ผักกาดหอม
โบราณว่า…
ตีงู อย่าตีให้หลังหัก เพราะมันจะแว้งกัด
ก็จริงครับ
ดู “นักโทษชายทักษิณ” เป็นตัวอย่าง เริ่มแว้งกัดให้เห็นแล้ว
วานนี้ (๑๔ เมษายน) “นักโทษชายทักษิณ” ไปเที่ยวสงกรานต์ที่เชียงใหม่ เดินสายพบปะผู้คนไม่เหลือเค้าผู้ป่วยหนักห่างหมอไม่ได้เป็นตายเท่ากันเมื่อ ๒ เดือนก่อนแม้แต่น้อย
นักโทษเทวดาพูดถึง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เรื่องคดีความและการกลับประเทศไทย
“…นายกฯ ปู อวยพรสงกรานต์ก่อนที่ผมจะเดินทางมาเชียงใหม่ ก็เลยบอกเดี๋ยวปีหน้า เรามาทำบุญด้วยกัน สงกรานต์ปีหน้า นายกฯ ปูคงได้มีโอกาสมาทำบุญ…”
“…จะกลับมาช่องทางไหนนั้นยังไม่ทราบ เอาความตั้งใจก่อน และในส่วนของนายกฯ ปู ไม่ค่อยซับซ้อนเหมือนของผม ของผมเขายัดให้เยอะ ของนายกฯ ปูมีอันเดียว…”
ครับ…อ่านผ่านๆ เหมือนโยนหินถามทาง
แต่หากแกะคำพูดจะเห็นเจตนาที่แท้จริงของ “นักโทษชายทักษิณ” ไม่ให้ค่ากับอะไรทั้งนั้น นอกจากตัวเอง
เรื่อง “ยิ่งลักษณ์” จะกลับไทย ก็มาสิครับ อย่ารีรอ
วันนี้ พรุ่งนี้ กลับมาได้เลย
จะกลับมาแบบผู้ป่วยหนักห่างหมอไม่ได้ เพราะอาการเป็นตายเท่ากันก็ได้
ไม่ต้องไปดูหลักเกณฑ์อืนให้เสียเวลา ไม่ต้องดูอายุ ไม่ต้องตรวจสุขภาพ แค่ส่งแดน ๗ แล้วส่งต่อไปห้องวีวีไอพี ชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจได้เลย
พี่ชายสร้างบรรทัดฐานไว้แล้ว
ฉะนั้น “ยิ่งลักษณ์” จะกลับหรือไม่กลับ คนไทยไม่ได้อะไร นอกจากเป็นการตอกย้ำมาตรฐานที่ย่ำแย่ของกระบวนการยุติธรรม
โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ ที่บังคับใช้กฎหมายภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมือง
แต่เรื่องที่ใหญ่กว่ายิ่งลักษณ์กลับคือ เรื่องที่ “นักโทษชายทักษิณ” ดูถูกกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ
หลังได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ “นักโทษชายทักษิณ” ยังสื่อกับสาธารณะว่าตัวเองถูกยัดข้อหา
แล้วจะอธิบายความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นแล้วอย่างไร
ข้อความที่อยู่ในฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของ “นักโทษชายทักษิณ” ซึ่งเผยแพร่เป็นการทั่วไป ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วตามคำที่โบราณว่า อย่าตีงูให้หลักหัก
“…มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าวด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา…”
เนื้อหาการถวายฎีกาของ “นักโทษชายทักษิณ” มีทั้งยอมรับผิดในการกระทำ สำนึกในความผิด และขอรับโทษ
แปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย
อีกทั้งยังเป็นเหตุผลหลักในการยื่นถวายฎีกา
แต่แล้ว “นักโทษชายทักษิณ” เผยธาตุแท้
ไม่เคยยอมรับว่าทำผิด
ไม่เคยสำนึกในการทำความผิด
และได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่เคยติดคุกแม้แต่วันเดียว
แล้วจะเดินหน้ากันอย่างไรต่อไป
การพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย หมายถึง การพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล โดยการทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวหรือถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ตามการถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์
ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ ให้บิดา มารดา บุตร หรือคู่สมรส เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวหรือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระมหากษัตริย์เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว โดยจะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
กรณีผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำจะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวแล้วให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราวแล้วให้ส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
กรณีของ “นักโทษชายทักษิณ” ให้ครอบครัวเป็นผู้ถวายเรื่องราวผ่าน รมว.ยุติธรรม
ขณะนั้นคือ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”
ใจความหลักของเรื่องราวที่ยื่นไปคือ “…ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา…”
“นักโทษชายทักษิณ” ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน ๓ คดี
คดีที่ ๑ คดีหมายเลขแดง ที่ อม. ๑๐/๒๕๕๑ ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก ๓ ปี
คดีที่ ๒ คดีหมายเลขแดง ที่ อม. ๑๐/๒๕๕๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก ๒ ปี ซึ่งคดีที่ ๑ กับคดีที่ ๒ นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก ๓ ปี
และคดีที่ ๓ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๕/๒๕๕๑ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม กำหนดโทษจำคุก ๘ ปี
รวมกำหนดโทษจำคุก ๘ ปี
แต่วันนี้ “นักโทษชายทักษิณ” บอกว่าถูกยัดคดี
คำพูดนี้ไม่อาจแปลความนำไปสู่การสำนึกในความผิดได้เลย
แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า “ไม่ยอมรับ” ทุกคดีความที่เกิดขึ้น
กรณีของฎีกานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๖ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคําสั่งลงโทษนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ก่อเรื่องวิวาทร้ายแรงระหว่างนิสิตต่างคณะ โดยการไล่ออกและพักการศึกษาครั้งนั้น เป็นเรื่องรุนแรงระหว่างนิสิตกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นนายกรัฐมนตรีดํารงตําแหน่งอธิการบดี ความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะก่อตัวเป็นความแตกร้าวระหว่างประชาชนกับรัฐบาล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๙) เสด็จพระราชดําเนินไปทรงดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๐ กันยายน ขณะที่เสด็จออกจากประตูพระตําหนักจิตรลดารโหฐานนั้น นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จํานวน ๙ คน ได้เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแทบพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณรับฎีกา และมีพระราชดํารัสว่า
“…ในการที่จะถวายฎีกานั้น จะต้องมีความสํานึกผิดจริงๆ ทางใจด้วย ต้องยอมรับว่าที่ได้กระทําไปแล้วเป็นความผิดจริง จึงจะอภัยกันได้ มิใช่เป็นการถวายฎีกาแต่เพียงลายลักษณะอักษร…”
แล้วครอบครัวชินวัตรถวายฎีกาอะไรไป
ความเท็จหรือเปล่า?