8 มีนาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงาน “MEA เนรมิตถนนสวยไร้เสาสาย ถนนสารสิน ในค่ำคืนเดียว” โดยมี นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธาน พร้อมด้วย นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง กล่าวรายงานผลความสำเร็จโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน บริเวณถนนสารสิน ณ สวนลุมพินี เขตปทุมวัน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณทางการไฟฟ้านครหลวงที่ดำเนินการนำสายไฟลงดิน ถือว่าถนนสารสินเส้นนี้เป็นเส้นตัวอย่างในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ขอให้พี่น้องประชาชนอดทนรออีกสักระยะหนึ่ง เพราะยังมีถนนอีกหลายเส้นที่กำลังจะดำเนินการอยู่ ทั้งถนนหลังสวน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนเพชรบุรี ซึ่งถ้าดำเนินการเสร็จแล้วจะสวยงามเหมือนถนนสารสิน ซึ่งจริงๆ แล้วแผนการดำเนินงานของการไฟฟ้านครหลวงที่นำสายไฟลงดิน จะดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับปรุงทางเท้าที่กทม.ดำเนินการอยู่ ดังนั้นถ้าถนนเส้นไหนสามารถนำสายไฟฟ้าลงดินได้ก็จะนำลงดิน แต่ถ้าถนนเส้นไหนไม่สามารถนำสายไฟฟ้าลงดินได้ก็ทำการจัดระเบียบสายไฟอากาศต่อไป ในส่วนของผู้ค้าข้างสวนลุมพินี จะเห็นได้ว่าเราได้มีการจัดระเบียบผู้ค้า โดยย้ายผู้ค้าไปอยู่ตรงหัวมุมถนนสารสินตัดถนนราชดำริที่เราได้จัดเตรียมพื้นที่ไว้รองรับทั้งหมดแล้ว
ด้านนายขจร กล่าวว่า โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยพัฒนาเสถียรภาพ และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง และเป็นการเตรียมพร้อมรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจและหน่วยงานเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยเสริมสร้างทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้มีความสวยงาม ตลอดจนช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ ถนนสารสิน ซึ่งเป็นหนึ่งในถนนสำคัญด้านเศรษฐกิจ แวดล้อมด้วยสถานที่สำคัญด้านธุรกิจ และสถานที่สำคัญทางราชการ รวมถึงโรงพยาบาล และสวนลุมพินี สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่มีประชาชนเดินทางมาใช้พื้นที่จำนวนมาก ความสำเร็จในครั้งนี้จึงส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และภาพรวมของประเทศ
การรื้อถอนเสาไฟฟ้าจำนวนกว่า 80 ต้น ในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา ตลอดแนวถนนสารสิน ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร ตั้งแต่แยกถนนราชดำริ-แยกถนนวิทยุ ยังเป็นการระดมกำลังทีมงานเพื่อดำเนินการให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ถือเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย สามารถต่อยอดไปสู่การร่วมกันพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ผู้ว่าการ MEA กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินถนนสารสิน เป็นถนนที่เชื่อมต่อจาก ถนนราชดำริ ซึ่ง MEA ได้ดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว และหลังจากนี้ MEA ยังคงดำเนินการในพื้นที่ถนนหลังสวน อีกระยะทาง 1.3 กิโลเมตร ตั้งแต่แยกถนนเพลินจิต-แยกถนนสารสิน กำหนดรื้อถอนเสา-สายไฟฟ้า ในช่วงกลางปี 2567 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้เส้นทางสายไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมต่อกับถนนเพลินจิต ขณะที่เส้นทางถนนวิทยุ ยังมีแผนที่จะเริ่มดำเนินโครงการสายสื่อสารใต้ดินในปี 2567 ก่อนที่จะดำเนินการด้านสายไฟฟ้าใต้ดินในลำดับต่อไป
สำหรับแผนงานภาพรวมโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ MEA ในปัจจุบันมีระยะทางดำเนินโครงการทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร มีเป้าหมายก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 ขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จรวม 73.4 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญในถนนต่างๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ ขณะเดียวกันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 240.1 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก โครงการถนนพระราม 4 และโครงการก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ
นอกจากนี้ MEA ยังได้นำเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนไปใช้ในโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนและการทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง MEA’s Model อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเพิ่มการสะสมของตะกอนหลังเขื่อน ส่งผลให้ต้นกล้าและลูกไม้ประเภทไม้โกงกาง รวมถึงพรรณไม้น้ำต่างๆ ที่อยู่หลังแนวป้องกันมีปริมาณหนาแน่นขึ้น และช่วยให้สัตว์น้ำนานาพันธุ์และนกนานาชนิด มีแนวโน้มการอยู่รอดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างมาก ซึ่ง MEA ได้ร่วมวางแผนการดำเนินงานร่วมกับ กทม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อลดผลกระทบทั้งในด้านแผนงานการก่อสร้างที่ไม่ซ้ำซ้อน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ และร่วมหาแนวทางจำกัดผลกระทบด้านการจราจรให้เหลือน้อยที่สุด โดยทั้งหมดยังคงอยู่บนมาตรการความปลอดภัยที่ MEA กำหนด นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (มหาชน) หรือ NT และสำนักงาน กสทช. ร่วมนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการสายสื่อสารร่วมดำเนินภารกิจดังกล่าวโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับทั้งระบบไฟฟ้า และระบบโทรคมนาคมที่มั่นคง ตลอดจนสร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้กับเมืองมหานครต่อไป
ในการนี้มี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ผู้บริหารสำนักการโยธา ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน