15 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมรับแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล จำนวน 90 คน ณ โรงแรมเอสซี ปาร์ค ถนนประดิษฐ์มนูธรรม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ผมพร้อมด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้มารับแรงงานไทย จำนวน 90 คน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล และเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว โดยแรงงานไทยกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานชุดที่ 3 ที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้กับสถานทูตฯ และได้เดินทางกลับจากอิสราเอลโดยสายการบิน Fly Dubai มาถึงสนามบินอู่ตะเภา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ก่อนที่จะมาพบญาติ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์พร้อมประสานญาติอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนา
“กระทรวงแรงงานเชื่อมั่นว่า พวกเราจะสามารถพาแรงงานไทยที่เหลือทั้งหมดกลับมาได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี มีเพื่อนๆ พี่น้องแรงงานไทยบางส่วนแจ้งความจำนงว่า ขออยู่ทำงานที่อิสราเอลต่อ ในส่วนนี้หากเกิดภาวะวิกฤตจริงๆ คงต้องพากลับมาทั้งหมด ส่วนการกลับไปทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง กระทรวงแรงงานได้แจ้งท่านนายกไปแล้วว่า ในส่วนผู้ที่ยังไม่หมดสัญญากระทรวงแรงงาน จะพยายามติดต่องานให้
จึงขอให้สบายใจได้ว่า กระทรวงแรงงานจะทำหน้าที่ประสานงานให้และเมื่อเหตุการณ์สงบจะพาทุกท่านกลับไปทำงาน หากมีความประสงค์ที่จะกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง หรือท่านที่ไม่ประสงค์กลับไป สามารถแจ้งความประสงค์มายังกระทรวงแรงงาน เพื่อเดินทางไปทำงานยังประเทศอื่นๆ หรือหากมีความประสงค์จะทำงานในประเทศไทย เราก็พร้อมหางานให้ โดยขอให้แจ้งมาที่กรมการจัดหางาน และขอให้ทุกท่านเก็บตั๋วเดินทางในวันนี้ไว้เพื่อเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางกับกระทรวงการต่างประเทศ
ซึ่งทางรัฐบาลจะดูแลรับผิดชอบในการเดินทางกลับมายังประเทศไทย และขอให้ทุกท่านช่วยสื่อสารไปยังเพื่อนๆ แรงงานไทยที่อยู่ในอิสราเอลที่ยังไม่ได้เดินทางกลับมา ว่าสามารถแจ้งมายังกระทรวงแรงงานได้” นายพิพัฒน์ฯ กล่าว
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และอยู่ในความคุ้มครอง เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ทางกระทรวงแรงงานมีการดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ทันที รายละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสงเคราะห์ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างจากเหตุสงคราม หรือ กรณีทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์ คนละ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ สงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท
นอกจากนี้ยังได้รับสวัสดิการตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล (ประกันการทำงาน + นายจ้างจ่าย) กรณีบาดเจ็บ/ พิการตามการรับรองของแพทย์ แบ่งเป็น บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียว ประมาณ 1,440,000 บาท บาดเจ็บเกิน 20% ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย กรณีเสียชีวิตภรรยาและบุตร ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ (ภรรยาเป็นเงิน 34,560 บาทต่อเดือน /บุตร เป็นเงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน)
ส่วนความคืบหน้าของสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล จากรายงานของอัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ล่าสุดได้รับรายงานว่า มีแรงงานไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน จำนวน 17 ราย เสียชีวิต จำนวน 28 ราย (รอยืนยัน) บาดเจ็บ 16 ราย (ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ 1 ราย) กรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์การเดินทางกับทางสถานทูตฯ จำนวน 7,540 ราย จำแนกเป็น ผู้ที่ขอเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 7,446 ราย และ แจ้งความประสงค์ไม่ขอกลับ จำนวน 94 ราย และขณะนี้ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว จำนวน 187 ราย
โดยบรรยากาศภายใน โรงแรมเอสซี ปาร์ค นั้น แรงงานไทย จำนวน 90 คน ได้ร่วมพบปะกับญาติที่มารอต้อนรับ อย่างอบอุ่น