19 มิถุนายน 2567 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปราย ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 โดยได้สะท้อนความน่าเป็นห่วงที่มีต่อสภาพการทางการเมือง เศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจภาคประชาชน และการไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลภายใต้การบริหารในปัจจุบัน
โดยอาศัยตัวเลขงบประมาณปี 2568 เป็นตัวตั้ง ในช่วงที่ตนอภิปรายงบประมาณ ปี 2567 ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า งบฉบับนั้นเหมือนกับงบเป็ดง่อย เพราะรัฐบาลใช้เวลาไปรื้องบประมาณที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้ ส่งผลให้การใช้เงินล่าช้าไปร่วม 7 เดือน บวกกับประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เฉพาะงบลงทุน 8 เดือน มีเพียง 51% ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศในปี 2567 โตต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ
และในเอกสารงบประมาณ ที่ระบุว่าจะทำให้โต 5.4% รวมเงินเฟ้อ ซึ่งหากไม่รวมเงินเฟ้อก็จะโตประมาณ 4% กว่า แต่ทุกสำนักก็ประเมินตรงกันหมดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้เพียง 2.5% แม้แต่ รมว.คลังเอง ก็เพิ่งยอมรับว่าปีนี้โอกาสที่เศรษฐกิจจะโตเพียงแค่ 2.5% แต่จะพยายามเบ่งให้ได้ 3% และ ตัวเลข 2.5% ที่ว่านั้นก็ได้รวม ดิจิทัล วอลเล็ต เข้าไปแล้ว ซึ่งสภาพัฒน์ก็ประเมินว่า ดิจิทัล วอลเล็ต นี้จะทำให้เศรษฐกิจโตได้แค่ 0.25%
เพราะฉะนั้นหากสมมติว่าได้ทำ ดิจิทัล วอลเล็ต จริง เศรษฐกิจก็จะโตแค่ 2.5 + 0.25 เต็มที่ก็จะโตเท่ากับ 2.75% เท่านั้น นี่คือสิ่งที่ตนถึงกล่าวว่า งบประมาณ ปี 67 ก็คืองบเป็ดง่อย และมันก็ไม่ผิดไปจากที่ตนว่าไว้
สำหรับ งบปี 68 ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภา ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ของรัฐบาลชุดนี้ เรียกได้ว่าเป็นฉบับ “อิเหนาทำเองร้อยเปอร์เซ็นต์” ไม่ได้มีฐานรากมาจากรัฐบาลที่แล้วแต่อย่างใด ซึ่งนายจุรินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ได้มีการใส่ ดิจิทัล วอลเล็ต โดยสารมาด้วยในงบกลาง 152,700 ล้านบาท ขณะที่งบปี 68 ได้ตั้งเงินรวมไว้ทั้งสิ้น 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่างบปี 67 ถึง 7.8%
เมื่อตนไปพลิกดูหลายรอบ ก็พบว่า “ทั้งขี้หกทั้งขี้เหร่” ที่บอกว่าขี้หกเพราะหากได้ติดตามการอภิปรายงบประมาณปี 67 นายกรัฐมนตรีได้ให้สัญญาไว้กลางสภาตอนพิจารณางบวาระหนึ่งว่า ถัดไปจะทำ 4 เพิ่ม 1 ลด เช่น เพิ่มรายได้ให้ประเทศและลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่พอมาเปิดตัวเลขลึกลงไปในรายละเอียด กลายเป็น “ละครคนละซีรี่ส์” เหมือนเห็น “สภาเป็นศาลาโกหก” และหากดูลึกลงไปยิ่งกว่านั้น รายละเอียดก็ไม่ได้งดงามอย่างที่นายกฯ ได้อภิปรายต่อสภาเมื่อช่วงเช้า แต่กลับพบความขี้เหร่ซุกซ่อนอยู่มากมาย
นายจุรินทร์ ได้ให้เหตุผลของความ “ทั้งขี้หกทั้งขี้เหร่” ไว้ 5 ประเด็น คือ
