30 กรกฎาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเหตุโกดังเก็บพลุ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เกิดเหตุระเบิด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 121 ราย และเสียชีวิต 11 ราย ว่า
ทันทีที่ทราบข่าว ตนขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต และห่วงใยกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพร้อมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เบื้องต้นได้รับรายงานจากพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนราธิวาส (สสค.นราธิวาส) และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 9 (ศปข.9) ว่า
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.00 น. เกิดเหตุระเบิดบริเวณโกดังเก็บพลุ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ ในพื้นที่บ้านมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้ตลาดมูโนะและบ้านเรือนประชาชนโดยรอบได้รับความเสียหาย
ขณะนี้พนักงานตรวจความปลอดภัย กำลังเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนจากการเกิดเหตุ พร้อมถอดบทเรียนจากเหตุดังกล่าวหวั่นเกิดเหตุซ้ำในสถานประกอบกิจการในลักษณะเดียวกันนี้
อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้กำชับพนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.นราธิวาส และ ศปข.9 สอบหาสาเหตุ พร้อมเชิญนายจ้าง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยเร็ว
เพื่อตรวจสอบว่านายจ้างมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554, กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 ,
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564 , กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ.2564 หรือไม่
หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ตนขอความร่วมมือให้นายจ้าง และลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยจากการทำงาน