ยุบก้าวไกลจบใน ๓ เดือน #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

คดียุบพรรคก้าวไกลงวดเข้ามาทุกที

ดูตามไทม์ไลน์ พรรคก้าวไกลมีเจตนาที่จะสร้างความสับสนให้แก่สังคม

ใช้ข้อมูลด้านเดียวล้างสมองมวลชนสีส้ม ทั้งๆ ที่คดียุบพรรคเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายชัดเจน และมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญรองรับ

การเมืองมันจะวิบัติเพราะนักการเมืองไม่พูดความจริง

เรื่องการสร้างชุดความเชื่อ ต้องยอมพรรคก้าวไกลครับ

โนสน โนแคร์ ใดๆ ทั้งสิ้น

ขนาดศาลรัฐธรรมนูญ เคยเตือนว่าพรรคก้าวไกล ในฐานะคู่กรณีไม่สมควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคมอันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล

แต่ไม่ฟัง ไม่สนใจ

ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดีนี้นัดแรกเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายนที่ผ่านมา

แต่วันที่ ๙ มิถุนายน พรรคก้าวไกล โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่ให้ค่าในคำเตือนศาลรัฐธรรมนูญ ชิงแถลงข่าวตอบโต้ ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเลี่ยงบาลีอ้างว่าเป็นแนวทางการต่อสู้ ๙ ข้อ ประกอบด้วย

๑.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี

๒.กระบวนการยื่นคำร้อง กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

๓.คำวินิจฉัยของคดีเมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ (คดีแนวทางแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกลเป็นการล้มล้างการปกครอง) ไม่ผูกพันต่อคดีนี้

๔.การกระทำที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นการล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์

๕.การกระทำตามคำวินิจฉัย เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ ไม่ได้เป็นมติของพรรค

๖.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็นฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีทางอื่นแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย

๗.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค

๘.จำนวนปีในการตัดสิทธิ์ทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด

๙.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา

ทั้ง ๙ ข้อคือการชี้นำสังคมด้วยข้อมูลเท็จ ซึ่งมีผลทำให้มวลชนพรรคก้าวไกล โจมตีศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ในโซเชียลอย่างหนักหน่วง

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดีนี้อีกครั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม พรรคก้าวไกล โดย “พิธา” แถลงข่าวดักเอาไว้ล่วงหน้าอีกครั้งในวันที่ ๓๐ มิถุนายน

จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายามด้อยค่าการพิจารณาคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ป้อนชุดข้อมูลให้มวลชนสีส้มเชื่อว่า คดียุบพรรคผิดมาตั้งแต่ต้น เพราะคำร้อง กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“…ถ้ามีความสม่ำเสมอในการใช้มาตรฐานในการทำคำร้องคดีและมาตรฐานในการตัดสินคดี ผมก็มีความมั่นใจ…”

คำพูดนี้ของ “พิธา” ไม่ต่างจากการโจมตีว่า กกต. และศาลรัฐธรรมนูญสองมาตรฐาน

หรือจะบอกว่า พิจารณาคดีไม่มีมาตรฐาน ก็ไม่ผิดนัก!

เป็นพฤติกรรมดึงศาลรัฐธรรมนูญและ กกต.เป็นคู่ขัดแย้ง

สิ่งที่ “พิธา” ยกมากล่าวอ้าง ไม่ทราบว่าที่ปรึกษาคนไหนแนะนำให้ยกมาเพื่อหักล้างการทำหน้าที่ของ กกต.

“สิ้นคิด”!

จนมุมถึงขนาดคิดอะไรกันไม่ออกเลยอย่างนั้นหรือ

“…ขอยืนยันว่า คำร้องของ กกต.นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีส่วนร่วม ไม่มีการถ่วงดุล และผิดขั้นตอนของทาง กกต.เอง ไม่ควรที่จะให้ตีความแบบ กกต.ว่าแยกมาตรา ๙๒ กับ ๙๓ กรณีนั้นทำให้เกิดสองมาตรฐาน บางพรรคถ้ากรณีที่ใช้ดุลยพินิจแล้วเกิดแยกขึ้นมา ผมยืนยันว่าไม่ได้กล่าวหา กกต.โดยตรง แต่โดยหลักการถ้ามีสองมาตรฐานแบบนี้ได้

ถ้า กกต.อยากจะยุบพรรคไหนเป็นพิเศษก็ส่งขึ้นทางด่วนใช้มาตรา ๙๒ อย่างเดียว ถ้าพรรคไหนไม่อยากยุบเร็ว อยากจะประวิงเวลาให้ก็ส่งไปทางธรรมดาใช้มาตรา ๙๓ เข้ามาช่วย ผมมองว่า กกต.จะเลือกใช้แบบนี้ไม่ได้ ทำให้เกิดสองมาตรฐานในประเทศไทย และไม่สามารถจะบอกว่า คดีนั้นจบถือว่าเอาคดีนั้นมาผูกพันกับคดีนี้ถือว่าเป็นหลักฐานนั้นเชื่อได้ว่าอันดุลพินิจล้วนๆ เพราะเรื่องที่กฎหมายรุนแรงขนาดนี้ ไม่สามารถที่จะใช้ดุลยพินิจโดยที่ไม่มีการถ่วงดุลได้ ต้องโฟกัสที่ตรงนี้ก่อน…”

ต้องอธิบายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๙๒ และ ๙๓ กันสักนิด

มาตรา ๙๒ เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

(๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(๒) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(๓) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๗๒ หรือมาตรา ๗๔

(๔) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนดเมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการ ตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

มาตรา ๙๓ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๒ ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๒ คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้

ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราวตามคำร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี ก็ได้

ทั้ง ๒ มาตรานี้ไม่มีความยุ่งยากในการตีความ

แล้วทำไม กกต.ต้องใช้ตามมาตรา ๙๒

คำอธิบายจาก กกต.ก็ไม่มีความซับซ้อน เด็กประถมยังเข้าใจได้

“…เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ ชี้ว่า พรรคก้าวไกลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ และด้วยคำวินิจฉัยนี้ทำให้ กกต.ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ เพราะเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดมีการกระทำล้มล้างการปกครองฯ หรือการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ตามกฎหมายพรรคการเมือง ม.๙๒…”

ไม่ต้องไปรวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ตามมาตรา ๙๓ อีก

มันชัดในคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองแล้ว

วานนี้ (๑ กรกฎาคม) “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าคดียุบพรรคก้าวไกลจะเสร็จสิ้นก่อนเดือนกันยายน

เช่นเดียวกับคดี นายกฯ เศรษฐา กรณีการตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี

ต้องจบใน ๓ เดือน

Written By
More from pp
เตือนคนไทย อย่าเห็นแก่หมูถูก “หมูเถื่อน” ปนเปื้อนโรค ASF -สมสมัย หาญเมืองบน
“ของถูกไม่มีดี ของดีไม่มีถูก” วลีนี้ ใช้ได้ดีกับสถานการณ์หมูเถื่อนเกลื่อนเมืองได้เป็นอย่างดี เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยต้องรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด ภาวะเงินเฟ้อสูงข้าวของแพงไปทุกสิ่งอย่าง
Read More
0 replies on “ยุบก้าวไกลจบใน ๓ เดือน #ผักกาดหอม”