ขี้เหร่ที่หนึ่ง เรื่องรายได้ หากรายได้น้อย รายได้ลด รายจ่ายสูง งบก็ขาดดุล สุดท้ายก็ต้องไปกู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุล รายรายได้น้อยรายจ่ายมากก็จะทำประเทศเป็นหนี้มาก การที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะทำรายได้เพิ่มขึ้น ก็คงหมายถึงรายได้สุทธิ เพราะรายได้อื่นเป็นเพียงตัวหลอก และเมื่อไปดูตัวเลขรายได้สุทธิของงบประมาณ ปี 67 คิดเป็น 80.1 % ของงบประมาณทั้งหมด ปรากฏว่าปีนี้รายได้สุทธิเหลือเพียง 76.9% ของวงเงินงบประมาณ เมื่อไปดูประสิทธิภาพการเก็บรายได้เฉพาะ 7 เดือนของปีนี้ ซึ่งอยู่ในงบประมาณปี 67 ปรากฏว่าเก็บรายได้ต่ำเป้า 39,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นชัดเจนประเด็นว่างบฉบับนี้เป็นงบขี้เหร่
ขี้เหร่ที่สอง การขาดดุลงบประมาณ นายกฯ ให้สัญญาว่าจะลดการขาดดุลงบประมาณลงมาในปี 68 แต่พอไปดูจริงพบว่านอกจากไม่ลดแล้วยังเพิ่มการขาดดุลมหาศาล เพราะงบปี 68 ขาดดุลกว่างบปี 67 ถึง 865,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉพาะการขาดดุล 24.9% หรือหนึ่งในสี่ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
“นายกฯ อาจจะอ้างว่า ขาดดุลเพิ่มเพราะต้องเอาไปทำดิจิทัล วอลเล็ต แต่ดิจิทัล วอลเล็ตที่ใส่มา มันแค่ 152,700 ล้านบาท แต่นี่ขาดดุล 172,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมา เพราะฉะนั้น เมื่อเอาไปลบ ก็ยังขาดทุนเพิ่มมากกว่าปีที่แล้วถึง 20,000 ล้านบาท มันถึงไม่ได้ลดการขาดทุนอย่างที่นายกรัฐมนตรีให้สัญญาไว้”
ขี้เหร่ที่สุด คือ งบปี 68 ขาดดุลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือขาดดุลสูงถึง 4.42% ของจีดีพี เกือบชนเพดานวินัยการเงินการคลัง เหลืออีกเพียงแค่ 40 ล้านบาทเท่านั้น ก็ “ชนเพดานหัวแบะ” และที่ขี้เหร่ของความขี้เหร่ คือภายใต้รัฐบาลนี้ถ้าอยู่ครบวาระ 4 ปี หากยังคิดจัดงบประมาณขาดดุลต่อไป จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตลอดอายุของรัฐบาล และจะเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย เมื่อดูจากแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 68-71 ฉบับทบทวน ที่ ครม. เพิ่งอนุมัติไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 บอกว่า หนี้สาธารณะยังจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดอายุรัฐบาล โดย ปี 67 หนี้สาธารณะจะเป็น 65.06 ต่อจีดีพี ปี 68 เพิ่มขึ้นเป็น 66.93 ปี 69 เพิ่มเป็น 67.53 ปี 70 เพิ่มเป็น 67.57 สูงขึ้นไปเรื่อยๆ นี่คือภาระที่จะเกิดกับประเทศ
ขี้เหร่ที่สาม เรื่องเงินกู้ งบปี 67 งบปี 68 รัฐบาลชุดนี้ต้องกู้มาชดเชยการขาดดุล รวม 1.5 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมกู้มาแจกเพียงแต่ ใน 1.5 ล้านล้านนี้ มีดิจิทัล วอลเล็ต ใส่ไว้ใน งบ 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท ดังนั้นยังเหลือเงินที่ต้องกู้มาแจกเพิ่มอีก 347,300 ล้านบาท เมื่อนำมารวมกับงบขาดดุล 2 ปี จะทำให้รัฐบาลก่อหนี้เห็นๆ 1.9 ล้านล้านบาท
“รัฐบาลก่อหนี้เห็นๆ 1.9 ล้านล้านบาท รวมบริหารสองปีกู้เกือบสองล้านล้าน ที่แล้วนายกฯ เป็นนักกู้ถุงเท้าสีชมพู ปีนี้เห็นทีจะต้องให้เป็นนักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ ยังกู้หนักเหมือนเดิม และกู้หนักกว่าเดิม แต่เวลาใช้หนี้ ปี 68 ก่อหนี้ 2 ล้านล้าน ตั้งงบใช้หนี้เงินต้นไว้แค่ 151,000 ล้านบาท ไม่ถึง 10% ของหนี้ที่ก่อ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะมันจะพอกพูนไปเป็นภาระของประเทศในอนาคตต่อไป”
ขี้เหร่ที่สี่ การตั้งตัวเลขจีดีพีสูงเกินจริง เพราะว่า งบปี 67 ได้ตั้งจีดีพีไว้ 5.4% ตอนนี้ได้สารภาพบาปแล้ว เมื่อดูเอกสารงบปี 68 ปรากฏว่าลดลงเหลือ 4.1% ขณะที่ทุกสำนักประเมินว่าจะบวกได้แค่ 2.5 % ดังนั้นที่รัฐบาลตั้งไว้ 4.1 นี้ก็น่าจะเป็น “จีดีพีประมาณการเกินจริง” และการที่เอาจีดีพี 4.1% มาเป็นฐานคำนวนจีดีพีของปี 68 จึงเป็นการเอาฐานที่สูงเกินจริงมาใช้คำนวณ สุดท้ายจึงทำให้จีดีพี ปี 68 กลายเป็น “จีดีพีฟองสบู่”
“จีดีพี 4.9 ที่บอกว่าจะโตนี้ ผมเข้าใจอาจจะเพื่อให้เจือสมกับที่นายกฯ บอกจะทำจีดีพีโตปีละ 5% ปี 68 ก็เลยใส่ไป 4.9 แต่ทุกสำนักเหมือนกัน เขาประเมินว่าจะโตในปี 68 ได้ประมาณแค่ 3% แม้แต่สภาพัฒน์ฯ ที่เป็นหน่วยงานทางการในการประเมินจีดีพีของรัฐบาลเองก็ยังบอกว่าจะโตประมาณ 3% นี่คือสิ่งที่เป็นขี้เหร่ที่สี่ ที่ผมกราบเรียนว่าจีดีพีที่ใส่ไว้มันเกินจริงมั้ย เป็นจีดีพีฟองสบู่เลย”
ขี้เหร่ที่ห้า เรื่อง “ดิจิทัล วอลเล็ต จากนโยบายเรือธง วันนี้กลายเป็นนโยบายเรือเกลือ” สัญญาจะทำทันที แต่ล่วงเลยเวลามามาก ตนต้องทวงถามแทนประชาชนทุกครั้ง เพราะเมื่อพรรคการเมืองไปสัญญากับประชาชนไว้แล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบ ล่าสุดรัฐบาลแถลง เรื่อง ดิจิทัล วอลเล็ต 3 ข้อ 1. แจกแน่ในไตรมาสสี่ปีนี้ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป 2. เวลาแจกจะไม่แบ่งก้อนแจก แต่จะแจกรวดเดียว 500,000 ล้านบาท ไม่แยกเป็นก้อนๆ เด็ดขาดแปลว่า ถ้าไม่ได้เงินครบ 5 แสนล้าน ก็จะยังไม่แจกใช่หรือไม่ 3. เงิน 5 แสนล้าน จะเอามาจาก 3 แหล่งสำคัญ 1. เอามาจากงบ 68 จากสภา 152,700 ล้านบาท 2. เอามาจากงบปี 67 ที่สภาอนุมัติไปแล้วอีก 175,000 ล้านบาท และ 3. จะไปเอาจาก ธกส. หรือไปกู้ ธกส. 172,300 ล้าน รวม 3 ก้อน 500,000 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ได้ตั้งคำถามในเรื่องนี้ว่า 1. จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่มีเงินซักบาทเดียวถูกต้องหรือไม่ เพราะงบ 68 ยังต้องรอให้ผ่านสภา งบ 67 ยังไม่ขอมา เพราะจะต้องมีการออกเป็น พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ส่วน ธกส. ก็ยังไม่ได้ยืมสักบาท ส่วนที่บอกว่าจะเอาจากงบ 67 จำนวน 175,000 บาทนั้น ปรากฏว่า พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ปี 67 เพิ่มเติม ที่จะเข้าสภาเดือนหน้า ได้ขอเงินมาแค่ 122,000 ล้านบาท แปลว่า ยังขาดอีก 53,000 ล้านบาท
“มีคนนินทาว่า สุดท้ายคงจะไปเอามาจากงบฉุกเฉิน ปี 67 ที่ตั้งไว้ 99,500 ล้านบาท และพบพิรุธ คือเบิกจ่ายงบฉุกเฉินปีนี้ต่ำมากๆ เบิกไปจริงมีคนบอกว่าเพียงแค่หลักพันล้าน แสดงว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ ตั้งใจว่ายอมไม่ใช้งบ ปี 67 ให้เหลือเงินฉุกเฉินเยอะๆ แล้วจะได้เอาไปแปลงเป็นดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อกู้มาแจก บรรลุเป้าหมายพรรคการเมืองได้ แต่ถ้าทำแบบนี้จริง รัฐบาลนี้ใจดำมาก เพราะพยายามไม่ใช้เงินปี 67 มันจะส่งผลให้ จีดีพี 67 มันโตต่ำเตี้ยหนักเข้าไปอีก เพราะอันนี้คือตัวจีในสมการจีดีพีทางเศรษฐศาสตร์เพียงเพื่อให้เหลือเงินไปสนองพรรคการเมือง”
