มีรัฐบาลไว้ทำไม? #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

มีข่าวไม่เป็นที่สนใจของนักการเมืองมากนัก

คือ เด็กไทยหลุดจากระบบโรงเรียนเกิน ๑ ล้านคน!

ไม่ตกใจกับตัวเลขนี้บ้างกันเลยหรือ

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว หมายความว่านับจากนี้สัดส่วนประชากรสูงอายุจะมากกว่าประชากรวัยทำงาน

ขณะที่ประชากรก่อนวัยทำงาน หลุดจากระบบการศึกษา ๑ ล้านคน อนาคตประเทศไทยในอีก ๑๐ ถึง ๒๐ ปีข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้น?

ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

วัยทำงานน้อยลงเรื่อยๆ แถมเป็นการน้อยลงที่ไม่มีคุณภาพ

รัฐบาลตระหนักบ้างหรือไม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีแนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาเร่งด่วนหรือเปล่า

ในวันที่แถลงนโยบาย นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน พูดถึงนโยบายด้านการศึกษาที่ดูแล้วเหมือนจะเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี

“…รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง

มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่จัดทำหลักสูตร และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน

ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ และการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม

รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนว เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการ และการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน

นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งสายวิชาการและสายอาชีพให้มีรายได้จากวิชาที่เรียน โอกาสฝึกงานระหว่างเรียน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงต่อความต้องการของการจ้างงาน

และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย…”

“…ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของจำนวนประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจจากการลดลงของสัดส่วนประชากรช่วงวัยทำงาน และมีแนวโน้มที่รัฐจะต้องให้การดูแลช่วยเหลือเพิ่มขึ้น

สัดส่วนของผู้สูงวัยที่มากขึ้น เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุข

ขณะที่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมาทดแทน กลายเป็นความท้าทายจากการที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากความท้าทายเชิงปริมาณแล้ว การศึกษาของประเทศไทยยังมีความท้าทายเชิงคุณภาพ ที่ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรให้ตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบใหม่ไม่สามารถหางานทำที่ตรงกับสายงาน หรือจำเป็นต้องทำงานในสายงานที่มีรายได้ต่ำกว่าความสามารถทางวิชาชีพ…”

บริหารประเทศมาจะครบปีแล้ว ที่พูดมาทั้งหมด ไหนล่ะครับ

รัฐบาลหมกมุ่นอยู่กับนโยบายประชานิยม ยอมเป็นหนี้หลายแสนล้านบาทเพื่อเอาเงินมาละลายแม่น้ำ แจกประชาชนหัวละหมื่น

แต่การลงทุนกับ “คน” กลายเป็นงานพื้นๆ

ไม่มีอะไรบ่งบอกว่า รัฐบาลจะเร่งปฏิรูปการศึกษาอย่างขนานใหญ่ให้สมกับปัญหาที่เห็นเลยแม้นิดเดียว

อ่านโพสต์ของ “พี่เอ้” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ดูครับ…

“…”วิกฤตแล้ว! ตื่นเถิด คนไทย”

เมื่อ เด็กไทย “หลุดจากโรงเรียน” ทะลุ ๑ ล้าน

เราจะช่วยกันอย่างไรดี?

สถิตินี้น่ากลัวมาก ทั้งที่มีเด็ก “เกิดน้อยลง” คือ “วิกฤต” ที่สุดแล้ว แต่ “ผู้นำ” ยังละเลย ทั้งที่เป็นเรื่องที่น่าอันตรายต่ออนาคตประเทศไทยอย่างที่สุดแล้ว มันจะส่งผลอย่างไรบ้าง ต่อประเทศไทยและสังคมไทย

๑.”ที่นั่งในมหาวิทยาลัย จะยิ่งว่างมากขึ้น”

เพราะเราส่งเด็กไทย “ไปไม่ถึง” ชั้นมหาวิทยาลัย ถือเป็น “ความสูญเสีย” ทั้งเสียโอกาสในการเสริมศักยภาพ “คนรุ่นใหม่” และเสียโอกาส “การลงทุน” ที่รัฐทุ่มไปกับการพัฒนามหาวิทยาลัยทุกปีๆ แต่มีเด็กเรียนน้อยลง

ขณะที่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มุ่งเป้าส่งเด็กเรียนไปถึงมหาวิทยาลัยได้เกือบ ๑๐๐%

มาเลเซียก็ประกาศ ส่งเด็กเรียนให้ถึงมหาวิทยาลัยอย่างน้อย ๗๐% ขณะที่ประเทศไทยอาจมีเพียง ๓๐% เท่านั้น!

