“รมช. อรรถกร” ยอมรับงบกระทรวงเกษตรฯ 1.2 แสนล้านบาทไม่เพียงต่อปัญหาพี่น้องเกษตรกร เผยงบ 70% เป็นงบลงทุนพัฒนาโครงการ ย้ำต้องเร่งทำงานในพื้นที่ รับฟังปัญหาเกษตรกรมากขึ้น

21 มิถุนายน 2567  ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระแรก

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชี้แจงงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯว่า เราได้เงินงบประมาณมากกว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณของกระทรวงเกษตรนั้น กว่า 70% จะเป็นงบลงทุนเป็นส่วนใหญ่

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า เรามีโอกาสได้ไปลงพื้นที่ในทั่วภูมิภาคในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่าเงินจำนวนนี้มันไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกร เมื่อกลับมาประชุมที่สภา ในวาระพิจารณางบประมาณในครั้งนี้ยิ่งเด่นชัด เนื่องจากตนได้พบเพื่อนสมาชิกจากจังหวัดต่างๆก็มาพูดคุยถึงความต้องการงบประมาณในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่มากมาย

“การจัดสรรงบประมาณอาจจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งระบบในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร แต่ว่าเราในฐานะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราจะทำงานให้ละเอียดขึ้น จะต้องทำงานให้ถึงลูกถึงคนยิ่งขึ้น เราจะต้องลงพื้นที่เพื่อไปคลุกคลีกับพี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร เพื่อรับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกร ด้วยสองตา สองหู และสมองของพวกเรา เพื่อที่จะชดเชยในเรื่องของการได้รับงบประมาณที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ”นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ในเรื่องของพื้นที่เผาไหม้ ที่มาจากพื้นที่ทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาอยู่ก็ตาม แต่ข้อมูลอ้างอิงจากข้อมูลดาวเทียมของจิสด้าระบุชัดเจนว่า ความร้อนในปีนี้ลดลง ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว 10% ซึ่งนโยบายเป้าหมายในการลดจุดความร้อนของกระทรวงเกษตรฯเรามีแนวทางในการทำงานชัดเจน โดยกระทรวงเกษตรฯได้ประกาศไว้ใน IGNITE THAILAND ว่า เราจะใช้แนวทาง 3R Model ลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร คือ

1.Re-Habit : เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช เป็นการปลูกแบบไม่เผา ภายใต้มาตรฐาน GAP PM 2.5 Free โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยว
2.Replace with High value crops : เปลี่ยนชนิดพืช ปรับเปลี่ยนชนิดและวิถีการปลูกพืชบนพื้นที่สูง จากพืชไร่เป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชเศรษฐกิจแบบผสมผสานที่มีมูลค่าสูง
3.Replace with Alternate crop : เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือก ปรับเปลี่ยนชนิดและวิธีการปลูกพืชบนพื้นราบ โดยเน้นการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแและเป็นประโยชน์ต่อดิน

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯกำลังร่างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาให้ครอบคลุมถึงเรื่องของการลดการเผาลงไปด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน และเชื่อว่าหลังจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนแล้วจะนำเข้าสู่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรต่อไป

ในส่วนประเด็นที่เพื่อน สส.มีความห่วงใยถึงปัญหาที่ว่ามีการถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ จากกระทรวงเกษตรกรไปยังท้องถิ่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ทราบปัญหาเป็นอย่างดี และเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน กระทรวงเกษตรกรฯได้เรียกหัวหน้าหน่วยราชการทั้ง 22 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรกรฯเข้ามาพูดคุยเรื่องนี้ โดยเน้นไปที่กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีภารกิจที่ถ่ายโอนไปเยอะ ให้ไปทำข้อมูลในในส่วนของโครงการที่มีความจำเป็นที่จะต้องซ่อมแซมแก้ไขอย่างเร่งด่วนเข้ามา และเราก็จะทำงานร่วมกับท้องถิ่น ในการที่จะเป็นคล้ายๆกับผู้แนะนำให้ท้องถิ่นที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการซ่อมแซม หรือว่าไม่มีงบประมาณทำการขอเงินจากรัฐบาลต่อไป

นายอรรถกร กล่าวต่อถึง โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในนอกเขตชลประทาน หรือ บ่อจิ๋ว จำนวน 23,000 บ่อ โดยมีการกำหนดความลึกไว้ที่ 2.1 เมตร ตนต้องนำเรียนว่าจริงๆ แล้ว กำหนดความลึกของกรมพัฒนาที่ดินอยู่ที่ 3-5 5 เมตรแต่ตรงนี้ถ้ากรมพัฒนาที่ดินลงไปช่วยเหลือในการสนับสนุนการขุดบ่อจิ๋ว ต่ำกว่า 3 เมตรก็ได้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของเกษตรกรแต่มาตรฐานที่ปริมาตรของความจุอยู่ที่ 1,260 ลูกบาศก์เมตร

และขอเรียนเพิ่มเติมว่า 20 ปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้ทำการปฏิบัติการขุดบ่อไปแล้ว 723,380 บ่อ ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ 911,459 ลูกบาศก์เมตร โดยต้องยอมรับเนื่องจากบ่อมีขนาดไม่ใหญ่มาก หากนำไปเทียบกับอ่างเก็บน้ำใหญ่ ๆ มันมีโอกาสที่บ่อเก็บน้ำเหล่านี้จะตื้นเขินอยู่แล้ว แต่กระทรวงเกษตรฯ จะลงไปดูในเรื่องของบ่อที่ขุดมานาน เพื่อที่จะพัฒนาระบบเก็บน้ำของเกษตรกรต่อไป

นายอรรถกร ยังกล่าวต่อถึงเหตุน้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯร่วมกับรัฐบาลได้เดินหน้าเยียวยาพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของด้านพืชผล เราได้เยียวยาเกษตรกรไปทั้งหมด 764 ราย เป็นเงินมูลค่า 5.47 ล้านบาท ด้านประมง 419 ราย 1.74 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์ 447 ราย มีการประสานหน่วยงานเพื่อที่จะเยียวยา คิดเป็นเงินเกือบ 30 ล้านบาท ในเรื่องของประเด็นทุเรียนไม่ออกดอกนั้น ปัญหาหลักของทุเรียนในการที่จะออกดอกออกผลเยอะ ๆ ก็คือ ทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำ ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำต้นทุน หรือว่าน้ำสำรอง เป็นสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะกรมชลประทานให้ความสำคัญเป็นอย่างดี

“ผมยกตัวอย่างในปี 2568 งบประมาณของกรมชลประทาน จะมีโครงการอ่างเก็บน้ำคลองพระวาใหญ่ จังหวัดจันทบุรี หลักๆก็คือจะเป็นสถานีสูบน้ำพร้อมระบบสูบน้ำ ท่านก็สามารถใช้ระบบน้ำตรงนี้ ส่งน้ำไปยังสวนทุเรียนในบริเวณใกล้เคียงได้ นี่คือสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรให้กับพี่น้องเกษตรกร“นายอรรถกร กล่าว

ส่วนความเป็นห่วงในเรื่องของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ในปี 2567 เกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการนี้ผ่านกรมการข้าว และกรมส่งเสริมเกษตรกรมากกว่า 10,000 ครัวเรือน แต่ส่วนใหญ่พื้นที่จะอยู่ในเขตตะวันตก เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาทสิงห์บุรี ราชบุรี และกาญจนบุรีในบางส่วน แต่ว่าในปีจ 68 ก็มีแผนที่จะขยายไปในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น อย่างน้อยให้ครบ 400,000 ไร่ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับเงินจากการทำคาร์บอนเครดิตด้วย

ด้านนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่ให้ความเป็นห่วงประชาชนที่ต้องการได้รับเงินชดเชยจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี ตนยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯจะทำเรื่องนี้ให้เสร็จภายในปี 69 ที่อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี หมายความว่าปลายปี 68 รัฐบาลสามารถชดเชยในส่วนที่พี่น้องจะต้องย้ายออกได้แล้ว

นายอรรถกร ยังกล่าวถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่ สส.หลายคนพูดถึงนั้น ตนยืนยันว่า ราคาสินค้าทางการเกษตรเกือบทุกตัวปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา และเรายังเชื่อมั่นแนวทางการทำเกษตรที่มีความแม่นยำ และทำเกษตรที่สามารถได้ในราคาสูง ๆ เราจะดำเนินการต่อไป

Written By
More from pp
วงการแพทย์แถลงการณ์แสดงจุดยืนค้านการโฆษณาเรื่องการตรวจพันธุกรรม “เท็จหรือแท้ : โฆษณาการตรวจยีน”
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ แถลงการณ์จุดยืนร่วมกัน เรื่อง “เท็จหรือแท้ : โฆษณาการตรวจยีน” ค้านการโฆษณาเรื่องการตรวจพันธุกรรมที่ดูเหมือนกับว่าจะทำได้อย่างกว้างขวาง จนสามารถตรวจหาศักยภาพหรือสมรรถภาพของเด็กได้แต่เริ่มแรก หรือใช้คัดเลือกอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย หรือสมรรถนะทางกีฬาและการออกกำลังกายที่เหมาะสม ตลอดไปจนการตรวจความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ มากมาย ซึ่งพบว่าการตรวจที่โฆษณากันมากมายเหล่านี้...
Read More
0 replies on ““รมช. อรรถกร” ยอมรับงบกระทรวงเกษตรฯ 1.2 แสนล้านบาทไม่เพียงต่อปัญหาพี่น้องเกษตรกร เผยงบ 70% เป็นงบลงทุนพัฒนาโครงการ ย้ำต้องเร่งทำงานในพื้นที่ รับฟังปัญหาเกษตรกรมากขึ้น”