19 สิงหาคม 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภายใต้แนวคิด BCG โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ เกิดคามมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และเป็นไปตามเป้าหมายกรุงเทพฯ คือโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่กำหนดไว้ในการประชุมเอเปค 2022
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงเดือนมิถุนายน 2566คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพ จำนวน 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาทแล้ว
โดยปัจจุบันบีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ระดับโลกหลายรายแล้ว อาทิ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด และบริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ จำกัด ผู้ผลิตพอลิเมอร์ ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ชนิดโพลีแลคติด แอซิค (Polylactic Acid: PLA) บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS (Polybutylene Succinate)
บริษัท ดูปองท์ นิวทริชั่น จำกัด ผู้ผลิตไมโครคริสตัลไลน์เซลลูโลสสำหรับผลิตฟิล์มเคลือบอาหารที่สามารถย่อยสลายได้และบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET (Food Grade) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท Alpla ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของยุโรป
และล่าสุด บริษัท ไทยโพลิเอทิลีน จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ร่วมทุนกับ Braskem ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลก จัดตั้งโรงงานผลิตไบโอ-เอทิลีน สำหรับผลิตเม็ดพลาสติกไบโอ-พอลิเอทิลีน (Green-Polyethylene) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
“ส่งผลให้อุตสาหกรรมไบโอพลาสติกไทย เติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกอันดับ 2 ของโลกแล้ว และก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกได้ในไม่ช้า สะท้อนความสำเร็จของพล.อ.ประยุทธ์ ในการพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”น.ส.ทิพานัน กล่าว