื่น ๆ ในการรักษาประกอบกันด้วย เช่น การรับประทานยาบางชนิดที่ลดการอักเสบที่ผิวหนัง หรือใช้ยาทาที่ผิวหนังในกรณีที่มีตุ่มน้ำพองขึ้นเฉพาะที่”

ยาชนิดใหม่ คุมโรคตุ่มน้ำพอง

นอกจากสเตียรอยด์ที่เป็นยาหลักในการรักษาโรคตุ่มน้ำพองแล้ว ในปัจจุบันมีการใช้ยาชนิดใหม่หลายตัวในการรักษาโรคนี้ รวมถึงการใช้ยาฉีดที่มีชื่อว่า “Dupilumab” (ดูพิลูแมบ) ซึ่งเป็นยาชีววัตถุที่มีข้อบ่งใช้โดยตรงในการใช้รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แต่กลับใช้ได้ผลดีในการรักษาโรคตุ่มน้ำพอง อย่างไรก็ดี ถือว่าเป็นการใช้นอกข้อบ่งชี้ (off-label use)

“โรคตุ่มน้ำพองเป็นโรคเรื้อรังที่ส่วนมากไม่ได้รุนแรงถึงกับเสียชีวิต เป็นโรคที่คุมได้ แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่อง ถ้าคุมโรคได้ดีจะทำให้โรคสงบอยู่นานหลายปี โดยปกติในช่วงที่ร่างกายเกิดภูมิเพี้ยน แพทย์จะให้ทานยากดภูมิ เมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลง ระยะเวลาการรักษาจะแตกต่างกันไป บางรายใช้เวลานานนับปีขึ้นอยู่กับอาการของโรคว่ามีความรุนแรงมากแค่ไหน” ศ.นพ.ดร.ประวิตรกล่าว

เช็คลิสต์ดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคตุ่มน้ำพอง

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคตุ่มน้ำพอง ศ.นพ.ดร.ประวิตรให้คำแนะนำและข้อควรระวังสำคัญ ๆ เพื่อดูแลตัวเองในขณะที่กำลังรับการรักษาจากแพทย์ ดังนี้

• ผู้ป่วยเป็นโรคนี้สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่มีข้อยกเว้นเรื่องอาหารแต่อย่างใด แม้แต่อาหารหมักดองก็ตาม แต่หากพบว่ามีอาการตุ่มน้ำพองเพิ่มขึ้นภายหลังการรับประทานอาหารชนิดใด ก็ให้งดอาหารชนิดนั้น ๆ
• การรับประทานอาหารเสริมและการออกกำลังกายมีผลต่อโรคนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป และดูว่าอยู่ในช่วงใดของการรักษา
• หากต้องการใช้ยาสมุนไพรในการรักษา ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรรับประทานหรือไม่
• แสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้โรคลุกลามขึ้นได้ ดังนั้นควรเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงและเป็นเวลานาน
• ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าหรือรองเท้าที่รัดจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสี ส่งผลให้ผิวหนังแยกตัวมากขึ้นได้
• ไม่ควรหยุดหรือเพิ่มยาสเตียรอยด์เอง เนื่องจากจะส่งผลต่อผลการรักษา
• การฉีดวัคซีนมีผลทำให้เกิดตุ่มน้ำพองเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
• การรักษาด้วยวิธีออกซิเจนบำบัด (Hyperbaric oxygen therapy) ปกติจะใช้ในการรักษาแผลเรื้อรัง แต่ตุ่มน้ำพองมี

ลักษณะเป็นแผลสด จึงไม่ใช่วิธีการหลักที่ใช้ในการรักษา

ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคตุ่มน้ำพองหรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถติดต่อแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องได้ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทุกแห่ง

Written By
More from pp
สวนสามพราน-มูลนิธิสังคมสุขใจ จัดงานครบรอบ 9 ปี ตลาดสุขใจ เผย 9 ปี สร้างเงินหมุนเวียนเป็นรายได้เกษตรกรอินทรีย์ และชุมชน มากกว่า 214 ล้านบาท เริ่มเปิดโซนวันธรรมดา ตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน เป็นต้นไป
ตลาดสุขใจ ในสวนสามพราน ภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดงาน”ครบรอบ 9 ปี ตลาดสุขใจ” พร้อมเปิดแนวคิดการยกระดับตลาดสะท้อนการรวมกลุ่มของเกษตรกรอินทรีย์อย่างเข้มแข็งภายใต้ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม (PGS) การบริหารจัดการตลาดอย่างมีระบบและมีส่วนร่วม และสะท้อนการเติบโตของสังคมอินทรีย์โดยเฉพาะความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการวัตถุดิบอินทรีย์และการเรียนรู้มากขึ้น...
Read More
0 replies on ““ตุ่มน้ำพอง” โรคผิวหนังเรื้อรังจากภูมิเพี้ยนในผู้สูงอายุ แพทย์ผิวหนังจุฬาฯ แนะวิธีดูแลและรักษาด้วยยาชนิดใหม่”