แบบนี้ ยิ่งนานวัน นอกจากไทย “แข่งขันไม่ได้” ยังต้องเกิดเป็นภาระในการดูแล “พลเมืองด้อยโอกาส ข้ามรุ่น” ซึ่งถือว่าน่ากลัวมาก

๒.”แรงงานทักษะต่ำเพิ่ม แรงงานทักษะสูงลด”

ส่งผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจไทย” รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ยิ่งกว่า “สึนามิ” เพราะโลกยุคดิสรัปชัน ไม่ได้แข่งที่ “ทำของถูก” ไม่ได้แข่งกันที่ “ภาคการผลิตของพื้นๆ ง่ายๆ” เท่านั้น แต่แข่งกันที่ “สินค้ามูลค่าสูง” ที่ต้องใช้แรงงานทักษะระดับปัญญา มาเอาชนะกัน

ทุกวันนี้ ประเทศไทย “ตกหลุมลึก” เรื่องการยกระดับทักษะพลเมือง การทำ “Upskill” “Reskill” เป็นเพียง “วาทกรรม” ให้มาผลาญงบประมาณ หาก “ผู้นำ” ไม่ลงไปกำกับจริงจัง อาจทำให้ “อนาคตไทย หมดสภาพการแข่งขัน” น่าห่วงที่สุด

๓.”ปัญหาสังคมทุกเรื่อง กำลังตามมา”

เด็กไทย อยู่ในวัยเยาว์จนถึงวัยรุ่น ออกจากโรงเรียนก่อนเวลา ขาดการดูแล ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญปัญหา “แม่วัยใส” “เด็กติดยาเสพติด” “เด็กติดการพนัน” และ “สุขภาพทรุดโทรม” เร็วกว่าคนที่มีความรู้มากกว่า ปัญหาสังคมจากพลเมืองไม่มีความรู้ หรือเรียนน้อย จะเป็นปัญหาที่รัฐ ต้องมาตามแก้ไม่รู้จบ อันตรายมาก

สาเหตุการ “ออกจากโรงเรียน” มีหลายสาเหตุ ที่ต้องมาคิดวิเคราะห์ ด้วย “ข้อมูลรอบด้าน” แม้ว่าสาเหตุใหญ่ อาจจะมาจาก “ความยากจน” แต่ก็มีอีกหลายปัจจัย รุมเร้า เร่งให้ผู้ปกครอง “ยอมแพ้” ไม่สู้ ไม่ส่งลูกเรียนต่อ

“ผู้นำ” จึงต้องทำจริงจังเรื่อง “การพัฒนาคน” ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด อย่าเพิกเฉย ปล่อยปัญหาให้หนักหนา ไม่เช่นนั้น ไม่นาน ไทยเราอาจซบเซา สู้เขาไม่ได้ น่าเสียดายครับ…”

“พี่เอ้” ไม่ได้ดีเลิศแบบชั้นเอกที่หนึ่ง

และโพสต์นี้ไม่ใช่โพสต์ที่มองเห็นปัญหาได้ดีที่สุด

อย่างน้อยก็เป็นความคิดความอ่าน ที่เราไม่เห็นจากนายกฯ รวมทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา

เราเห็นแล้วว่าปัญหาเด็กหลุดจากโรงเรียนกว่า ๑ ล้านคนนั้นน่ากลัวแค่ไหน

แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ รัฐบาลรู้เรื่องนี้มานานแล้ว กลับยังไม่มีการริเริ่มใดๆ ที่จะพัฒนาคนอย่างเป็นรูปธรรมเลย

จะรอให้ประเทศล่มสลายก่อนหรือไร

Written By
More from pp
สธ.เตรียมอัปเกรด รพ.สนาม พื้นที่กทม. ดูแลโควิดสีเหลือง ปรับกลยุทธ์ฉีดวัคซีนตามความเห็นทีมวิชาการ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยเตรียมยกระดับโรงพยาบาลสนามพื้นที่ กทม. ให้ดูแลผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลือง เพิ่มเตียงในโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยหนัก กำชับเข้มมาตรการ Bubble and Seal ในโรงงาน พร้อมปรับแผนกลยุทธ์ฉีดวัคซีนตามความเห็นทีมวิชาการ อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาวัคซีน...
Read More
0 replies on “มีรัฐบาลไว้ทำไม? #ผักกาดหอม”