เปลว สีเงิน
“พิธา” มีอิทธิพลต่อ “ตลาดหุ้น” เหมือนกันนะ
ข่าวว่า “รอด” เท่านั้นแหละ
ที่พะงาบๆ ดัชนี “เด้งพรวด” ขึ้นไป ๒๐ กว่าจุด!
สอดรับเสียง “พิธา..นายกฯ..พิธา..นายกฯ” กระหึ่มหน้าศาลรัฐธรรมนูญ บ่ายวาน (๒๔ มค.๖๗)
คำวินิจฉัย “คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ด้วย ๘-๑ เสียง มีว่า
“นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่ข้อเท็จจริง “ในทางไต่สวน” รับฟังได้ ว่า
“บริษัทไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”
นายพิธาจึงไม่ใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘(๓)
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑(๖)
สรุป นายพิธา กลับเข้าสภาตามเดิม!
เรื่องนี้ ขอบอกไว้ล่วงหน้าเลย
ถ้าอ่านคำวินิจฉัยแค่ ๘ บรรทัด โปรดอย่าแสดงความคิดเห็น โดยใช้แค่ความรู้สึก “ตรงใจ-ขัดใจ” วิพากษ์-วิจารณ์เป็นอันขาด
ต้องอ่านให้ครบความ แล้วท่านจะเป็น “ผู้เจริญแล้ว” ในเหตุและผล
เหตุและผลคือ “ดุลยธรรม” เมื่อใจเรารับรู้ถึงดุลยธรรมก็เท่ากับรับรู้ “ความเที่ยงตรง”
เพราะคำวินิจฉัยนี้ ชัดเจนทั้งด้านกฎหมายและด้านข้อเท็จจริงในความจริงที่เป็น
แรกๆได้ยินเขาตะโกน “พิธารอดโว้ย” ฉุนกึ๊กคำว่า “อะไรวะ” เกิดขึ้นในใจ แต่พออ่านคำวินิจฉัย จากอะไรวะ เปลี่ยนเป็น “เข้าใจแล้วจ้ะ” ทันที!
ผมสังเกตว่า ศาลฯ คงเดาใจ “ความรู้สึก” แต่ละด้านของคนรอฟังคำวินิจฉัยออก
ฉะนั้น ในคำวินิจฉัย ศาลฯ ท่านจึงวินิจฉัยแยกแยะ “ทีละประเด็น” ให้เห็นและให้เป็นบรรทัดฐานไว้เลย
ผมจะยกมาให้เข้าใจกันไปทีละประเด็น ต่อไปนี้
⦁ ประเด็นถือหุ้น “ครอบงำสื่อ”
ตามข้อโต้แย้งของพิธา ที่ว่าไม่มีอำนาจครอบงำกิจการบริษัทไอทีวี เพราะถือหุ้นแค่ ๔๒,๐๐๐ หุ้น คิดเป็นสัดส่วน ๐.๐๐๓๔๘% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า……..
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ห้ามเข้าถือหุ้นในกิจการต้องห้าม ดังนั้น ถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ไม่ว่าจะมีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการหรือไม่
ก็ถือว่า “ถือหุ้นแล้ว” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๘(๓)แล้ว
⦁ ถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก
ข้อโต้แย้งกรณีปรากฎชื่อนายพิธาเป็นผู้ครอบครองหุ้น เป็นการครอบครองแทนนายภาษิณ ก่อนโอนหุ้นให้นายภาษิณ นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า……..
นายพิธารับโอนหุ้นจากนายพงศ์ศักดิ์ตามคำสั่งศาล ซึ่งเป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดก
แต่นายพิธาก็มีฐานะทายาทที่มีสิทธิในหุ้นดังกล่าว จึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๐
⦁ กรณีโอนหุ้นให้ผู้อื่นถือแทน
กรณีที่อ้างไม่ทราบว่าหุ้นสามารถโอนได้เนื่องจากไม่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จนได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ว่าโอนได้ จึงมีการโอนหุ้นให้นายภาษิณ นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ………
เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายประการ จึงยังฟังไม่ได้ว่า นายพิธาโอนหุ้นดังกล่าวจริง
และฟังได้ว่า นายพิธายังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ในวันที่พรรคก้าวไกล ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส.ต่อกกต.
⦁ ไอทีวี ยังเป็นสื่อมวลชนหรือไม่?
การประกอบกิจการของบริษัทไอทีวี ยังเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า….
การพิจารณาว่านิติบุคคลใดเป็นสื่อมวลชนหรือไม่นั้น ไม่อาจพิจารณาแต่เพียงวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลที่จดแจ้งไว้อย่างเดียวเท่านั้น
แต่จะพิจารณาควบคู่กับพฤติการณ์ของนิติบุคคลด้วยว่ามีการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์นั้นหรือไม่
ข้อท็จจริงปรากฎว่า
บริษัทไอทีวี ระบุวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการบริษัททั้งหมด ๔๕ ข้อ ข้อ ๑๘,๔๐,๔๑,๔๓ เป็นกิจการ “สื่อมวลชน”
ต่อมา สปน.มีหนังสือลงวันที่ ๗ มี.ค.๕๐ แจ้ง “บอกเลิกสัญญา” บริษัทไอทีวี
และจนถึงปัจจุบัน ยังพบข้อมูลจาก “สำนักงานประกันสังคม” ว่า บริษัทไอทีวี หยุดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่ ๘ มีค.๕๐ จนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งเมื่อพิจารณาแบบนำส่งงบการเงิน ปี ๖๐-๖๕ ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” ระบุสินค้าและบริการว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากติดคดีความ”
มีรายได้จาก “ผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ” ขณะที่บริษัทย่อยก็ “หยุดดำเนินกิจการ” ไปด้วย
เมื่อพิจารณา ภงด.๕๐ ตั้งแต่ปี ๖๐-๖๕ ระบุรายได้โดยตรงจากการประกอบกิจการ เป็น ๐ บาท
ระบุรายได้อื่นว่า มาจาก “ดอกเบี้ยรับ”
กรณีเอกสารงบการเงินบริษัทในปี ๖๕ ที่มี ๒ ฉบับนั้น “คิมห์ สิริทวีชัย” (ผู้ลงนามการประชุมผู้ถือหุ้น ITV) เบิกความว่า
เอกสารงบการเงินทั้ง ๒ ฉบับ เป็น “ฉบับจริง”
แต่มีการยื่นเอกสารฉบับหลังแก้ไข “เพื่อยกเลิกเอกสารฉบับแรก” ที่ระบุประเภทสินค้าว่า “สื่อโฆษณา” เป็นไปตามคำแนะนำของ “กระทรวงพาณิชย์”
ว่า “การกรอกงบการเงินในกรณีที่ไม่ได้ประกอบกิจการให้ระบุตามวัตถุประสงค์บริษัท”
ส่วนกรณี “รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น” ที่มีผู้ถือหุ้นถามว่า “บริษัทยังประกอบกิจการเป็นสื่อมวลชนหรือไม่”
“คิมห์ สิริทวีชัย” บอกว่า
“การที่ตอบว่าบริษัทยังประกอบกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทนั้น ไม่ใช่การยืนยันว่าบริษัทยังดำเนินกิจการสื่อมวลชน”
นอกจากนี้ หาก “ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษาให้บริษัทชนะคดี จึงจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า “จะดำเนินกิจการต่อหรือไม่”
เมื่อพิจารณาประกอบการนำส่งงบการเงินของบริษัท แม้จากการไต่สวนฟังได้ว่า “บริษัทไอทีวี ตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการสื่อ”
แต่เมื่อ “งบการเงินตั้งแต่ปี ๖๐-๖๕” ปรากฎข้อมูลที่ตรงกันว่า “ไอทีวียุดกิจการ”
ตั้งแต่ “สปน.บอกเลิกสัญญาในปี ๒๕๕๐”
และบริษัท “ไม่มีสิทธิในคลื่นความถี่” ที่จะดำเนินการสถานีโทรทัศน์ได้อีกต่อไป
และเกิดคดีพิพาทในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งบริษัทไอทีวี “ไม่ได้ฟ้องร้องเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิสถานีทรทัศน์ให้” แต่อย่างใด
และเห็นว่า หากท้ายที่สุด “บริษัทไอทีวี” ชนะคดี
“ก็ไม่มีผลให้ได้รับคืนคลื่นความถี่และประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ได้อีก”
สรุปได้ว่า…….
บริษัทไอทีวี “ไม่มีสิทธิประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์” ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ ๗ มี.ค.๕๐
การที่บริษัทไอทีวียังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ ก็เพื่อ “การดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาล” เท่านั้น
นอกจากนี้ ไม่ปรากฎบริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน
แต่มีรายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ และการที่นายคิมเบิกความว่า
“หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้บริษัทไอทีวีชนะคดี จะมีการพิจารณาอีกครั้ง ระหว่างกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้น ว่าบริษัทจะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่”
ซึ่งอาจประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์บริษัทข้อใดข้อหนึ่งจาก ๔๕ ข้อ ก็ได้
ซึ่งเป็น “เรื่องในอนาคต”
จึงแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ “สปน.บอกเลิกสัญญา” จนถึงปัจจุบัน บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน
อีกทั้ง “ไม่ปรากฎหลักฐาน” ว่าบริษัทไอทีวี ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อมวลชนต่างๆ
รวมทั้งกิจการภาพยนต์ วิดีทัศน์ และสื่อโฆษณา
ดังนั้น ณ วันที่นายพิธาสมัครรับเลือกตั้งสส.บริษัทไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมหรือสื่อมวลชนใดๆ
การถือหุ้นดังกล่าว….
จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.ตามรับธรรมนุญมาตรา ๙๘(๓) อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า
“สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา “ไม่สิ้นสุดลง” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๑(๖)ประกอบมาตรา ๙๘(๓)
………………………..
สรุป ตามคำวินิจฉัยศาลฯ
-ไอทีวี เป็นหุ้นสื่อ
-ถือหุ้นเดียวก็ผิด
-รับโอนมรดกก็ผิด
แต่ที่พิธารอด ทั้งที่บริษัทไอทีวียังไม่ได้จดแจ้งเลิก
ตรงนี้ ต้องทำความเข้าใจให้ชัด
บริษัทไอทีวี.จุดประสงค์ทางธุรกิจ ไม่ได้มีเฉพาะทำสื่ออย่างเดียว หากแต่จดในการตั้งบริษัทไว้ ๔๕ ข้อ คือ ๔๕ แขนงธุรกิจ
แต่ตั้งแต่ ๗ มีค.๕๐
“สิทธิประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์” ของไอทีวี ไม่มีแล้ว
เพราะ “สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ” เจ้าของ “คลื่นความถี่” บอกเลิกสัญญา กับบริษัทไอทีวี.ไปแล้ว
บริษัทไอทีวี.กลับมาทำ “สถานีโทรทัศน์” อีกไม่ได้แล้ว
ทั้งกิจการสื่อด้านอื่น ไอทีวี.ก็ไม่มีใบอนุญาตเลย
ที่สำคัญ…….
ที่ฟ้องร้องอยู่ใน “ศาลปกครองสูงสุด” บริษัทไอทีวี ไม่ได้ฟ้องเรียกร้องให้สปน. “คืนสิทธิสถานีทรทัศน์” ให้แต่อย่างใด!
นั่นคือ ตั้งแต่ปี ๗ มีนาคม ๒๕๕๐ จนถึงขณะนี้ บริษัทไอทีวียังอยู่ แต่สิทธิประกอบธุรกิจสื่อไม่มีแล้ว
พูดชัดๆ หุ้นในบริษัทไอทีวี ตั้งแต่ ๗ มีค.๕๐ ไม่ใช่หุ้นสื่อแล้ว!
“พิธา” รอดตรงนี้
ต้องไปขอบคุณ “นายคิมห์ สิริทวีชัย” (ผู้ลงนามการประชุมผู้ถือหุ้น ITV) ที่มาเบิกความเขาซะ
ที่เขาเอาหนังสือ สปน.บอก “แจ้งเลิกสัญญากับบ.ไอทีวี.” มาแสดง
นำเอกสารหลักฐาน “หยุดกิจการ” จากสำนักงานประกันสังคมและแบบนำส่ง “งบการเงิน ปี ๖๐-๖๕” มาแสดง
ระบุประเภทธุรกิจ “สื่อโทรทัศน์” ว่าไม่ได้ดำเนินการเพราะ “ติดคดีความ” ผลประกอบการเป็น ๐ มาแสดง
ครับ…ก็ชอบด้วยนิติธรรมและดุลยธรรม
ยินดีด้วยกับ “พิธา” ที่ได้กลับเข้าสภาและเป็น “นายกฯว่าว” ของชาวส้มอีกครั้ง
แถมท้ายนิด เพื่อ “ความดีใจ” คงที่ของชาวส้ม
คดี “พิธา-ก้าวไกล” หาเสียงด้วยการให้ “ยกเลิกมาตรา ๑๑๒” และศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ๓๑ มค.นี้ นั้น
ทะแนะเปลว “ฟันธง” ให้เลยว่า รอด ๑๐๐%
๑.เพราะ ๑๑๒ เป็นเพียงมาตราหนึ่งของกฎหมาย
๒.ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามหาเสียงของกกต.
๓.เป็นเพียง “พูด” ยังไม่มีการลงมือ “ทำ” และ
๔.เมื่อไม่ยังทำ ความผิดจึงยังไม่เกิด
ก็หลับให้สบายและฝันถึงว่าวต่อไปนะ..พิธา!
เปลว สีเงิน
๒๕ มกราคม ๒๕๖๗
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์