นายจุรินทร์ ยังได้ตั้งคำถามถึงเงินจำนวน 53,000 ล้านบาทต่อไปว่า หากเอามาได้จริงจะทำอย่างไร จะต้องออกเป็นกฎหมายฉบับอีกหรือไม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากงบ 67 มาใช้ทำกู้มาแจก ซึ่งจะทำให้การกู้มาแจก 5 แสนล้าน ต้องออกเป็นกฎหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย งบ 67 งบ 68 งบเพิ่มเติม 67 และงบเปลี่ยนแปลงงบประมาณ 67 และยังไม่รวม ธกส. ดังนั้นการทำเช่นนี้จะไม่ทำให้กลายเป็น “เรือเกลือ” ได้อย่างไร
นอกจากนี้การที่จะเอาเงิน ธกส. 172,300 ล้านบาทนั้น นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมายต่างยืนยันว่านำมาแจกไม่ได้ เพราะมีไว้ดูแลเกษตรกรเท่านั้น หมิ่นเหม่ผิดกฎหมาย จะเอาไปให้รัฐบาลกู้มาแจกแบบ “เฮลิคอปเตอร์เหวี่ยงแหมันนี่” ไม่ได้ วันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้วทำได้หรือไม่ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ถามกฤษฎีกาว่า เงินที่จะไปเอาจาก ธกส. มาใช้นั้นผิดกฎหมายหรือไม่
“รัฐบาลมีเวลาผ่านมาไม่รู้กี่เดือนแล้ว แต่รัฐบาลไม่ถาม กลับเอา งบ 68 มาขอก่อน เหมือนเอาหน้ามาทำหลัง เอาหลังไปทำหน้า เหมือนตั้งใจที่จะมาลักไก่กับสภาต่อหน้าประชาชน ทั้งที่ ธกส. ยังไม่ถามกฤษฎีกา แล้วถ้าสภาอนุมัติไปวันนี้ วันหลังกลับไปถามกฤษฎีกา กฤษฎีกาบอกว่าใช้ไม่ได้ แล้วเงินวันนี้จะทำอย่างไรหากสภาอนุมัติ ก็เป็นหมัน สุดท้ายก็กู้มาแจกไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมขอตำหนิรัฐบาล ผมถึงบอกมาตลอดว่าสุดท้ายจนกว่า ดิจิทัล วอลเล็ต อนาคตยังเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ที่รัฐบาลบอกแจกแน่ 1 ตุลา 67 เป็นต้นไป”
นายจุรินทร์ ได้กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์จากการใช้งบประมาณว่า ผลงานไม่ประทับใจจอร์จเลย เพราะมันสวนทางกับตัวเลขงบประมาณที่ขอไป ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เมื่อดูจากผลนิด้าโพล ที่สะท้อนว่า ประชาชนพอใจรัฐบาล 32% แต่ไม่พอใจถึง 66% และเมื่อไปดูรายละเอียดโพลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็จะพบว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข 3 ลำดับแรก คือ 1. แก้ไขปัญหาเรื่องค่าครองชีพ 2. แก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้า 3. แก้ไขปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งทุ่มเทสรรพกำลังลงไปปลดทุกข์ให้กับประชาชนเท่านั้น
การที่นายกฯ เคยพูดในสภาตอนพิจารณางบประมาณ ปี 67 บอกจะทำให้คนไทยรวยขึ้น 3 เท่าใน 4 ปีนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า การจะทำได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ 3 ปัจจัยหลัก 1. รายได้ 2. รายจ่าย 3. ภาระหนี้สินของประชาชน แต่เมื่อไปดูในวาระแห่งชาติของรัฐบาลกลับไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างที่ตั้งใจ มีหลายวาระยังห่างเป้ามาก เช่น หนี้นอกระบบ ตนอยากเห็นรัฐบาลทำและทำต่อไปได้ผลด้วย เพราะหนี้นอกระบบที่มีประมาณ 50,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 29 กุมภา 67 สามารถลดหนี้ได้เพียง 1,203 ล้านบาท คิดเป็น 2.4% ของมูลหนี้ แปลว่าถ้ามีหนี้ 100 บาท ก็ลดหนี้ไป 2.40 บาท ยังเหลือหนี้อีก 97.60 บาท แล้วจะทำให้คนไทยรวยขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ได้อย่างไร ที่ผ่านมาผลสัมฤทธิ์ยังต่ำ เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตนอยู่
นอกจากเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดหนี้ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน รัฐบาลชุดนี้ยังซ้ำเติมประชาชน และ ในสิ่งที่เป็นนโยบายบาป ซ้ำเติมด้วยทั้งหวย ทั้งบ่อน ขณะที่ผลสัมฤทธิ์รัฐบาลยังต่ำ แต่รัฐบาลกลับซ้ำเติมประชาชน ให้ห่างรวย 3เท่าใน 4ปี วันนี้มีทั้งหวยมีลอตเตอรี่ หวยเกษียณ หวย 3 ตัว มีชาวบ้านฝากไปบอกรัฐบาลด้วยว่า เขาจะตั้งฉายารัฐบาลนี้ว่า “รัฐบาล 3 หวย” ในส่วนของหวยเกษียณนั้น ตนสนับสนุน เพราะหวยเกษียณเป็นการเพิ่มการออมให้กับประชาชนและเป็นการต่อยอดกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เริ่มต้นไว้ ลงทุนซื้อหวยไปเท่าไหร่เงินไม่หาย เกษียณเบิกกลับมาใช้ได้ แถม ระหว่างทางลุ้นรางวัลได้อีก อันนี้ถูกทิศทาง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหวย 3 ตัว หวยบนดินตัวใหม่ ที่น่าจะซ้ำเติมประชาชน เพราะทำเข้าจริงๆ มีคนถูกหวยไม่กี่ แต่คนที่ไม่ถูกหวยจนลงหมด รัฐบาลจึงควรกลับไปทบทวน หาทางเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายประชาชนด้านอื่น
ส่วนเรื่องทางการเมืองมีคนไปถามนายกฯ เรื่องหุ้นตก ตลาดหลักทรัพย์ดิ่งเหว นักข่าวถามว่าวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ร่วงไป 227 จุด ต่างชาติเทขาย 1.5 แสนล้านบาท ทำความมั่งคั่งตลาดหลักทรัพย์หายไป 2.6 ล้านล้านบาท นายกรัฐมนตรีบอกว่าเป็นเพราะการเมืองในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ความจริงคือตกร่วงมาแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารบ้านเมือง แต่แม้ว่าจะเกิดจากการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ตนขอถามว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นปัจจุบันใครเป็นคนทำ ถ้าไม่ใช่รัฐบาลนี้ที่มีส่วนในการสร้างปัญหาขึ้นมา 1.ปรับคณะรัฐมนตรี ใครเป็นคนปรับ ถ้าไม่ใช่นายกฯ ครม. เกี่ยวอะไรกับงบประมาณปี68 เพราะการปรับคณะรัฐมนตรีคือการเปลี่ยนคนใช้งบงบประมาณ ทั้งการเปลี่ยนคนใช้งบ ปี 67 และงบ68ที่สภากำลังพิจารณา ปรับเสร็จเปลี่ยนแค่ปรับแบบต่างตอบแทนหนึ่ง มาเป็นต่างตอบแทนสองเท่านั้น สุดท้ายจึงติดลบมากกว่าติดบวก
