นายกฯ ขอแรงงานไทยในอิสราเอล เร่งตัดสินใจว่าจะกลับหรือไม่กลับ ยืนยันรัฐบาลพร้อมทำอย่างเต็มความสามารถ เพื่อลำเลียงออกมาให้เร็วและปลอดภัยที่สุด

18 ตุลาคม 2566  เวลา 08.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (เร็วกว่าประเทศไทย 1 ชม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอลว่า

มีรายงานคนไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 30 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บและตัวประกันยังมีตัวเลขเท่าเดิม ขณะที่วานนี้ ตนได้พบปะกับนายอันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) และผู้นำหลายประเทศ ระหว่างงานเลี้ยงรับรองที่ประธานาธิบดีจี สี จิ้นผิง เป็นเจ้าภาพ

ซึ่งทุกคนแสดงความห่วงใยกับสถานการณ์ที่อิสราเอล และทุกคนมั่นใจว่าสถานการณ์จะเคลื่อนไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดี โดยตนเองได้แจ้งกับเลขาธิการยูเอ็นว่า ไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง แต่กลับเป็นผู้ที่สูญเสียมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ

ซึ่งเลขาฯ ยูเอ็นแสดงความตกใจ และแสดงความเห็นใจมายังประเทศไทย พร้อมแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ จะเดินทางไปอียิปต์และไปยังจุดที่มีความขัดแย้ง ซึ่งเข้าใจว่าไปกดดันให้มีการยุติโดยสันติภาพให้เร็วที่สุด แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์ก็ไม่ดีเท่าไร และแสดงความห่วงใยอย่างมาก

พร้อมเป็นกำลังใจให้ประเทศไทย ขณะเดียวกันผู้นำหลายประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็พยายามเดินทางเข้าไปเจรจา ล่าสุด นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เตรียมเข้าไป เช่นเดียวกับประเทศอียิปต์ก็มีส่วนร่วมในการช่วยเจรจา ซึ่งทุกประเทศเป็นห่วงสถานการณ์ เนื่องจากเห็นว่าไม่น่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือคนไทยกลับประเทศด้วยว่า ปัจจุบันสามารถนำตัวคนไทยออกมาได้เฉลี่ย 400 คนต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนการกลับไทยเพิ่มขึ้นวันละ 600 คน

ดังนั้น ความจำเป็นในการนำเครื่องบิน A380 ซึ่งสามารถรองรับได้เที่ยวละ 500-600 คน ก็น้อยลง เนื่องจากไม่สามารถนำคนมารวมกันไว้ได้เยอะขนาดนั้น เพราะสถานที่ไม่สามารถรองรับได้ โดยมั่นใจว่าจะสามารถรับคนไทยที่แจ้งความประสงค์เดินทางกลับได้หมดภายในสิ้นเดือนนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ

โดยที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ติดต่อกับท่าเรือ เพราะบางประเทศได้นำเรือสำราญไปรับคนออกมา เช่น สหรัฐฯ ไปรับออกมา 1,500 – 2,000 คน ออกมาจากอิสราเอลแล้วไปจอดไซปรัส แต่ขณะนี้ท่าเรือปิดแล้ว

หากไทยขอไปอีกอาจจะลำบาก มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น อีกทั้งการรับคนออกมาจากพื้นที่เสี่ยง แล้วมารวบรวมไว้เป็นพันคนไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องโลจิสติกส์เป็นเรื่องที่ลำบากใจมาก

นายกรัฐมนตรียอมรับว่าเรื่องความสับสนทางข้อมูลก็มีประเด็น เพราะก่อนหน้านี้เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย แจ้งว่าสามารถอพยพคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงได้ถึง 99% ซึ่งความจริงแล้วยังไม่ใช่

เพราะจากเที่ยวบินล่าสุดมีคนไทยที่แจ้งความประสงค์จะกลับ ยังไม่สามารถออกจากพื้นที่นั้นได้หลายสิบคน ทำให้คนที่เดินทางกลับลดน้อยลง จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และหากสถานการณ์การสู้รบของทั้งสองฝ่ายรุนแรงขึ้น จะทำให้เกิดความสูญเสียมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องนำคนไทยออกมาให้ได้มากที่สุด

โดยจะต้องประสานด้านโลจิสติกส์ให้ดีว่าหากนำตัวออกจากพื้นที่เสี่ยงได้แล้วจะทำอย่างไร และขณะนี้ฝ่ายความมั่นคง โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็พยายามติดต่อประสานเพื่อนำคนไทยออกมาให้ได้เร็ว และปลอดภัยที่สุด แต่การลำเลียงคนออกจากพื้นที่สีแดงไม่ใช่ทำได้ตลอดเวลา ต้องดูเรื่องเวลาด้วย ยืนยันว่า รัฐบาลพยายามเจรจาและดำเนินการหลาย ๆ อย่าง

“ผมอยากให้คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ เร่งตัดสินใจว่าจะกลับหรือไม่กลับ เพราะความเสี่ยงอยู่ที่ตัวท่าน ส่วนหน้าที่ของรัฐบาลคือหากท่านแสดงความจำนงว่าจะกลับ เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องทำอย่างเต็มความสามารถ เพื่อลำเลียงคนออกมาให้เร็วและปลอดภัยที่สุด” นายกรัฐมนตรีย้ำ

Written By
More from pp
“พล.ต.อ.อดุลย์” ปธ.กมธ.แรงงาน วุฒิสภา มอบคณะอนุกรรมาธิการจัดหางานฯ ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน เยี่ยมชมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ ตามแนวพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา มอบหมายให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ประธานคณะอนุกรรมาธิการการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงานพร้อมคณะ
Read More
0 replies on “นายกฯ ขอแรงงานไทยในอิสราเอล เร่งตัดสินใจว่าจะกลับหรือไม่กลับ ยืนยันรัฐบาลพร้อมทำอย่างเต็มความสามารถ เพื่อลำเลียงออกมาให้เร็วและปลอดภัยที่สุด”