ผักกาดหอม
ใกล้แล้ว….
นายกฯ เศรษฐา ใกล้เป็นปลาหมอตายเพราะปากเข้าไปทุกที
วันก่อนพูดเสียงดังฟังชัด ได้ยินเต็มสองรูหู ให้ประชาชนที่อยากได้เงินดิจิทัล ๑ หมื่นบาท ส่งเสียงดังๆ ไปยังคนที่คัดค้าน
“ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ ถ้าชอบก็ขอให้พูดบ้าง ให้เปล่งเสียงออกมาบ้าง”
นี่มันเสี้ยมประชาชนให้ทะเลาะกันชัดๆ
วานนี้ (๑๖ ตุลาคม) นายกฯ เศรษฐา แปลไทยเป็นไทยให้ฟังกันอีกรอบ
“ไม่ได้เป็นการแบ่งแยก ไม่ได้เป็นการปลุกระดม แต่ให้ออกมาบอกกับผม เพราะรับฟังเสียงทุกเสียง”
ถามม้าตอบช้าง
หรือไม่ก็ถามไม่ตรงคำตอบ
จะบอกว่าเผลอพูดก็ไม่ได้ เพราะข้อความเดียวกันนี้ยังไปปรากฏอยู่ในบัญชีทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
“อย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้”
ทั้งพูดทั้งเขียนคือข้อความเดียวกัน
เด็ก ป.๑ อ่านออก ก็แปลความได้ว่า ไม่มีอะไรต่างกันเลย
มันคือเจตนาที่จะสื่อแบบนั้น
นี่คือตรรกะเดียวกับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เลยครับ
“ผมตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เราต้องดูแลเป็นพิเศษ
แต่เราต้องดูแลคนทั้งประเทศด้วย
แต่เวลาจำกัด ต้องเอาเวลาไปจังหวัดที่เราได้รับความไว้วางใจมากเป็นพิเศษ
จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อยต้องเอาไว้ทีหลัง ไม่ใช่ไม่ไป คิวต้องเรียงอย่างนี้ ผมเป็นคนพูดตรงไปตรงมา”
ตรรกะแบบนี้นี่แหละครับที่ทำให้ประชาชนต้องทะเลาะกัน
ใช้ความโลภของผู้คนปลุกระดมเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ถ้าจะเริ่มต้นแบบนี้กันจริงๆ นึกไม่ออกเลยครับว่าหลังจากนี้ การต่อต้านระบอบทักษิณรอบใหม่จะรุนแรงแค่ไหน
จุดจบของ “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” มีให้เห็นแล้ว หาก “เศรษฐา” จะเดินตามรอย ก็เตรียมตัวครับ จะได้รับสิทธิ์นั้นแน่ๆ
ตลอดหลายเดือนมานี้ คนที่ออกมาเตือนรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลหัวละหมื่นบาท ล้วนเตือนด้วยเหตุด้วยผล
แทบไม่มีครับ ประเภทด่าส่งเดชตีหัวเข้าบ้าน อย่างที่พรรคเพื่อไทยถนัดตอนเป็นฝ่ายค้าน
นักวิชาการ นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ อดีตกรรมการในองค์กรอิสระ สส. สว. เกือบทั้งหมดเตือนอย่างมีเหตุมีผล
ชี้แนะว่ารัฐบาลควรหรือไม่ควรทำอะไร อย่างไร
ว่ากันตรงๆ คนที่อยากได้ด้วยซ้ำ ที่ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น นอกจากอะไรก็ยังไม่รู้ แต่มีมูลค่า ๑ หมื่นบาท
แล้วนายกฯ เศรษฐาพูดได้อย่างไรว่า พวกค้านไม่มีเหตุผล
ทำเป็นเล่นไปโครงการนี้อาจไม่ได้เกิด!