“ปรับปุ๊บรัฐมนตรีออกปั๊บ3คน แล้วนำไปสู่คดีขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ โทษ 40 ส.ว. ไม่ได้เพราะท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน และส.ว. ก็ยังไม่หมดวาระ ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมี ส.ว.ชุดใหม่ และก็มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินเหมือนสภาผู้แทนราษฎร แต่ทั้งหมด ส.ว. ไม่สามารถยื่นได้ หากนายกฯ ไม่ปรับ ครม.แบบนี้ ทั้งหมดจึงเกิดขึ้นจากรัฐบาล และทำให้สถานภาพเสถียรภาพคณะรัฐมนตรีวันนี้เหมือนกับรัฐมนตรีอีก 30 กว่าคนถูกเอาผ้าขาวมาแขวนคอห้อยต่องแต่งบนเพดาน ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะรอดหรือจะร่วง นี่คือการเมืองที่เกิดจากรัฐบาลและกระทบไปถึงเศรษฐกิจและอื่นๆด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว
เรื่องที่2 เรื่องนายก 2 คน ยังเป็นเรื่องคุกคามตามหลอน ด้อยค่านายกรัฐมนตรีอยู่จนถึงวันนี้ และรามไปจนถึงการเมืองระหว่างประเทศ ที่กระทบมหาศาลกับประเทศ นายกฯเองก็ไม่กล้าทำอะไรเพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตระหนัก รัฐนาวาไทยวันนี้ ถ้าเป็นรถยนต์ก็เป็นเหมือนกับรถยนต์แบบหนึ่งพวงมาลัยสองคนคนขับ ที่น่าหวาดเสียวที่สุด คือแม้จะนั่งเก้าอี้คนละตัวแต่ปรากฏว่าจับพวงมาลัยพวงมาลัยอันเดียวกันพร้อมกันสองคน จึงน่าหวาดเสียวสำหรับ คนไทยและประเทศไทยอย่างยิ่ง
เรื่องพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องเก่าแต่เป็นเรื่องปัจจุบันและจะเป็นเรื่องอนาคต ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน จึงจะทำได้ ทั้งงบสภา และงบรัฐบาล ที่สำคัญจะมีผลกระทบมากมายต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย ในอนาคต เพราะว่าพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจะเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่จะพาประเทศไปสู่ความปรองดอง หรือ ไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง ตนจึงขอถือโอกาสนี้ถามไปถึงนายกฯหรือรัฐบาลท่านอื่นจะช่วยตอบก็ยินดี ในฐานะที่รัฐบาลคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร 1. รัฐบาลมีนโยบายจะเสนอหรือสนับสนุนพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมหรือไม่ ขอให้ช่วยตอบด้วย เพราะไม่ใช่ความลับ แต่เป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผยกับประชาชน 2.รัฐบาลจะสนับสนุนการนิรโทษกรรม ที่รวมคดีทุจริตความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 3. จะรวมคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่
“ที่ต้องถามเพราะมาถึงวันนี้ บางคนในรัฐบาล เสียงเริ่มแปร่ง และที่ต้องถาม เพราะรู้สึกเป็นห่วงว่าพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ถ้ามี จะเปลี่ยนจากนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดอง ถูกเปลี่ยน พันธุกรรมเป็นนิรโทษกรรมอำพรางหรือไม่ เพราะอดีตเคยสอนเรามาแล้ว จากนิรโทษกรรมครึ่งเข่งกลายเป็นนิรโทษกรรมยกเข่ง และสุดท้ายบ้านเมืองเสียหายยับเยิน ถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลตอบได้ กรุณาช่วยตอบด้วยจะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง” นายจุรินทร์ กล่าว และว่าสุดท้ายตนเชื่อว่าวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ตอนลงมติงบประมาณ วาระ1 ปี 68 ผ่านสภา เพียงแต่วาระ 3 อาจจะต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