อาจซ้ำรอย พ.ร.บ.กู้เงิน ๒ ล้านล้าน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ถูกตีตกไปเสียก่อน
รอดูความชัดเจนเรื่องวิธีการแจก เรื่องเอาเงินมาจากไหน จากนั้นจะได้รู้ครับว่านโยบายนี้จะได้ไปต่อหรือไม่
มีคนไปร้อง ป.ป.ช.อย่างแน่นอน
เห็นหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ฮึ่มๆ อยู่
ก็ไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะโดนข้อหาอะไรบ้าง
ลุ้นระทึกจริงๆ!
คนที่เฝ้ารอนโยบายนี้ ก็ควรเข้าใจในข้อเท็จจริง งบประมาณ ๕.๖ แสนล้านคือเม็ดเงินก้อนมหาศาล หากผิดพลาด คือประเทศฉิบหายครับ
แล้วประชาชนก็จะฉิบหายกันหมด
หยุดเสียทีกับการเอานโยบายแจกเงินดิจิทัล ไปเทียบกับนโยบายคนละครึ่งของรัฐบาลลุงตู่
แล้วบอกว่า…ลุงตู่ แจกได้ไม่ผิด ที “เศรษฐา” แจกบ้างกลับมีปัญหา
อย่าหน้ามืดครับ มันคนละกรณีกัน วิธีการต่างกัน บนสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และคนละบริบท
รัฐบาลลุงตู่ทำทุกอย่างภายใต้กฎหมาย อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ในสถานการณ์ที่โควิด-๑๙ ระบาดไปทั่วโลก
แต่รัฐบาลเศรษฐา ดันมาแจกในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น แถมยังมีทีท่าว่าจะหาช่องหลบเลี่ยงกฎหมายอีกต่างหาก
ด้วยการอ้างว่าแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่แจกเพื่อพยุงค่าครองชีพของประชาชน
เป้าหมายแปลงเงินบาทเป็นเงินดิจิทัล ก็เป็นอีกคำถามว่าเพื่ออะไร ทำไมต้องทำให้ยุ่งยากซับซ้อนและเสียงบประมาณแผ่นดินเพิ่มเติม
เรื่องที่มาของเงิน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเอามาจากไหน
เท่าที่ฟังจากนายกฯ น้อย “หมอมิ้ง-พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ยังเป็นแนวทาง ไร้ข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น
แนวทางแรก ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนหนึ่งก็ต้องไปหาทางเกลี่ยงบประมาณบางโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่หากยังไม่จำเป็นก็ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งขณะนี้รัฐบาลสามารถทำได้บางส่วน โดยเลื่อนการจัดซื้อโครงการขนาดใหญ่ และจัดงบค่าบำรุงรักษาให้แทน
แนวทางสอง การใช้กลไกตามมาตรา ๒๘ หรือการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจ่ายเงินให้ไปก่อน โดยที่รัฐบาลตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมแผนการคืนเงิน เช่น ถ้าใช้เงินไม่เกิน ๒-๓ แสนล้านบาท ก็ตั้งงบใช้คืนปีละประมาณ ๑ แสนล้านบาท ได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน ๓ ปี
แนวทางที่สาม การกู้เงินโดยตรง และจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะต่อ GDP เนื่องจาก GDP จะขยายตัวมากขึ้น
ถ้าเอาตามนี้งูกินหางครับ
ไม่ว่าทางไหนประชาชนต้องแบกหนี้ขี้แตกทั้งนั้น
คำถามคือ การจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ที่จะเลื่อนออกไปนั้น ใช่งบลงทุนใช่หรือไม่
ถ้าใช่ ไปอ่านหลักเกณฑ์การจัดตั้งงบประมาณ มาตรา ๒๐ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ แล้วหรือยัง
งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณรายจ่ายประจําปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจําปีนั้น
รัฐบาลจะเล่นแร่แปรธาตุกับงบประมาณโดยไม่สนใจกฎหมายไม่ได้
ระวังจะติดคุกกันระนาว!